รู้จัก "ธนาคารน้ำใต้ดิน" โปรเจ็คใหม่ กทม.เป้าหมาย 4 จุดแก้น้ำท่วมกรุงเทพฯ
ทำความรู้จัก "Water Bank" ธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบป้องกันน้ำท่วมชุดใหม่ กับเป้าหมายแก้จุดเสี่ยงน้ำท่วม 4 แห่งในกรุงเทพฯ
ถึงแม้สถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ ยังอยู่ในภาวะเฝ้าระวังจากมวลน้ำเหนือ ที่ปล่อยมาจากเขื่อนสายหลักภาคกลาง แต่ขณะนี้กทม.ยังตั้งการ์ดสูงเตรียมพร้อมระบบป้องกัน "น้ำท่วม" ทั้งโครงสร้างการระบายน้ำ ป้องกันไม่ให้เมืองหลวงกลับไปซ้ำรอยมหาอุทกภัยปี 2554 อีกครั้ง
นอกเหนือจากเครือข่ายป้องกันน้ำท่วมของ กทม.ตั้งแต่ แก้มลิง คลอง อาคารรับน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ ท่อเร่งระบายน้ำ สถานีสูบน้ำบ่อสูบน้ำ ที่ผ่านมายังได้เร่งพัฒนาระบบใหม่ที่เรียกว่า "ธนาคารน้ำใต้ดิน" หรือ "Water Bank" ให้เป็นอีกเครื่องมือระบบหลักป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่โซนในของกรุงเทพฯ
ระบบ "วิศวกรรมเชิงโครงสร้าง" เป็นหัวใจหลักของการระบายน้ำของ กทม. ตั้งแต่การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ การสร้างท่อเร่งระบายน้ำ โดยเฉพาะการสร้าง "พื้นที่รองรับน้ำ" ให้เป็นธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นที่กักเก็บน้ำขนาดใหญ่ใต้ดิน เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังบนถนนให้ไหลลงท่อระบายน้ำได้เร็วขึ้น
สำหรับระบบการทำงานของ "ธนาคารน้ำใต้ดิน" จะทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมขังบนถนนเวลานาน โดยน้ำจะไหลลงที่กักเก็บน้ำใต้ดินไว้ก่อน โดยเมื่อไม่มีฝนตกลงมาและน้ำในคลองอยู่ในระดับต่ำ กทม.จะสูบน้ำออกจาก "Water Bank" เพื่อระบายออกไปสู่คลองตามระบบ
อ่านที่เกี่ยวข้อง : ผ่างบ กทม. 7.9 หมื่นล้าน เข็นบิ๊กโปรเจค-แก้น้ำท่วมปี 65
ที่ผ่านมา กทม.มีแผนก่อสร้าง "ธนาคารน้ำใต้ดิน" ในจุดเสี่ยงน้ำท่วม 4 แห่งของกรุงเทพฯ โดยก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2561 จำนวน 2 แห่ง ดังนี้
1.ธนาคารน้ำใต้ดิน บริเวณใต้วงเวียนบางเขน งบประมาณก่อสร้างรวม 24.8 ล้านบาท กักเก็บน้ำได้ 1,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ระบายน้ำออกสู่ 2 คลองทางทิศเหนือและทิศใต้ของวงเวียนบางเขน ที่คลองรางอ้อรางแก้ว และคลองสอง โดยในธนาคารน้ำจุดนี้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมบริเวณวงเวียนบางเขน จากสถิติปี 2559 มีน้ำท่วม 13 ครั้ง จากนั้นในปี 2561 เริ่มใช้งานน้ำท่วมลดลงมาที่ 2 ครั้ง และในปี 2562 มีน้ำท่วม 1 ครั้ง แต่ในปี 2563 ไม่มีรายงานน้ำท่วมขัง
2.ธนาคารน้ำใต้ดิน บริเวณใต้ถนนอโศกดินแดง ปากซอยสุทธิพร 2 งบประมาณก่อสร้างรวม 34.1 ล้านบาท กักเก็บน้ำได้ 1,000 ลบ.ม. ระบายน้ำออกไปยังคลองโบสถ์แม่พระ ไหลลงอุโมงค์ยักษ์บึงมักกะสัน แก้ไขจุดอ่อนน้ำท่วมพื้นที่ดินแดง มีสถิติปี 2560 มีน้ำท่วม 15 ครั้ง ต่อมาในปี 2561 เริ่มใช้งานระบบธนาคารน้ำ ทำให้น้ำท่วมลดลงมาที่ 6 ครั้ง ส่วนในปี 2562 น้ำท่วมขัง 1 ครั้ง และในปี 2563 ไม่มีรายงานน้ำท่วมขังเช่นกัน
อ่านที่เกี่ยวข้อง : เช็ค 12 จุดเสี่ยง 'น้ำท่วม' เดิมพัน 8 เขต 'กทม.' ฝั่งธนฯ-พระนคร
สำหรับแผนในเฟสต่อไป กทม.จะเร่งสร้าง "ธนาคารน้ำใต้ดิน" เพิ่มอีก 2 แห่ง ตั้งเป้าแล้วเสร็จในปี 2564 ประกอบด้วย
1.ธนาคารน้ำใต้ดิน บริเวณแยกถนนศรีนครินทร์ ตัดกับถนนกรุงเทพกรีฑา กักเก็บน้ำได้ 10,000 ลบ.ม. เป้าหมายแก้น้ำท่วมบริเวณศรีนครินทร์
2.ธนาคารน้ำใต้ดิน บริเวณสวนสาธารณะถนนรัชดาภิเษก ตัดกับถนนวิภาวดีรังสิต กักเก็บน้ำได้ 10,000 ลบ.ม. เป้าหมายแก้น้ำท่วมแยกรัชโยธิน และแยกรัชดาลาดพร้าว
แผนก่อสร้าง "ธนาคารน้ำใต้ดิน" ที่วางไว้แล้วเสร็จทั้งหมด 4 จุด จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือหลักแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ เชื่อมโยงการทำงานเครือข่ายป้องกันน้ำท่วม กทม.ทั้งระบบ เพราะจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยน้ำท่วมปี 2554 ยังไม่มีหน่วยงานใดคาดการณ์ได้ว่าจะกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่.
อ่านที่เกี่ยวข้อง : เจาะลึก "อุโมงค์ยักษ์" ระบายน้ำ แผนสร้าง 6 จุด วงเงิน 2.6 หมื่นล้าน!