ภาพเด็กที่ไม่เด็ก! "สิทธิเด็ก" อยู่ไหน? เมื่อมี Digital Footprint บันทึก
เมื่อพ่อแม่โพสต์รูปลูกบน "โซเชียลมีเดีย" รู้หรือไม่ว่าสร้างผลกระทบต่อ "สิทธิเด็ก" มากกว่าที่คิด เพราะสิ่งที่เรียกว่า Digital footprint อาจทำร้ายพวกเขาในอนาคต
เด็กคืออนาคตของชาติ ดังนั้นคุณภาพชีวิตของเด็กคนหนึ่ง จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ไม่ใช่ว่าอะไรก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึง "สิทธิเด็ก" เป็นหลัก โดยเฉพาะยุคปัจจุบันนี้ที่โลกแห่งความเป็นจริงและโลกออนไลน์ถูกเชื่อมโยงเข้าหากันและผสมกลมกลืนไปหมด อีกทั้งอิทธิพลของโซเชียลมีเดียก็กลายเป็นบรรทัดฐานหนึ่งในสังคม
การถ่ายภาพเด็ก หรือลงภาพบุตรหลานบนโซเชียลมีเดีย จึงเป็นประเด็นสำคัญที่เราทุกคนต้องตระหนักมากขึ้น เพราะสิ่งที่เรียกว่า Digital footprint อาจกลายเป็นคมดาบที่ทำร้ายตัวเด็กในอนาคตได้
- รอยเท้าดิจิทัล (Digital footprint)
เคยเป็นไหม? เวลาเราอยากรู้จักใครสักคน เราจะเริ่มจากการนำชื่อของเขามาค้นหาในอินเทอร์เน็ต ถ้าโชคดีเจอชื่อใน Facebook เราก็ตามไปส่องต่อ เพื่อดูว่าเขามีไลฟ์สไตล์แบบไหน ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร แล้วเรากับเขามีเพื่อนร่วมกันเป็นใครบ้าง?
เมื่อโลกจริงกับโลกออนไลน์เชื่อมโยงกัน สิ่งที่เราบอกและแสดงออกในโลกออนไลน์ที่บอกไปข้างต้นนี้ คือหลักฐานที่เรียกว่า Digital footprint ซึ่งหมายถึงรอยเท้าในโลกดิจิทัล อันสะท้อนถึงพฤติกรรมจริงๆ ของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นด้านดีหรือด้านร้าย
คู่มือพลเมืองดิจิทัล โดยสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้นิยามว่า ร่องรอยดิจิทัล (Digital footprint) คือ ร่องรอยข้อมูลที่เราทิ้งไว้ขณะใช้อินเทอร์เน็ต เช่น ข้อความที่เราโพสต์, เว็บไซต์ที่เราเข้าไปช้อปปิ้ง, ข่าวที่เราอ่าน รวมไปถึงบริการออนไลน์ที่เราใช้
พูดกันตามหลักการ ร่องรอยดิจิทัลนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท อย่างแรกคือร่องรอยดิจิทัลแบบแพสซีฟ (Passive digital footprint) หมายถึงร่องรอยที่เราทิ้งไว้โดยไม่ตั้งใจ แต่คนอื่นกลับดันมาเห็น ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเยี่ยมชมเว็บไซต์ เว็บเซิร์ฟเวอร์จะล็อกไอพี (IP address) ซึ่งสามารถระบุผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและที่อยู่ หรือประวัติการค้นหาของคุณที่บริการเสิร์ชเอ็นจิ้นเก็บเอาไว้
อย่างที่สองคือ ร่องรอยแบบแอ็กทีฟ (Active digital footprint) ซึ่งหมายถึงร่องรอยที่เราทิ้งไว้โดยตั้งใจ ตัวอย่างเช่น การโพสต์ถึงความรู้สึก, การส่งอีเมลหาเพื่อน ซึ่งถูกเห็นและบันทึกไว้ (แบบที่เราตามเข้าไปส่องนั่นเอง) ในกรณีเดียวกันกับที่พ่อแม่โพสต์รูปลูกในอิริยาบถน่ารักๆ ซึ่งในอีก 40 ปี ข้างหน้าก็ยังสามารถค้นหาภาพดังกล่าวเจอ
โดยสรุป Digital Footprint จึงหมายถึงพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของเรา การโพสต์ภาพกิจกรรม การเปิดตัวแฟน การบ่นสิ่งรอบๆ ตัว ฯลฯ ดังนั้น หากไม่อยากทิ้งร่องรอยที่อาจส่งผลเสียต่ออนาคตเอาไว้ จึงต้องคิดให้รอบคอบก่อนจะโพสต์อะไรบนโซเชียล เพราะร่องรอยเหล่านั้นไม่เพียงแต่จะบอกได้ว่าเราทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันยังถูกใช้เป็นหลักฐานในโลกออฟไลน์ ซึ่งไม่เคยถูกแยกออกจากกัน
- ความทุกข์จากการ "ไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจ" ในร่างกายตัวเอง
“ทุกคนล้วนเคยเห็นอวัยวะเพศของผมกันหมด ผมรู้สึกว่ามันคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผม” สเปนเซอร์ เอลเดน (Spencer Elden) วัย 30 ปี กล่าวกับสำนักข่าว BBC หลังจากที่เขายื่นฟ้องร้องต่อวงร็อค "เนอร์วานา" (Nirvana) กรณีที่ทางวงได้เอาภาพเขาขณะเป็นทารกเป็นภาพหน้าปกอัลบั้มเนเวอร์มายด์ (Nevermind)
ภาพอัลบั้มปกเนเวอร์มายด์ ที่เป็นรูปของ "สเปนเซอร์ เอลเดน" อยู่บนปก ในวัยทารกที่กำลังเปลือยเปล่าในสระว่ายน้ำ กลายเป็นที่รู้จักและมียอดขายมากกว่า 30 ล้านชุดทั่วโลก
แต่ความโด่งดังที่วงเนอร์วานาได้รับนั้น อีกด้านหนึ่งมันต้องแลกกับการที่คนทั้งโลกได้เห็นภาพเปลือยสเปนเซอร์ เอลเดน ในวัยทารก ซึ่งตัวเขาในวัย 30 ปี ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่พอใจ
เหตุผลหลักๆ ที่ทนายยื่นฟ้องคือ การที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากพ่อแม่สำหรับการนำเอาภาพของเขาไปเป็นหน้าปกอัลบั้ม และเหตุผลใหญ่อีกข้อก็คือ เขาได้รับผลกระทบทางจิตใจ จากการถูกบันทึกลงบน Digital Footprint
นอกจากกรณีของหน้าปกอัลบั้มวงเนอร์วานาแล้ว ก่อนหน้านี้ในปี 2016 มีกรณีที่เด็กวัย18 ปีในออสเตรีย ฟ้องร้องศาลต่อพ่อแม่ของเธอ เนื่องจากพ่อแม่โพสต์ภาพวัยเด็กของเธอลงบนเฟสบุ๊คโดยไม่ได้รับความยินยอม ซึ่งในเฟสบุ๊คของพ่อมีเพื่อนประมาณ 700 คน
“พวกเขาโพสต์รูปฉันทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นตอนอยู่ในห้องน้ำ หรือนอนอยู่บนแปล และเผยแพร่สู่สาธารณะ” หญิงผู้ฟ้องร้องกล่าวกับสำนักข่าว The Local Austria
อ. พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเรื่องเตือนโพสต์รูปลูกลงโซเชียลฯ อาจเกิดผลเสียที่คาดไม่ถึง ระบุว่า
หลายครั้งที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กมีการโพสต์รูปลูกลงโซเชียลฯ แล้วนำไปสู่การสร้างตัวตนให้เด็ก โดยเป็นไปในแบบที่ตนเองต้องการ ทำให้ในชีวิตจริง เด็กหลายคนต้องดูดีหรือดูน่ารักตลอดเวลาเมื่ออยู่ต่อหน้าสาธารณชน
กรณีแบบนี้อาจทำให้เด็กสูญเสียความเป็นตัวเองและสูญเสียความเป็นเด็ก เนื่องจากผู้ปกครองบางรายมีการจัดการกับเด็กที่ฝืนธรรมชาติ เพื่อให้ภาพที่ออกมาดูดี ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กบางคนอาจต้องการวิ่งเล่น ซุกซนตามวัย ร้องไห้ งอแง จึงอาจกลายเป็นปัญหาตามมาด้านการปิดกั้นพัฒนาการของเด็ก สืบเนื่องมาจากปัญหาการดำเนินชีวิตของเด็กที่ไม่เป็นธรรมชาติ
นอกจากนี้พ่อแม่บางท่านโพสต์รูปลูกที่เป็นปัญหาต่อสภาพจิตใจเด็กในอนาคต เช่น รูปเด็กเปลือย เมื่ออนาคตเด็กโตขึ้น อาจถูกขุดคุ้ยภาพในอดีตที่พ่อแม่เคยโพสต์ไว้มาล้อเลียน และส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กเมื่อโตขึ้นได้ เป็นต้น
- "สิทธิเด็ก" อยู่ตรงไหน? ในยุคที่กล้องทำหน้าที่แทนตา
ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเด็ก และการโพสต์รูปลงบนโซเชียลถูกให้ความสำคัญในหลายๆ ประเทศ
ฝรั่งเศส หากพ่อแม่โพสต์ข้อมูลส่วนตัวหรือรูปถ่ายของลูก โดยไม่ได้รับอนุญาตต้องรับโทษทั้งจำและปรับฐานละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลในโลกออนไลน์
ในสหภาพยุโรป บังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation : GDPR) รวมถึง ‘รูปภาพ’ นับเป็นหนึ่งในข้อมูลส่วนบุคคลที่ใครจะนำมาเผยแพร่โดยไม่ขออนุญาตไม่ได้
นอกจากนี้ GDPR ยังมีหลักที่ว่าด้วยเรื่อง ‘สิทธิการถูกลืม’ (Right to be forgotten) กล่าวคือเป็นสิทธิของผู้ให้ข้อมูลในการสั่งให้ลบข้อมูลส่วนตัวที่เผยแพร่ไปในโลกออนไลน์ หากไม่ต้องการให้ข้อมูลดังกล่าวปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์ต่อไป
สหรัฐอเมริกา มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กและเยาวชน (The Children’s Online Privacy Protection Act of 1998) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘COPPA’ ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2000 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี
สำหรับประเทศไทยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ถูกบัญญัติใน พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
รวมถึง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ที่นิยามครอบคลุมเช่นเดียวกับ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ควรถึงเวลาปรับปรุงใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์และยุคสมัยมากขึ้น
-----------------------------------
อ้างอิง :