"ศบค." เคาะ 4 จังหวัด นำร่องท่องเที่ยว "ดื่มสุรา" ได้ 1 พ.ย. นี้
"ศบค." เคาะ 4 จังหวัด พื้นที่สีฟ้า นำร่องท่องเที่ยว กทม. กระบี่ ภูเก็ต พังงา "ดื่มสุรา" ได้ เริ่ม 1 พ.ย. นี้ พร้อมปรับระดับสี พื้นที่ควบคุมและเข้มงวดสุงสุด เหลือ 7 จังหวัด
วันนี้ (29 ต.ค. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล “นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. สรุปสาระสำคัญของ ที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ โดยมีนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธานในวันนี้ จากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,968 ราย เสียชีวิต 64 ราย เป็นสาเหตุที่ดำเนินการเปิดประเทศตามนโนบาย ผอ.ศบค. ได้แจ้งไว้ และเห็นเทรนด์ของตัวเลขและตัวกราฟที่ลดลงมา ที่ประชุมมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำเสนอชุดข้อมูลต่างๆ โดยกราฟขาลง มีเพียงบางที่เท่านั้น คือ ชายแดนใต้
- เกณฑ์ ปรับระดับพื้นที่
สำหรับเรื่องสำคัญเรื่องแรก คือ การปรับระดับพื้นที่ สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ที่ประชุมได้บอกเกณฑ์ใช้ในการพิจารณารายจังหวัด โดยเกณฑ์ในการปรับระดับ ได้แก่ ระดับความรุนแรงในการระบาด อัตราการครองเตียงของผู้ป่วยรุนแรง แนวโน้มการระบาดในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ความครอบคลุมของวัคซีนต่อประชากรจังหวัดที่ติดชายแดนและพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว มีการปรับระดับดังนี้
พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจาก 23 จังหวัด เป็น 7 จังหวัด
พื้นที่ควบคุมสูงสุดจาก 30 จังหวัด เป็น 38 จังหวัด
พื้นที่ควบคุมจาก 24 จังหวัด เป็น 23 จังหวัด
พื้นที่เฝ้าระวังสูงจาก 0 จังหวัด เป็น 5 จังหวัด
พื้นที่เฝ้าระวัง 0 จังหวัด เป็น 0 จังหวัด
พื้นที่สีฟ้า (นำร่องท่องเที่ยว) 0 จังหวัด เป็น 4 จังหวัด
“ในรายจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ จันทบุรี ตาก นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา จะเป็น 4 จังหวัดชายแดนใต้ และจันทบุรี ที่มีเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อสูง รวมถึง ตาก และนครศรีธรรมราช ที่กำลังพยายามควบคุมโรคอยู่ สำหรับ ใน 5 จังหวัดสีเหลือง นครพนม น่าน บึงกาฬ มุกดาหาร และสกลนคร ซึ่งอยู่ทางอีสานและเหนือ”
- 4 จังหวัด ดื่มสุราได้
สำหรับ พื้นที่สีฟ้า 4 จังหวัด กทม. กระบี่ พังงา ภูเก็ต จะเห็นว่า พื้นที่ กทม. ในที่ประชุม มีการพิจารณาเรื่องนี้นานพอสมควร มีความห่วงใยในส่วนของที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ในประเด็นมาตรการที่ต้องออกมากำกับเต็มที่เพราะพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ซึ่งสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ สามารถดื่มสุรา ปล่อยให้เกิดขึ้นโดยวิถีปกติไม่ได้ เพราะเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดกลับมา ซึ่งกทม. มีความซับซ้อนในการจัดการควบคุมโรค ดังนั้น ผอ.ศบค. ได้สั่งการให้ คณะกรรมการโรคติดต่อ กรุงเทพมหานคร ต้องออกมาตรการเฉพาะในเรื่องของการให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โดยในที่ประชุม ได้ระบุด้วยว่า ในลักษณะองค์กร สถานประกอบการ สมาคม ที่มีส่วนรับผิดชอบในการเปิด ขอให้มามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดำเนินกิจการกิจกรรมให้กลับไปเหมือนเดิม หากมีภาวะสุ่มเสี่ยงในการแพร่ระบาดจะต้องรับผิดชอบร่วมกันในการบริหารจัดการต่อไปอย่างไร โดยบ่ายวันนี้ ผู้ว่าฯ กทม. และคณะจะไปเพิ่มเติมเพื่อคงความเป็นพื้นที่สีฟ้า”
- อัพเดท มาตรการต่างๆ
สำหรับ มาตรการออนอกเคหะสถาน ยังคงเดิม มีอยู่แค่ในพื้นที่สีแดงเข้ม 23.00 – 03.00 น. ขณะที่การทำงานที่บ้าน โดยเฉพาะกทม. ปริมณฑล ทั้งหน่วยงานรัฐ 70% ผู้ประกอบการเอกชน ปรับเพิ่มได้ตามความเหมาะสม ต้องขอความร่วมมือเพื่อลดการติดเชื้อ
การจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม ให้พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไม่เกิน 50 คน ขณะที่พื้นที่ควบคุมสุงสุด ไม่เกิน 200 คน พื้นที่ควบคุม ไม่เกิน 500 คน พื้นที่เฝ้าระวังสูงไม่เกิน 1,000 คน
สถานศึกษาทุกระดับ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ใช้อาคารสถานที่ได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจาก กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวง อว. ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ขณะที่พื้นที่ควบคุมสูงสุด มีมาตรการลดหลั่นกันไป ใช้อาคารได้แต่การรวมตัวจำนวนมากต้องขอความเห็นชอบ ขณะที่ พื้นที่ควบคุม ใช้อาคารเรียนได้ มีระบบมาตรการป้องกัน เช่นเดียวกับพื้นที่เฝ้าระวัง
ขณะที่ สถานรับเลี้ยงเด็กและผู้สูงอายุ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้เปิดรับไปกลับได้ แต่ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ส่วนพื้นที่อื่น เปิดได้ปกติ
การเล่นกีฬา พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เปิดได้ไม่เกิน 22.00 น. กีฬาในร่มต้องไม่มีผู้ชม กีฬากลางแจ้งมีผู้ชมไม่เกิน 25% การแข่งขันที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณา ส่วน พื้นที่ควบคุมสูงสุด เปิดได้ถึง 23.00 น. การแข่งขันจำกัดผู้ชม ในร่ม 25% และกลางแจ้ง 50% ส่วนพื้นที่ควบคุม กีฬาในร่มไม่เกิน 50% และกลางแจ้ง 75% ส่วนพื้นที่เฝ้าระวัง กีฬาในร่ม 75% ส่วนกลางแจ้งตามความจุสนาม
โรงภาพยนตร์ มหรสรรพพื้นบ้าน สถานที่ลักษณะเดียวกัน ผอ.ศบค. เน้นย้ำว่า คนที่เป็นศิลปินพื้นบ้าน ย้ำว่าแสดงได้ แต่ต้องจำกัดจำนวนผู้ชม ตามระดับพื้นที่ที่เปิดการแสดง โดย พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำกัดผู้ชมในร่ม 50% กลางแจ้ง 75% ขณะที่ พื้นที่ควบคุมสูงสุด แสดงในร่ม 75% และที่โล่งตามขนาดพื้นที่ ส่วนพื้นที่อื่นเปิดได้ตามปกติ
ศูนย์แสดงสินค้า ที่จัดการประชุม ศูนย์นิทรรศการในห้าง และโรงแรม จัดประชุมได้ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ไม่เกิน 500 คน พื้นที่ควบคุมสูงสุด ไม่เกิน 500 คน และเพิ่มกิจกรรมด้านมหกรรมกีฬา แสดงสินค้า ได้ แต่ต้องไม่มีการชิมอาหาร ส่วนพื้นที่ควบคุม ไม่เกิน 1,000 คน สามารถชิมอาหารได้ ส่วนพื้นที่อื่นสามารถจัดได้ตามความเหมาะสม
ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เปิดได้ถึง 22.00 น. งดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ปิดบริการตู้เกม ส่วน พื้นที่ควบคุมสูงสุด เปิดบริการตู้เกมได้ แต่ยังไม่เปิดสวนน้ำ สวนสนุก พื้นที่ควบคุม เปิดสวนสนุก สวนน้ำได้ โดยเฉพาะในพื้นที่เปิดโล่ง
ร้านสะดวกซื้อ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เปิดไม่เกิน 22.00 น. มีตลาดนัด หากมีเครื่องเล่นต้องขอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ส่วนสีอื่นเปิดได้ตามปกติ
ร้านอาหาร ในและนอก ศูนย์การค้า หรือสถานที่อื่นใดที่มีร้านอาหาร เปิดได้มากขึ้น พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เปิดได้ถึง 22.00 น. งด จำหน่าย ดื่มสุรา ส่วน พื้นที่ควบคุมสูงสุด เปิดได้ถึง 23.00 น. งดการดื่มสุรา พื้นที่ควบคุม งดการดื่มสุรา เวลาปิดเปิดให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดดูตามความเหมาะสม ส่วนพื้นที่อื่นดำเนินการได้ตามปกติ
ร้านเสริมสวย นวด สปา สัก ความงาม พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เปิดได้ถึง 22.00 น. ยังไม่ใช้เรื่องไอน้ำ ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด เปิดไม่เกิน 23.00 พื้นที่ควบคุม ไม่เกิน 24.00 น. พื้นที่อื่นๆ เปิดได้ตามปกติ