เปิดเกณฑ์สาธารณสุข ชะลอ-ยุติเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว
สธ.เผยเกณฑ์กำหนดลด-ชะลอ-ยุติรับนักท่องเที่ยว พื้นที่นำร่องเปิดประเทศ ระบุระบบสุขภาพโดยรวมมีความพร้อม อัตราครองเตียงเหลือง-แดงอยู่ที่ 20-30%
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 29 ต.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข ประเด็น “ความพร้อมของเขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขรองรับการเปิดประเทศ” นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า กรณีเกิดมีการระบาดเพิ่มขึ้นซึ่งมีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจนในการชะลอ/ยุติกิจกรรม เช่น 1.จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ มากกว่า 15รายต่อแสนประชากรต่อสัปดาห์
2.ระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ 3.มีผู้ติดเชื้อครองเตียงในพื้นที่ ตั้งแต่ 80 %ขึ้นไป 4.พบเชื้อกลายพันธุ์ แบบวงกว้างควบคุมไม่ได้ และ5.หากเกิดเหตุการณ์กรณีอื่นๆ ให้เป็นการพิจารณาโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หากถึงเกณฑ์เหล่านี้ก็จะพิจารณาตั้งแต่ปรับลดกิจกรรม ,ลดจำนวนเส้นทางท่องเที่ยว, ถ้ารุนแรงมากก็ให้นักท่องเที่ยวกักตัวเองภายในโรงแรม และหากสถานการณ์รุนแรงยังมากขึ้น ก็จะต้องทบทวนยุติการรับนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่
ผู้สื่อข่าวถามถึงสถานการณ์เตียงดูแลผู้ป่วยใน 17 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยวหรือพื้นทื่ฟ้าในขณะนี้ นพ.ธเรศ กล่าวว่า การประเมินนี้เป็นการประเมินรายจังหวัดและรายพื้นที่ตามรูทโซน เบื้องต้นมีความพร้อมและในภาพรวมการติดเชื้อค่อนข้างจะลดลง จำนวนเตียงจึงยังคงมีเพียงพอ ซึ่งนอกจากเตียงหลักที่เตรียมเอาไว้แล้วยังสามารถเพิ่มเตียงจากพื้นที่ใกล้เคียงและฮอทพิเทลได้
“ยืนยันได้ว่า 17 จังหวัดที่เตรียมจะเปิดนำร่องรับนักท่องเที่ยวนั้น ระบบสุขภาพโดยรวมทั้งหมด ทั้งเตียงโดยตอนนี้ครองเตียงเหลือง-แดงอยู่ที่ 20-30% เรื่องห้องปฏิบัติการในตรวจหาเชื้อ มีความสามารถตรวจได้ 1.2 แสนตัวอย่างต่อวัน เรื่องการควบคุมโรค เรื่องระบบการติดตาม และรายงานผลมีความพร้อม”นพ.ธเรศกล่าว
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิชย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 กล่าวว่า เขต6มีพื้นที่นำร่องสีฟ้า คือ สนามบินสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ , เมืองพัทยา อ.บางละมุง อ.ศรีราชา อ.เกาะสีชัง อ.สัตหีบ(ต.บางเสร่และต.นาจอมเทียน) จ.ชลบุรี โดยพื้นที่จ.ชลบุรี มีฮอสพิเทล 37 แห่ง มีเตียงสีแดง 200 เตียง สีเหลือง 1,500 เตียง และสีเขียว 10,000 เตียง ส่วนความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน เข็ม 1 ฉีดแล้ว 81.2% และเข็ม 2 ฉีดแล้ว 63.5% ,เกาะเสม็ด จ.ระยองซึ่งพบผู้ติดเชื้อสะสม 45 ราย โดยรายล่าสุดเมื่อ 22 ก.ค.2564 ความพร้อมทรัพยากรเตียง รพ.รัฐ 397 เตียง รพ.เอกชน 246 เตียง รวม 643 เตียง ความครอบคลุมของวัคซีน เข็ม 1 รับแล้ว 100 % และเข็ม 2 รับแล้ว 95.12 % ,เกาะช้าง จ.ตราด มีรพ.รัฐและเอกชนรวม 1,837 เตียง ความครอบคลุมวัคซีน เข็มที่ 1 รับแล้ว 67.72% และเข็ม2 รับแล้ว 58.31%
ด้านนางอมรรัตน์ ลิ้มจิตสมบูรณ์ หัวหน้ากลุ่มตรวจราชการ เขตสุขภาพที่ 5 กล่าวว่า เขต 5 มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวสีฟ้า คือ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มีความครอบคลุมวัคซีน เข็มที่1 คิดเป็น 57.64% เข็มที่ 2 คิดเป็น 43.50% และอ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีความครอบคลุมวัคซีน เข็มที่1 คิดเป็น 103.79% เข็มที่ 2 คิดเป็น 84.83% ส่วนการเตรียมความพร้อมกรณีเกิดการระบาด 1.สถานพยาบาลของรัฐ ที่จะดูแลเบื้องต้น คือรพ.ชะอำ มีเตียง 39 เตียง อ.หัวหิน 566 เตียง และ2.สถานที่กักกันตัวบุคคลเสี่ยง จำนวน 4 แห่ง รวม 536 เตียง
นางสิริพรรณ โชติกมาศ ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวว่า เขต 8 มีพื้นที่สีฟ้า ได้แก่ อ.เชียงคาน จ.เลย อ.เมือง อ.ท่าบ่อ อ.ศรีเชียงใหม่ อ.สังคม จ.หนองคาย และจ.อุดรธานี โดยภาพรวมมีความพร้อม โดยกรณีที่จะชะลอ/ยุติ คือ มีผู้ติดเชื้อครองเตียงที่เตรียมไว้รับผู้ป่วยโควิดตั้งแต่ 80%ขึ้นไป ของรพ.คู่สัญญาและรพ.ในจังหวัด ,พบเชื้อกลายพันธุ์ แบบวงกว้างควบคุมไม่ได้ภายใน 28 วัน เกิน 5 คลัสเตอร์ขึ้นไปในพื้นที่ที่ทำโครงการ และหากเกิดเหตุการณ์กรณีอื่นๆ ให้เป็นการพิจารณาโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
นางจุฑารัตน์ มากคงแก้ว ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 กล่าวว่า เขต 8 มีพื้นที่สีฟ้า คือ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งผลการประเมินความพร้อม พบว่า อัตราความครอบคลุมวัคซีน เข็มที่ 1 คิดเป็น 59.04 % เข็มที่ 2 คิดเป็น 40.05 % คะแนนรวมจากการประเมินตนเอง 100 % อัตราการครองเตียงของรพ. เตียงแดง-เหลือง 29.63 % และอัตราการติดเชื้อรายวัน 1.97 ต่อแสนประชากรหรือ 20-40 รายต่อวัน
นางกองมณี สุรวงษ์สิน ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวว่า เกาะพยาม จ.ระนองเป็นพื้นที่นำร่องสีฟ้า โดยจ.ระนองมีจำนวนเตียงทั้งหมด 4,268 เตียง เป็นสีแดง 41 เตียง สีเหลือง 222 เตียง และสีเขียว 3,829 เตียง