คกก.โรคติดต่อฯ นิยามใหม่! "ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงโควิด-19บนเครื่องบิน"
คกก.โรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบ กรอบดำเนินการด้านสาธารณสุข รองรับเปิดประเทศ กำหนด 6 ตัวชี้วัด พร้อมลดวันกักตัว-ปรับนิยามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงบนเครื่องบิน เผยออกเอกสารรับรองวัคซีนคนไทยแล้วกว่า 4 หมื่น ขณะที่"อนุทิน" ระบุกลางธ.ค.ฉีดวัคซีนถึงเป้า 100 ล้านโดส
เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวระหว่างการประชุมคณะกรรมการฯว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 สะสม 72 ล้านโดส ถือว่าเร่งทำการฉีดให้สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่ได้รับมา และเป็นไปตามความคาดหมายที่จะฉีดประชากรได้ตามที่คาดการณ์ไว้
มั่นใจว่าภายในสิ้น พ.ย.หรือไม่เกินกลาง ธ.ค.นี้ น่าจะได้ครบกลุ่มเป้าหมาย 100 ล้านโดส ส่วนกลุ่มครู บุคลากรทางการศึกษาได้รับวัคซีน 7.6 แสนคน คิดเป็น 85% และนักเรียนรับแล้วมากกว่า 2 ล้านคน คิดเป็น 58% โดยมีการเร่งรัดการฉีดและวางแผนจัดสรรวัคซีนให้ได้รับเพิ่มเติมกลุ่มที่ยังไม่ได้รับเลยและยังไม่ได้เข็มสอง เพื่อวางแผนเปิดภาคเรียนเดือน พ.ย.
ในเดือน พ.ย.ประเทศไทยมีแผนจัดหาวัคซีนรองรับการเปิดประเทศและเปิดเรียน โดยจะมีการจัดส่งวัคซีน 23 ล้านโดส คือ แอสตร้าเซนเนก้า 13 ล้านโดส และไฟเซอร์ 10 ล้านโดส โดยเป้าหมาย คือ ฉีดในแซนด์บ็อกซ์ต้องครอบคลุม 70% ,เพิ่มความครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 608ที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวและหญิงตั้งครรภ์ ,ผู้ฉีดซิโนแวค ครบ 2 เข็ม และแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม
ต่อมาเวลา 16.00 น. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯแถลงภายหลังการประชุมว่า ผลการประชุมที่สำคัญ 5 เรื่อง ประกอบด้วย
1.เห็นชอบประกาศการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคกรณีโรคโควิด-19 มีการกำหนดให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอกนิกส์เพิ่มขึ้นได้ รวมทั้งปรับกระบวนการออกหหนังสือรับรองให้ง่ายขึ้น โดยให้คร.เข้าถึงข้อมูลกับผู้รวบรวมข้อมูลการฉีดวัคซีน เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลบังคับใช้ต่อไป ข้อดีจะทำให้ประชาชนสามารถขอหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนแบบเอกสารและอิเล็กทรอนิกส์ได้ง่ายขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น
2.เห็นชอบกรอบการดำเนินการรองรับการเปิดประเทศ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข มีทั้งหมด 4 เป้าหมายทั้งการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน สร้างความมั่นคงในระบบสาธารณสุข ฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างสังคมนิวนอร์มัล โดยมี 5 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.เปิดประเทศให้ปลอดภัย 2.การควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ 3.แผนรองรับการดูแลรักษา 4.การสื่อสารข้อมูล และ5.ด้านบริหารจัดการ มีตัวชี้วัด 6 ด้าน ทั้งมาตรการ COVID-Freeต่างๆ วัคซีนโควิด-19 การควบคุมโรคระดับจังหวัด ความสามารถในการรองรับของการแพทย์ จีดีพี และมาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดหรือUP โดยจะแจ้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครจัดทำแผนและมอบผู้เกี่ยวข้องติดตามกำกับต่อไป
3.เห็นชอบตามคณะกรรมการวิชาการเสนอ คือ ลดวันกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกรณีเดินทางโดยเครื่องบิน จาก 14 วัน เหลือ 10 วัน และเปลี่ยนนิยามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงใหม่ จากเดิมกำหนดผู้โดยสาร 2 แถวหน้าหลังและแถวเดียวกับผู้ติดเชื้อ แต่ที่ผ่านมาการติดเชื้อในเครื่องบินต่ำมาก หากป้องกันควบคุมโรคดี ใส่หน้ากากตลอดเวลา โดยส่วนใหญ่จะพบการติดเชื้อในแถวเดียวกันมากกว่า จึงเปลี่ยนนิยามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเป็นเฉพาะผู้ที่นั่งติดผู้ติดเชื้อด้านซ้ายขวาและไม่สวมหน้ากากนานกว่า 5 นาที
นอกจากนี้ รับทราบ 6 เรื่อง คือ 1.สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 มีแนวโน้มลดลง แต่ยังมีบางจังหวัดระบาด เช่น 4 จังหวัดชายแดนใต้การระบาดทรงตัว บางจังหวัดแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องให้ความสำคัญในส่วนนี้และการติดเชื้อที่มีความสัมพันธ์กิจกรรมบางอย่าง มอบให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเข้มงวด 2.แผนเปิดประเทศและแนวทางปฏิบัติของผู้เดินทางเข้ามาสู่ราชอาณาจักร ซึ่งกำหนดผู้เดินทางจาก 45 ประเทศ 1 เขตบริหารพิเศษ ไม่ต้องกักตัว หากฉีดวัคซีนครบ โดยตรวจ RT-PCR เมื่อมาถึงประเทศไทย ผลเป็นลบเดินทางไปที่อื่นต่อได้ เรียว่า Test to go
3.ความก้าวหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสมแล้ว 72 ล้านโดส เทียบกับเป้าหมายเดิมที่กำหนดสิ้นเดือน ต.ค.จะฉีดวัคซีนได้ 70 ล้านโดส ถือว่าเกินเป้าหมาย และสิ้นเดือนนี้จะฉีดได้ 75 ล้านโดส รวมถึงฉีดนักเรียนเบื้องต้นสำรวจ 12 ปีขึ้นไป 5 ล้านคน สมัครใจแสดงความประสงค์ 3.8 ล้านคน ดำเนินการฉีด 2 สัปดาห์ มากกว่า 2 ล้านกว่าโดส ไม่พบปัญหาจากวัคซีนที่รุนแรง พบผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาการน้อยไม่รุนแรง จึงมีความมั่นใจแจ้งประสงค์ฉีดเพิ่มเติมอย่างต่ำ 5 แสนคน จะจัดสรรวัคซีนให้นักเรียนต่อไป รวมถึงการออกวัคซีนพาสปอร์ตแบบเล่มที่ผ่านมาออกแล้วกว่า 4 หมื่นราย โดยคร.ปรับระบบจองการออกหนังสือเป็นแบบออนไลน์ ถ้าส่งเอกสารออนไลน์ครบ ในวันนัดหมายใช้เวลาออกเอกสารไม่เกิน 1 ชั่วโมง
“ แต่ปัญหาล่าช้าเกิดจาก 2 ส่วน คือ คนที่วอล์กอินไม่จองล่วงหน้าและไม่ส่งข้อมูลล่วงหน้า เมื่อเอกสารไม่ครบทำให้ติดขัด และพบบ่อยที่สุด คือ รพ.เอกชนบางแห่งใน กทม.บันทึกข้อมูลไม่ครบถ้วน จึงออกหนังสือไม่ได้ มอบผู้แทน กทม.ไปหารือและตรวจสอบ รพ.ที่เกี่ยวข้องต่อไป”นพ.โอภาสกล่าว
4.การเฝ้าระวังสายพันธุ์เดลตาพลัส ซึ่งที่พบในประเทศไทยแตกต่างจากเดลตาพลัสอังกฤษ ทั้งนี้ การกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีแนวโน้มระบาดง่ายขึ้นหรือรุนแรงขึ้น 5.แผนจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่ง ครม.เห็นชอบให้นำเข้าได้ และ 6.แนวปฏิบัติบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยันฉบับปรับปรุง เพราะบุคลากรทางการแพทย์มีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก แนวโน้มติดเชื้อป่วยรุนแรงน้อยลง จึงปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์