"กรมอนามัย" แนะพ่อแม่ เพิ่มผัก - ผลไม้ ในอาหารเช้าให้ลูกก่อนไปเรียน
"กรมอนามัย" แนะ พ่อแม่ควรเตรียมเมนู "อาหารเช้า" ง่าย ๆ หรือเป็นอาหารจานเดียวเพิ่ม "ผักและผลไม้" เพื่อให้ได้คุณค่าทาง "โภชนาการ" ที่เหมาะสมและครบถ้วน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดี กรมอนามัย กล่าวว่า วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศให้โรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศสามารถเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 แบบ Onsite ได้ โดยมีเงื่อนไขต้องผ่านเกณฑ์การประเมินความพร้อมตามที่ ศบค.กำหนด ซึ่งในช่วงเปิดเทอมสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ควรละเลย คือ การเตรียม อาหารเช้า สำหรับลูก
เพราะหากเด็กไม่ได้กินอาหารเช้า เป็นประจำ ร่างกายจะไปดึงสารอาหารสะสมสำรองในยามจำเป็นมาใช้แทน ทำให้ร่างกายมีอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิด อารมณ์เสีย ขาดสมาธิในการเรียน หรืออาจถึงขั้นหน้ามืดเป็นลมได้ และไม่ควรให้เด็กงดกินอาหารมื้อเช้า เพราะอาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
โดยเฉพาะในเด็กวัยเรียนเป็นวัยที่ยังเจริญเติบโต มีความต้องการพลังงานและสารอาหารมากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงต้องสร้างนิสัยการกินอาหารเช้าร่วมกับเด็ก ไม่ควรเร่งรีบ หรือกดดันลูกเวลากินข้าวเช้า อาจเตรียมเป็นเมนูอาหารที่กินระหว่างเดินทางได้ ซึ่งอาหารเช้าที่เหมาะสมควรให้พลังงานประมาณ 400 - 450 กิโลแคลอรี ครบ 5 หมู่ หลากหลาย ถูกหลักโภชนาการ และเตรียมได้ง่าย
ทั้งนี้ เมนูอาหารเช้าที่ดีต้องถูกหลักโภชนาการและมีคุณค่าทางสารอาหาร ควรประกอบด้วย อาหาร 3 กลุ่มเป็นอย่างน้อย ได้แก่
- กลุ่มข้าว แป้ง
- กลุ่มผัก
- กลุ่มเนื้อสัตว์
"หรือเป็นอาหารจานเดียว เช่น ข้าวต้มเครื่อง โจ๊ก ข้าวผัด เมนูไข่ต่าง ๆ อาหารสำเร็จรูปประเภทซีเรียล โฮลเกรน ผสมนมรสจืด แซนด์วิชไข่ แซนด์วิชทูน่า เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กกินผัก อาจตกแต่งเมนูอาหารให้ดูน่ากินด้วยการหั่นผักให้เป็นชิ้นเล็ก หรือเพิ่มผักที่ไม่มีกลิ่นฉุนและรสขมในเมนูอาหาร เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ฟักทอง ผักบุ้ง แครอท ที่สำคัญ ควรเตรียมนมสดรสจืด 1 กล่อง ผลไม้ขนาดกลางประมาณ 1 ผล เช่น ส้ม กล้วยน้ำว้า ชมพู่ เพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมและครบถ้วน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว