กรมควบคุมโรค เตือนหลังน้ำลด ระวังอันตรายโรคติดต่อนำโดยยุงลาย
กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนหลังน้ำลด ระวังอันตรายจากโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ขอให้ประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ ไม่ให้ยุงกัด หากมีไข้ติดต่อกัน 2 วัน กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด ขอให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม น้ำเริ่มลดระดับลงแล้ว ทำให้ในพื้นที่ดังกล่าวอาจมีสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ มีน้ำขังในภาชนะ วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ทิ้งแล้ว หรือมีการจัดการขยะที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้ โดยยุงที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาด คือ ยุงลาย ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิงชั่วคราว หรืออยู่บ้านที่มีน้ำท่วมล้อมรอบมีความเสี่ยงโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-25 ตุลาคม 2564 พบผู้ป่วย 8,193 ราย เสียชีวิต 6 ราย พบมากที่สุดในภาคเหนือ รองลงมา คือภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก ระนอง อุตรดิตถ์ และชุมพร ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน พบผู้ป่วยและเสียชีวิตลดลงกว่า 8 เท่า (ปี 2563 ป่วย 67,961 ราย เสียชีวิต 48 ราย)
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า วิธีป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย มี 4 วิธี ดังนี้ 1.หาเสื้อผ้าแขนยาวขายาวใส่ให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงหรือสัตว์มีพิษอื่นๆ กัด ใช้ผลิตภัณฑ์ทากันยุงในแขนขาส่วนพ้นจากเสื้อผ้า และนอนในมุ้ง 2.ป้องกันการวางไข่ของยุง ภายหลังน้ำลด 1 สัปดาห์ ควรกำจัดภาชนะหรือเศษวัสดุที่มีน้ำขังภายในและบริเวณรอบบ้าน ใช้ทรายเทมีฟอสในภาชนะน้ำใช้ กลบถมหรือเปิดทางน้ำให้น้ำระบายได้สะดวก หาปลาที่กินลูกน้ำมาใส่ในแอ่งน้ำ 3.กำจัดยุงตัวเต็มวัย ด้วยสเปรย์กระป๋อง ฉีดพ่นตามมุมห้องที่มืดและมีความชื้นสูง เช่น ซอกตู้ ใต้โต๊ะ ใต้เก้าอี้ 4.หากมีอาการป่วย สงสัยโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ได้แก่ มีไข้ติดต่อกัน 2 วัน มีผื่น ปวดข้อ กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด ขอให้รีบพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ห้ามรับประทานยาประเภท NSAIDs ได้แก่ แอสไพริน และไอบรูโพรเฟน
ทั้งนี้ การเฝ้าระวังโรคติดต่อที่เกิดจากยุงลายในช่วงนี้คงต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้นำท้องถิ่นและประชาชน เนื่องจากทุกคนในพื้นที่ที่ประสบภัยต่างก็ได้รับผลกระทบทางด้านทรัพย์สินและจิตใจ อาจมีความพร้อมไม่มากนัก ประกอบกับการตกค้างของขยะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ หากมีฝนตกซ้ำจนเกิดน้ำขังในภาชนะที่ปล่อยทิ้งไว้ จากการสำรวจค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายของกรมควบคุมโรคในหลายพื้นที่พบว่ามีค่าดัชนีความหนาแน่นของลูกน้ำยุงลายเกินค่ามาตรฐานมากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่โดยรวม ฉะนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเทศบาล จะเป็นหน่วยงานสำคัญในการดำเนินการเก็บขยะเพื่อไปทำลายซึ่งจะเป็นการลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จัดเตรียมอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ เพื่อจ่ายแจกผู้ที่ประสบภัยดังกล่าว ควรคำนึงถึงวัสดุและเวชภัณฑ์ที่จะบรรจุใน ถุงบรรเทาภัยสาธารณะด้วย เช่น แบคทีเรียหรือทรายเทมีฟอสกำจัดลูกน้ำ ผลิตภัณฑ์ทากันยุงหรือสเปรย์กระป๋องกำจัดยุง และมุ้งหรือมุ้งชุดสารเคมี พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมเรื่องสารเคมีกำจัดแมลงเพื่อการพ่น ULV หรือหมอกควันที่จะไปสนับสนุนการดำเนินการควบคุมโรคเมื่อเกิดการระบาดของโรคได้อย่างทันท่วงที การประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำประชาชนทราบความเสี่ยงของการเกิดโรคติดต่อนำโดยยุงลาย และวิธีป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422