เช็ค 3 สัญลักษณ์ก่อนเข้า ร้านผ่านเกณฑ์ COVID Free Setting 3,068 แห่ง
อนามัยโพลล์สำรวจ17พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว พบในตลาดยังมีถึง 20.3 % สวมหน้ากากไม่ถูกต้อง/ไม่สวมหน้ากาก สถานที่ท่องเที่ยวเข้มมาตรการน้อยกว่าที่ตลาด สถานประกอบการผ่าน COVID Free Setting 3,068 แห่ง ส่วนใหญ่ที่ไม่ผ่านเกณฑ์เรื่องการฉีดวัคซีนของพนักงาน
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 3 พ.ย. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประเด็น “มาตรการUP เปิดบ้าน เปิดเมือง เปิดประเทศ และCIVID Free Setting” นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ใน 1 เดือนที่ผ่านมา ก่อนเปิดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว จากการสำรวจอนามัยโพลล์ เรื่อง การปฏิบัติตามหลักการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด(Universal Prevention : UP)
พบว่า ภาพรวมการสวมหน้ากากในที่สาธารณะ การล้างมือ เลี่ยงเอามือสัมผัสใบหน้า เลี่ยงออกนอกบ้าน ยังทำดีระดับ 90 % ขึ้นไปยกเว้นสวมหน้ากากเมื่อยู่ที่บ้าน พบเพียง 50-60% ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์โควิด-19ที่ลดลงและการผ่อนคลายมาตรการขึ้น จะสังเกตได้ว่าประชาชนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัดมีการออกนอกบ้านมากกว่าในพื้นที่อื่นๆ ส่วนการตรวจATKในกรณีที่มีความเสี่ยงพบราว 70 %
เมื่อจำแนกข้อมูลในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด ผลการสอบถามการรับรู้มาตรการUP ในตลาด พบว่า ยังมีถึง 20.3 % สวมหน้ากากไม่ถูกต้องหรือไม่สวมหน้ากาก ส่วนมาตรการที่ทำได้ดีคือการกำหนดจุดเข้าออกชัดเจน วัดอุณหภูมิก่อนเข้าตลาด แต่การพบเห็นใบรับรองการปฏิบัติมาตรการและการทำความสะอาดของสุขาภิบาลพบน้อยที่สุด
เมื่อถามถึงประชาชนไปสถานที่ท่องเที่ยวก่อนเปิดเมือง พบว่า 65-80 % ยังไม่ได้ไปสถานที่ท่องเที่ยว ส่วนที่เลือกไปคือสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งจะมีความปลอดภัยเพราะเป็นพื้นที่เปิดโล่ง แต่มีประชาชนส่วนหนึ่งไปสถานที่ท่องเที่ยวคล้ายผับบาร์ สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ในพื้นที่
ถามถึงการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของสถานที่ท่องเที่ยว ก่อนการเปิดเมือง พบว่า ภาพรวม แม้สถานที่ท่องเที่ยวเปิดโล่ง แต่ยังไม่ทำตามมาตรการเข้มข้นเท่าที่ควร และเข้มข้นน้อยกว่าที่ตลาด ขอเน้นย้ำไปยังผู้ประกอบกิจการ กิจกรรมเมื่อเปิดแล้วมาตรการสำคัญยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อให้นักท่องเที่ยวมั่นใจและปลอดภัย
สถานประกอบการในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด ที่ผ่านการประเมินมาตรการ COVID Free Setting 3,068 แห่ง จากลงทะเบียน 3,192 แห่ง คิดเป็น 96 % โดยประเภทกิจการที่เข้าร่วมการประเมินมากที่สุด คือ ร้านอาหาร สปา นวดเพื่อสุขภาพ และห้างสรรพสินค้า พบว่ามาตรการส่วนใหญ่ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ได้แก่ การฉีดวัคซีนของพนักงาน การจัดอุปกรณ์ป้องกันโรคที่เพียงพอ การแยกสำรับข้าวของเครื่องใช้ของศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้า การควบคุมกำกับติดตาม การคัดกรองความเสี่ยง และระบบกรองอากาศเฉพาะที่
สถานประกอบการที่ยังไม่ประเมิน COVID Free Setting เข้าประเมินตนเองได้ที่ เวบไซต์stopcovid ของกรมอนามัย โดยทุกสถานประกอบการรที่ประเมินผ่านสามารถพิมพ์ใบรับรองเพื่อติดไว้หน้าร้านแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน ได้แก่ 1.ใบรับรอง Thai Stop COVID Plus ซึ่งสถานประกอบการทุกแห่งในทุกจังหวัดต้องประเมินตนเองตามมาตรการนี้ 2.ใบรับรอง COVID Free Setting เฉพาะจังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดและพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวรองรับการเปิดประเทศ โดยต้องผ่านการประเมิน Thai Stop COVID Plus ก่อนจึงสามารถประเมิน COVID Free Setting และ3.สติ๊กเกอร์ COVID Free Setting ประเมินโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กำหนด และประชาชนสามารถประเมิน แนะนำ ติชม ร้องเรียนสถานประกอบการ ได้เว็บไซต์ Thai Stop COVID Plus ของกรมอนามัย รวมถึง เฟซบุ๊กแฟนเพจ “ผู้พิทักษ์อนามัย”
“สธ.เน้นย้ำทุกคนทุกสถานประกอบการการ์ดไม่ตก ทำตามมาตรการUPอย่างเคร่งครัดร่วมเป็นหูตาในการประเมินแนะนำ ติชมหรือร้องเรียน สถานประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting ได้ตามช่องทางที่กำหนด เพื่อให้การเปิดเมือง เปิดประเทศครั้งนี้เป็นไปตามเป้าหมายรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ให้ทุกคนใช้ชีวิต และท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย”นพ.สุวรรณชัยกล่าว
ต่อข้อถามเมื่อเปิดให้ร้านอาหารสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบางพื้นที่ จะมีปัจจัยเสี่ยงในการติดโควิดอย่างไร นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า หลังดำเนินการมา 3 วันตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบมีความเสี่ยงบางประการ คือ 1.การดื่มซึ่งอาจจะเกินเวลา หรือเกินกว่าที่ประกาศ ของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนด 2.ความแออัด เพราะประชาชนส่วนหนึ่งอึดอัดอุดอู้กับการที่ต้องอยู่กับบ้าน เมื่อเปิดนำร่องท่องเที่ยว ก็จะมุ่งไปสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพราะฉะนั้นการเว้นระยะห่างก็ลดลง เช่นเดียวกับร้านอาหาร
แต่เชื่อว่าระยะหนึ่ง ร้านอาหาร ประชาชนจะค่อยๆปรับตัวให้สอดรับกับสถานการร์และการปฏิบัติตามามาตรการ และ 3.มีส่วนน้อยประชาชนดื่มเกินพอดี มีความเมา นำไปสู่ความเสี่ยงในเรื่องของการละเลยหรือละเว้นการปฏิบัติมาตรการป้องกันตนเอง อย่างไรก็ตาม จะมีการเฝ้าระวังและลงสุ่มตรวจสอบเป็นระยะ เพื่อที่จะดูการปฏิบัติเป็นระยะเวลา 7-14 วัน เพื่อประเมินว่าการดำเนินการมีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ควบคู่กับสถานการณ์พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ด้วย