"เครือซีพี" ประกาศปี 2030 ลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ตั้งเป้าช่วยโลก
"เครือซีพี" ตั้งเป้า ปี 2030 ลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในองค์กร ก่อนขยายสู่บริษัทคู่ค้า เดินหน้าการดำเนินงาน 3 ด้านช่วยโลก ระบุทุกภาคส่วนต้องช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก
เป็นเวลาเกือบสามทศวรรษ ที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในปีนี้เป็นสมัยที่ 26 (Conference of the Parties) หรือ COP26 ซึ่งจะมีการจัดประชุมระหว่างวันที่ 31 ต.ค. - 12 พ.ย. ณ เมือง Glasgow สหราชอาณาจักร
เป็นการดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินทางภูมิอากาศ ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1992 ทุกประเทศได้เข้าร่วมและผูกพันตามสนธิสัญญา เพื่อป้องกันอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหาหนทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในวิถีทางที่มีความเท่าเทียมกัน
- ลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี2030
บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ “ซีพี” หนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT เครือข่ายด้านความยั่งยืนของสหประชาชาติ และเป็นเครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งองค์กรธุรกิจที่ได้เข้าร่วมการประชุม COP มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง COP 26 ในปีนี้ ซึ่งจะเข้าร่วมในลักษณะออนไลน์
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา “เครือซีพี” ได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนร่วมกับทุกภาคส่วน ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งเป้าไว้ โดยได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรสุทธิเป็นศูนย์ในปีค.ศ. 2030 นอกจากนี้เครือซีพียังรายงานความคืบหน้าการดำเนินการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านรายงานความยั่งยืน ซึ่งได้จัดทำตามมาตรฐาน GRI และเกณฑ์การจัดทำรายงานเพื่อสื่อสารความคืบหน้าของ UN Global Compact ในระดับสูงสุด
สมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เล่าว่าเครือซีพี ได้จัดทำยุทธศาสตร์และเป้าหมายความยั่งยืนมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2015 ซึ่งการดำเนินงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม Climate Change ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ จากกลุ่มธุรกิจในเครือซีพี ตั้งแต่การเกษตร อาหาร ค้าปลีกไปจนถึงโทรคมนาคม ซึ่งเครือซีพีมีกิจการกระจายอยู่ 8 สายธุรกิจใน 21 ประเทศ
- หมดยุคปล่อยก๊าซเรือนกระจกปี2050
ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืนฯ เครือซีพีเล่าต่อไปว่าบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นสมาชิก UN Global Compact ในระดับ Lead ให้การสนับสนุนข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายระยะยาว ที่จะขับเคลื่อนทั้งในส่วนขององค์กรและคู่ค้าตั้งแต่ต้นน้ำ ภาคการเกษตร ไปจนถึงปลายน้ำ ในการลดก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับเป้าหมายทั้งโลก ซึ่งทุกวันนี้มีประเทศต่างๆ ปล่อยคาร์บอนรวมกันประมาณ 50 กิกะตัน และต้องลดลงให้ใกล้เคียงศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050
“เครือซีพี มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ประมาณ 5.68 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการใช้พลังงานไฟฟ้า 83% และพลังงานเชื้อเพลิงอื่นๆอีก 17% นอกจากนี้การได้มาซึ่งวัตถุดิบจากการเกษตร พื้นฐานการผลิตอาหารสัตว์ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ การเดินทางของพนักงาน การบริโภค การกำจัดขยะและของเหลือจากการบริโภค ฯลฯ ยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Scope3) ดังนั้น เป้าหมายระยะยาวของเครือซีพี จึงไม่ได้มุ่งเฉพาะในองค์กรเท่านั้น แต่รวมถึงคู่ค้าของเราที่ต้องร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย” สมเจตนา กล่าว
- ทุกภาคส่วนต้องร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม
หลังปีค.ศ. 2020 สิ่งที่เครือซีพี จะพยายามดำเนินการให้เห็นอย่างชัดเจน คือตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินงานสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปีค.ศ. 2030 สำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กรทั้ง Scope 1 และ Scope 2 ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามดำเนินการตามลด Scope 3 หรือการปล่อยทางอ้อมในห่วงโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์และบริการ ให้ครบถ้วนและพยายามหาวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมทั้งจะทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อให้การทำธุรกิจไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
และเข้าร่วมในโครงการ Race to Zero และ Business Ambition for 1.5 C ที่ภาคเอกชนจะร่วมกันควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส สอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยตั้งเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศผ่านองค์กร Science-based Targets Initiative (SBTi) ซึ่งถือเป็นความท้าทายการรักษาสมดุลในการเติบโตทางธุรกิจ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน
- ยึดหลักดำเนินงาน3ด้านช่วยโลก
“เครือซีพี” ได้นำหลักสากล 10 ประการของ UN Global Compact มาบูรณาการในกลยุทธ์และการดำเนินธุรกิจขององค์กร โดยจัดทำยุทธศาสตร์ความยั่งยืน เป้าหมาย นโยบายและแนวปฏิบัติ ที่ครอบคลุมด้านสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต ภายใต้ค่านิยม 3 ประโยชน์ และกรอบการดำเนินงาน 3 ด้านของเครือฯ อันได้แก่ Heart – Living Right, Health – Living Well และ Home – Living Together ซึ่งจะใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งสู่ความเป็นเลิศ และใช้แนวทางการจัดการตามการหลักการข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact: UNGC) และ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN SDGs และหลักการด้านสิทธิมนุษยชน UNGP ตามกฎระเบียบและมาตรฐานสากล
ประเด็นความยั่งยืนใน 15 หัวข้อ มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะเป็นองค์กรที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) (SDG 13) การลดขยะอาหารและของเสียที่ถูกนำไปฝังกลบเป็นศูนย์ และบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ทั้งหมดสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ (SDG 12) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานใน Scope 1 และ Scope 2 รวมถึงจะดำเนินการเศรษฐกิจหมุนเวียน 100% และลดปริมาณการใช้น้ำ 20% ต่อหน่วยรายได้เมื่อเปรียบเทียบกับปีพื้นฐานปี 2020 พัฒนาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งจะคำนึงถึงความรับผิดชอบในการจัดการวัตถุดิบที่มีความเสี่ยงให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ 100% โดยทุกเรื่องมีตัวชี้วัดประเมินผล
“การกำกับดูแลและขับเคลื่อนการดำเนินงาน ซึ่งคุณศุภชัย ได้ขับเคลื่อนนำทัพกลุ่มผู้บริหารซีอีโอของทุกกลุ่มธุรกิจและพนักงานในเครือซีพี ทั้งในประเทศและต่างประเทศไปสู่การปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ คือ Net Zero Carbon และ Zero Food Waste ใน 10 ปีข้างหน้า โดยจะมีโครงสร้างการบริหารจัดการ และกรอบการดำเนินงานแบบองค์รวม มีกลยุทธ์ความยั่งยืน มีตัวชี้วัด การกำกับดูแลนโยบาย กระบวนการ โครงสร้างพื้นฐาน และบุคลากร รวมถึงมีการจัดทำรายงานเพื่อสื่อสารในทุกปี” สมเจตนา กล่าว
- 3แนวทางคู่ค้าร่วมลดก๊าซเรือนกระจก
การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของเครือ มาจาก 3 แนวทาง 1. ลดการปล่อยจากทางตรง ทางอ้อม และทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทั้งจากการซื้อสินค้าและบริการ การขนส่ง การจัดเก็บ รวมถึงของเสียจากการดำเนินงาน 2. สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด และ 3. การดูดซับคาร์บอนด้วยการปลูกต้นไม้และรักษาพื้นที่ป่าเพิ่มดูดซับคาร์บอนด้วยการเพิ่มปริมาณต้นไม้ เพื่อให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกสุทธิกลายเป็นศูนย์ให้ได้
ในส่วนของภาคเอกชนต้องพัฒนากระบวนการผลิตให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด เพื่อให้ไปถึงมาตรฐานสิ่งแวดล้อมเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ภาครัฐ ควรดำเนินนโยบาย วางกฎกติกาต่างๆ ที่จะเอื้อให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยลดโลกร้อน พัฒนาเกี่ยวกับงานวิจัยอันนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก ภาคประชาชนหรือทุกคนต้องตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องลดโลกร้อน ลดก๊าซเรือนกระจก ต้องเห็นคุณค่าสินค้าหรือบริการที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม