เช็คที่นี่!รวมทุกสูตรฉีดวัคซีนโควิด "วัคซีนสูตรไขว้"-"ฉีดกระตุ้นเข็ม3"
รวบรวมทุกสูตรฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย "วัคซีนสูตรไขว้" - "ฉีดกระตุ้นเข็ม3" เข็ม1 เข็ม 2 และเข็มชนิดไหนฉีดได้ฉีดไม่ได้ พร้อมคำแนะนำการฉีดวัคซีนแต่ละชนิด
ปัจจุบันประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว กว่า 77 ล้านโดส (28 ก.พ. - 4 พ.ย. 2564) ใน 77 จังหวัด โดยมีการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ไปแล้ว 30 ล้านโดส ซึ่งสวัคซีนสูตรไขว้ในประเทศไทยนั้น มีทั้งหมด 3 สูตร ได้แก่ สูตรซิโนแวค- แอสตราเซนเนก้า สูตรแอสตราเซนเนก้า-ไฟเซอร์ สูตร ซิโนแวค-ไฟเซอร์
- สูตรใหม่!วัคซีนสูตรไขว้-เข็มกระตุ้น
ตามที่คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็ม 3 โดยระบุว่าให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ทั้ง วัคซีนไฟเซอร์ และวัคซีนโมเดอร์นา เป็นเข็มที่ 3 ได้ สำหรับผู้ที่ฉีดแอสตร้าเซเนก้าครบ 2 เข็มแล้ว โดยมีระยะห่างจากเข็มที่สอง 6 เดือน พร้อมข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่จะฉีดวัคซีนโมเดอร์นา รวมถึงการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า” กับ “วัคซีนไฟเซอร์”
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ประชุมเมื่อวันที่ 4 พ.ย. และมีมติซึ่งนำเสนอต่อศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นชอบให้ไปดำเนินการ คือคนรับวัคซีนเข็มกระตุ้นกรณีรับแอสตร้าฯ 2 เข็ม ให้กระตุ้นเข็ม 3 ระยะห่าง 6 เดือนขึ้นไปหลังเข็ม 2 ได้
ดังนั้น คนที่ฉีดแอสตร้าฯ ครบช่วง พ.ค. – มิ.ย. ขอให้ไปรับเข็ม 3 ตามความสมัครใจที่ รพ.ใกล้บ้าน แต่ไปลงทะเบียนก่อน เพื่อไม่ให้แออัด โดยแสดงความจำนงต้องการฉีดล่วงหน้า แต่หากที่ใดมีความพร้อมก็ฉีดได้เลย ซึ่งสามารถรับได้ทั้งไฟเซอร์ซึ่งเป็นวัคซีนหลักของประเทศ หรือคนที่จองโมเดอร์นาไว้ก็ฉีดได้เนื่องจากเป็น mRNA เหมือนกันหรือขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์อีกชั้น
- ฉีดสูตรไขว้แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์
กรณีฉีดวัคซีนเข็มแรก เช่น แอสตร้าเซนเนก้า มีอาการไข้สูง ท้องเสีย เป็นไข้หลายวัน จนไม่อยากฉีดเข็ม 2 หรือแพทย์พิจารณาว่ามีอาการข้างเคียงค่อนข้างมาก ให้เปลี่ยนเป็นชนิดอื่นต่อไป คณะอนุฯ มีมติว่า กรณีแพ้วัคซีนขอให้เปลี่ยนชนิดวัคซีนได้ กรอบการฉีดเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น แอสตร้าฯ แล้วแพ้มีอาการรุนแรงฉีดอีกเข็มไม่ได้ ก็ฉีดไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาได้
แต่ไม่แนะนำเป็นซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม เพราะไล่การฉีดจากเชื้อตาย ไวรัลเวคเตอร์และ mRNA แต่หากเข็ม 1 เป็นซิโนแวคแล้วแพ้ เข็ม 2 อาจใช้แอสตร้าฯ ได้
ส่วนคนที่แพ้ไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ก็จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ภายใต้ตามดุลยพินิจของแพทย์
- คำแนะนำฉีดสูตรไขว้ “โมเดอร์นา”
การฉีดโมเดอร์นา ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยาจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ระบุว่า การฉีดวัคซีนสูตร
- ซิโนแวค -โมเดอร์นา ระยะห่างระหว่าง เข็มที่ 1 กับเข็มที่ 2 จะอยู่ที่ 4 สัปดาห์
- แอสตร้าเซนเนก้า -โมเดอร์นา ระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 กับเข็มที่ 2 จะอยู่ที่ 4 สัปดาห์
- ซิโนฟาร์ม -โมเดอร์นา ระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 กับเข็มที่ 2 จะอยู่ที่ 4 สัปดาห์
- ไฟเซอร์ - โมเดอร์นา ระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 กับเข็มที่ 2 จะอยู่ที่ 4 สัปดาห์
ตามเอกสารกำกับยาผู้ผลิต คิดเสียว่าไฟเซอร์กับโมเดอร์นาเป็นชนิด mRNA เหมือนกัน ก็ฉีดทดแทนกันได้ อันไหนฉีดไฟเซอร์ได้ก็ฉีดโมเดอร์นาได้ ส่วนการฉีดกระตุ้นซิโนแวค 2 เข็มหรือซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ก็สามารถฉีดโมเดอร์นาได้ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปหลังเข็ม 2 และสามารถฉีดได้อายุ 12 ปีขึ้นไป
- ข้อดีของการฉีดวัคซีนสูตรไขว้
ข้อดีคือทำให้ฉีดวัคซีนครบสองโดสเร็วขึ้น ขณะที่ประสิทธิภาพไม่น้อยกว่าสูตรปกติ รวมถึงความปลอดภัยและผลข้างเคียงก็ไม่แตกต่างจากสูตรปกติเช่นกัน
สำหรับการฉีดวัคซีนจะดูตามปริมาณวัคซีนที่มีอยู่ และตามผลทางการวิจัยในไทย จุดเริ่มต้นของสูตรไขว้คือ ก่อนหน้าที่มีการระบาดในไทยมีสูง ซึ่งขณะนั้นสูตรหลักคือ แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ระยะห่าง 12 สัปดาห์ ซึ่งช้ากว่าการระบาดที่เป็นวงกว้าง
เมื่อมีผลการศึกษาจาก ศิริราช และจุฬาฯ พบว่า ถ้าฉีดวัคซีนซิโนแวค และตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ประสิทธิผลในห้องทดลอง จะพอๆ กับ แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม แต่ข้อดีคือฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น ขณะนั้นจึงมีสูตร ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า เป็นสูตรตรหลัก ซึ่งป้องกันการติดเชื้อได้ค่อนข้างมาก ลดเสียชีวิต และลดอาการป่วยหนัก
- กระตุ้นเข็ม 3 มีสูตรอะไรบ้าง?
การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็ม 3 สำหรับผู้ฉีดวัคซีนในแต่ละชนิดมีดังนี้
- ซิโนแวค - ซิโนแวค กระตุ้นด้วยโมเดอร์นา ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปหลังเข็มที่ 2
- ซิโนฟาร์ม - ซิโนฟาร์ม กระตุ้นด้วยโมเดอร์นา ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปหลังเข็มที่ 2
ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับผู้ที่รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม จะสามารถทำได้ดังนี้
- กระตุ้นเข็ม 3 ด้วย ไฟเซอร์ ระยะห่างประมาณ 6 เดือน ขึ้นไป หลังเข็มที่ 2
- กระตุ้นเข็ม 3 ด้วย โมเดอร์นา ระยะห่างประมาณ 6 เดือน ขึ้นไป หลังเข็มที่ 2
โดยเฉพาะผู้ที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม เมื่อช่วงเดือน พ.ค. หรือ มิ.ย. ระยะต่อไปสามารถขอรับวัคซีนไฟเซอร์ เป็นเข็มที่ 3 ด้วยความสมัครใจที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือแสดงความจำนงค์ได้ล่วงหน้า และหากโรงพยาบาลใดมีความพร้อมก็สามารถฉีดได้เลย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่มี ณ ขณะนั้น
เช่นเดียวกับผู้ที่จองวัคซีนโมเดอร์นาไว้แล้ว ก็สามารถรับเข็มที่ 3 ได้โดยมีระยะห่างประมาณ 6 เดือน ขึ้นไป หลังเข็มที่ 2
- ฉีดกระตุ้นเข็มเร็ว ภูมิคุ้มกันขึ้นได้ไม่ดี
ส่วนกรณีที่ต้องการฉีดเข็มที่ 3 เร็วกว่า 6 เดือน ในหลักการภาพรวมระยะห่างของการฉีดเข็มกระตุ้น มีปัจจัยอยู่ 2-3 อย่างคือ ถ้าฉีดเร็วเกินไปภูมิคุ้มกันจะขึ้นได้ไม่ดีนัก แต่ถ้าฉีดช้าเกินไปมีโอกาสที่ภูมิตกและติดเชื้อ ดังนั้นความช้าเร็วของการฉีดจึงสำคัญ คณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จึงแนะนำระยะห่าง 6 เดือน จึงเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด
ต่อมากรณี สำหรับผู้ที่จองวัคซีนโมเดอร์นาไว้ คณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค แนะนำว่า
- ระยะห่างระหว่างโมเดอร์นาเข็มที่ 1 กับเข็มที่ 2 จะอยู่ที่ 4 สัปดาห์ ตามเอกสารกำกับยาจากบริษัทโมเดอร์นา และสามารถใช้ได้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปี ขึ้นไป
- ข้อแนะนำผู้จะรับวัคซีนโมเดอร์นา
โดยแบ่งเป็นกรณีต่าง ๆ ดังนี้
1. คำแนะนำสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์มไปแล้ว 1 เข็ม
เนื่องจากวัคซีนซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม คือวัคซีนเชื้อตาย หากได้รับเพียง 1 เข็มจะไม่เพียงพอในการป้องกัน หรือลดความรุนแรงของโรคในระหว่างนี้ เพราะฉะนั้นควรได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างเร่งด่วนตามระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนเชื้อตายชนิดเดิม คือ ซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม เป็นเข็มที่ 2 หรือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่อาจจะได้รับการจัดสรร แต่หากไม่สามารถหาวัคซีนเข็มที่ 2 ระหว่างนี้ได้ ถ้าถึงกำหนดการได้รับวัคซีนโมเดอร์นา ควรได้รับวัคซีนโมเดอร์นาเป็นจำนวน 2 เข็ม
2. คำแนะนำสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว 1 เข็ม
แนะนำให้ท่านเข้ารับการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนโมเดอร์นา 1 เข็มหลังฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ไปแล้ว 1-3 เดือน อย่างไรก็ดี เนื่องจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ถ้าท่านต้องรอวัคซีนโมเดอร์นาเกิน 3 เดือน ขอแนะนำให้ท่านเข้ารับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 กระตุ้นไปก่อน โดยไม่ต้องรอวัคซีนโมเดอร์นา
3. คำแนะนำสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์มไปแล้ว 2 เข็ม
วัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ภูมิจะขึ้นได้ดีในระดับปานกลางถึงดี อย่างไรก็ตาม หลังฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้ว 2 เดือน ระดับของภูมิคุ้มกันจะเริ่มตกลงอย่างชัดเจนเกินร้อยละ 50 ในหลาย ๆ ประเทศที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม เป็นเข็มที่ 1 หรือ เข็มที่ 2 ต่างก็แนะนำให้ฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีน mRNA โดยแนะนำให้ฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วประมาณ 6 เดือน
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง และมีความสามารถในการหนีภูมิ การ กระตุ้นด้วยวัคซีนเข็มที่ 3 จึงมีความเหมาะสมในสถานการณ์ขณะนี้
โดยแนะนำให้ท่านรับฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนโมเดอร์นา 1 เข็ม หลังฉีดวัคซีนเชื้อตายซิโนแวค หรือซิโนฟาร์มเข็มที่ 2 ไปแล้ว 3-6 เดือน หรือเข้ารับการฉีดด้วยวัคซีนโมเดอร์นา 2 เข็ม หลังฉีดวัคซีนเชื้อตายซิโนแวค หรือซิโนฟาร์มไปแล้ว 2 เข็มนานเกิน 6 เดือน หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
4. คำแนะนำสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว 2 เข็ม
ผู้ที่ได้รับวัคซีนเอสตร้าเซนเนก้า ครบ 2 เข็ม ภูมิจะดีขึ้นมากและมีระดับที่สูงอยู่เป็นเวลานาน (ถ้าฉีดห่างกัน 8-12 สัปดาห์) พอที่จะต้านเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าได้ในระดับหนึ่ง และปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำที่แน่ชัดถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยเฉพาะ 6 เดือนแรกหลังจากได้รับวัคซีนเอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ยกเว้นผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
เพราะฉะนั้น หากท่านได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ครบ 2 เข็มก่อนเดือนตุลาคม 2564 ท่านสามารถรอวัคซีนรุ่นใหม่ปีหน้าได้ อย่างไรก็ตามหากท่านเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว และอายุมากกว่า 60 ปี ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มอาจจะไม่สูงมาก ขอแนะนำให้ท่านปรึกษาแพทย์ประจำตัวของท่าน ว่ามีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีน mRNA ภายในปีนี้หรือไม่
5. คำแนะนำสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า
ปัจจุบันยังไม่มีงานศึกษาวิจัยในคนไข้กลุ่มนี้ รวมถึงภูมิคุ้มกันหลังเข็มที่ 3 ว่าจะสามารถคงระดับสูงอยู่ได้นานเพียงใด คงต้องรอข้อมูลจากงานวิจัยในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ขอแนะนำว่าท่านสามารถรอหลังฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 3 อย่างน้อย 3 เดือนแล้วค่อยพิจารณาเรื่องการรับวัคซีนโมเดอร์นาอีกครั้ง
6. คำแนะนำสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ตามด้วยซิโนแวคหรือซิโนฟาร์มอีก 1 เข็ม
จากการศึกษาเบื้องต้นในประเทศจีนพบว่า หลังกระตุ้นด้วยวัคซีนซิโนแวคหรือซิโนฟาร์มเข็มที่ 3 เมื่อติดตามระดับภูมิคุ้มกัน พบว่าสูงขึ้น แต่ยังคงเป็นระดับที่ไม่สูงมากนัก และภูมิน่าจะต่ำลงได้เร็ว ตามข้อสังเกตที่พบจากการฉีดวัคซีนซิโนแวค
เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้การติดเชื้อรุนแรง และมีความสามารถในการหนีภูมิ หลังจากฉีดวัคซีนเชื้อตายเป็นการกระตุ้นในเข็มที่ 3 แนะนำให้ท่านฉีดวัคซีนโมเดอร์นา เป็นเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 หลังจากที่ได้รับเข็มที่ 3 ไปแล้ว 3-6 เดือน
7. คำแนะนำสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนเลย
เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้ารุนแรง หากท่านยังไม่ได้รับวัคซีนใด ๆ เลย ขอแนะนำว่า ให้ท่านหาวัคซีนในรูปแบบใดก็ได้ในระหว่างนี้ฉีดไปก่อน โดยควรรับวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม เพราะไม่ว่าวัคซีนชนิดใดก็ตาม ก็สามารถลดความรุนแรงของโรคได้
แต่หากท่านไม่สามารถรับวัคซีนจากที่ใดได้ เมื่อวัคซีนโมเดอร์นาเข้ามายังประเทศไทย ขอให้ท่านรับวัคซีนโมเดอร์นาให้ครบ 2 เข็ม โดยเว้นห่างกัน 1 เดือน
อ้างอิง:กรมควบคุมโรค , โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนลหนองแขม