จับสัญญาณ "น้ำทะเลหนุน" เตือนกรุงเทพฯเปราะบาง เสี่ยงจมไม่เกิน 10 ปี ?!
"น้ำทะเลหนุน" สัญญาณเตือนกรุงเทพฯ เปราะบาง กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งถึงปัจจัยใหญ่เสี่ยงน้ำท่วมพื้นที่รุนแรงไม่เกิน 10 ปี ?!
จากเหตุการณ์ "น้ำทะเลหนุนสูง" เข้าท่วมพื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา 6 จุดใน 5 เขต เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ยังเป็น 1 ใน 3 สาเหตุสำคัญส่งถึงกรุงเทพฯ อยู่ในภาวะเสี่ยงการเกิดน้ำท่วม นอกเหนือภาวะ "น้ำฝน-น้ำเหนือ" ในช่วงฤดูฝน
เหตุการณ์ "น้ำทะเลหนุนสูง" ครั้งนี้ ถึงแม้เป็นข้อมูลที่ กทม.ได้บันทึกรายงานไว้ที่ "แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครประจำปี2564" ของสำนักการระบายน้ำ กทม. แต่ภาพน้ำทะเลหนุนล้นตลิ่งเข้าท่วมถนนและบ้านเรือนประชาชน ยังคงมีคำถามคนพื้นที่ว่า เหตุใดระบบการแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าถึงไม่ทำงาน ?
โดยเฉพาะการได้ "ข้อมูล" คาดการณ์น้ำขึ้นแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดเดือน พ.ย.64 จาก "กรมอุทกศาสตร์" บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ มีตัวเลขคาดการณ์ "น้ำทะเลหนุนสูง" มากกว่า 1.2 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ในช่วงวันที่ 8-12 พ.ย.
ตัวเลขเดิมที่ถูกคาดการณ์ไว้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. จะมีน้ำขึ้นอยู่ที่ 1.33 ม.รทก. ถัดมาวันที่ 9 พ.ย. อยู่ที่ 1.31 ม.รทก. วันที่ 10 พ.ย. อยู่ที่ 1.29 ม.รทก. วันที่ 11 พ.ย. อยู่ที่ 1.26 ม.รทก. และวันที่ 12 พ.ย.อยู่ที่ 1.21 ม.รทก. แต่จากระดับน้ำที่ขึ้นจริงวันที่ 8 พ.ย. มีน้ำทะเลหนุนสูงเกือบ 2.4 ม.รทก. ทำให้เอ่อล้นตลิ่งและแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา
สำหรับภาวะ "น้ำทะเลหนุนสูง" จะมีช่วงน้ำทะเลหนุน "สูงสุด" ในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.ของทุกปี แต่นอกเหนือจากปัจจัยน้ำทะเลหนุน ยังพบปัญหากายภาพพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มตอนปลายแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะได้รับอิทธิพลจาก "น้ำเหนือ" ที่ไหลผ่าน และอยู่ภายใต้อิทธิพลการขึ้นและลงของน้ำทะเลบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมอ่าวไทย
อ่านที่เกี่ยวข้อง : เช็คจุดเสี่ยง "น้ำท่วม" กทม. ผลจาก "น้ำทะเลหนุนสูง" 8-12 พ.ย.นี้
ทุกครั้งที่ระดับน้ำทะเลขึ้นและลง จะมีผลต่อ "ระดับน้ำ" แม่น้ำเจ้าพระยาให้ขึ้นและลงตามกัน ทำให้ระดับน้ำที่ยกตัวสูงขึ้น จึงเข้าท่วมนอกพื้นที่แนวป้องกันริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือยกตัวข้ามแนวป้องกันตั้งแต่คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ ปากคลองชักพระ และคลองพระโขนง ตามแนวระยะทาง 87.93 กม.
กทม.ทำอะไรกับปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง?
ปัญหาน้ำทะเลหนุนทุกครั้ง กทม.จะป้องกันได้ 2 แนวทาง 1.เสริมแนวป้องกันน้ำล้นตลิ่งตามแนวริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและคลอง 2.ควบคุมดูแลประตูระบายน้ำ และปิดกั้นท่อระบายน้ำ ไม่ให้น้ำจากด้านนอกแม่น้ำเจ้าพระยา ดันเข้ามาในพื้นที่ชั้นใน แต่พื้นที่ชุมชนที่อาศัย "นอกแนวป้องกันน้ำท่วม" 11 ชุมชน 239 ครัวเรือนในพื้นที่ 7 เขต กทม.ต้องวางแนวกระสอบทรายเป็นแนวชั่วคราว ที่ความสูง 3 ม.รทก. จากเดิมที่วางแนวอยู่ที่ 2-2.5 ม.รทก.
สำหรับสถานการณ์ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง "น้ำทะเลหนุนสูง" ตลอดเดือน พ.ย. "ผู้ว่าฯ กทม." พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดน้ำทะเลหนุนอีกครั้งในช่วงวันที่ 20-26 พ.ย.นี้ โดยมีระดับน้ำจะเฉลี่ยประมาณอยู่ที่ 1.17 ม.รทก.
"กรุงเทพธุรกิจ" ได้ตรวจสอบข้อมูลจาก "กรมอุทกศาสตร์" ซึ่งวัด "ฐานน้ำ" บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเขตบางกอกใหญ่ กับตารางฐานน้ำขึ้นเต็มที่ประจำเดือน พ.ย.64 เฉพาะวันที่ 20-26 พ.ย. มีดังนี้
วันที่ 20 พ.ย. : น้ำขึ้นอยู่ที่ 1.15 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
วันที่ 21 พ.ย. : น้ำขึ้นอยู่ที่ 1.16 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
วันที่ 22 พ.ย. : น้ำขึ้นอยู่ที่ 1.17 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
วันที่ 23 พ.ย. : น้ำขึ้นอยู่ที่ 1.17 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
วันที่ 24 พ.ย. : น้ำขึ้นอยู่ที่ 1.16 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
วันที่ 25 พ.ย. : น้ำขึ้นอยู่ที่ 1.15 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
วันที่ 26 พ.ย. : น้ำขึ้นอยู่ที่ 1.13 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ขณะนี้ "อัศวิน" ได้สั่งให้สำนักงานเขต 19 แห่ง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (บางซื่อ ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางรัก สาทร บางคอแหลมยานนาวา คลองเตย พระโขนง บางนา ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ธนบุรี คลองสาน ราษฏร์บูรณะ บางพลัด) เร่งสำรวจจุดเสี่ยง เพื่อกำหนดแผนป้องกัน โดยเฉพาะแจ้งเตือนชุมชนริมน้ำและไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร ให้ยกของขึ้นที่สูงรับสถานการณ์ตลอดเดือน พ.ย.64
ไม่เกิน 10 ปีน้ำทะเลหนุนสูงรุนแรงกว่าเดิม
จากปัญหา "น้ำทะเลหนุนสูง" เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ยังมีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ออกมาระบุว่า อิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูงในปีนี้ รุนแรงกว่าในปี 2554 โดยในปี 2554 อิทธิพลน้ำเหนือมีสูงกว่า (จึงทำให้ช่วงเวลาน้ำท่วมทอดเวลายาว) แต่ในปีนี้มาในช่วงน้ำเกิดประมาณทุกๆ 2 สัปดาห์
"เหตุการณ์แบบนี้ในระยะสั้น หลังจากวันที่ 10 พ.ย. จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามช่วงประมาณวันที่ 21-24 พ.ย. น้ำทะเลจะหนุนสูงอีกครั้งหนึ่ง (แต่ระดับอาจจะต่ำกว่าวันนี้ประมาณ 0.20-0.30 m) และจะหนุนสูงสุดในปีนี้ (สูงกว่าวันนี้ประมาณ 0.10-0.20 m) ช่วงวันที่ 5-9 ธ.ค. ดังนั้นต้องเฝ้าระวังกันด้วย"
รศ.ดร.เสรี ระบุว่า ในระยะยาว (อาจไม่ถึง 10 ปี) เหตุการณ์แบบนี้จะเห็นชัด และรุนแรงมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน) โดย กทม.และปริมณฑลถูกประเมินโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเป็นหนึ่งในเมืองหลวงที่มีความเปราะบางสูงมาก
จากคำเตือน "รศ.ดร.เสรี" นั้นสอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่กายภาพของกรุงเทพฯ เป็นลักษณะแอ่งกะทะเนื่องจากแผ่นดินทรุด มีระดับความสูงต่ำของแต่ละเขตแตกต่างกัน โดยพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ยังพบว่ามีระดับต่ำกว่าคันกั้นน้ำ 3 ม.รทก. อาทิ ถนนมหาราช เขตพระนครอยู่ที่ 1.50 ม.รทก. หรือถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย อยู่ที่ 1.60 ม.รทก. (ตามภาพ) เมื่อเกิดภาวะศึก 3 น้ำ "น้ำทะเลหนุน-น้ำเหนือ-น้ำฝน" ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมถนนและพื้นที่ต่ำได้ทุกเมื่อ
ที่ผ่านมา "ผู้ว่าฯกทม" เคยเน้นย้ำแผนพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากปัจจัย "น้ำฝน" ตามที่ พล.ต.อ.อัศวินเคยบอกว่าเป็นห่วงมากที่สุด เนื่องจากจะกระทบกับปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้ทันที
แต่จากคำเตือน "รศ.ดร.เสรี" ครั้งนี้ กำลังส่งสัญญาณเตือนไปถึง กทม.ว่า "น้ำทะเลหนุนสูง" ไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า หน่วยงาน กทม.จะประมาทไม่ได้เช่นกัน.
อ่านที่เกี่ยวข้อง : เช็คลิสต์ 6 ปัจจัยเสี่ยง! ชี้ชะตาน้ำท่วมกรุง ต.ค.-ธ.ค.64