กรมการแพทย์แผนไทย ฯ เผย 2 ศาสตร์ การแพทย์ไทย – จีน ดูแลสุขภาพผู้ป่วยเบาหวาน
กรมการแพทย์แผนไทย ฯ เผย 2 ศาสตร์ การแพทย์ไทย – จีน ดูแลสุขภาพผู้ป่วยเบาหวาน
ชู มะระขี้นก จากงานวิจัยมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ์แผนจีน เน้น ฝังเข็ม นวดทุยหน่า ถั่ว 3 สี ออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) โรคเบาหวาน เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่สำคัญก่อให้เกิดปัญหาทางสาธารณสุขทั่วโลก สำหรับประเทศไทย จากข้อมูล Health Data Center : HDC ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า อัตราผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานรายใหม่ในปี 2564 เท่ากับ 486.21 ต่อแสนประชากร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 16.02 ต่อแสนประชากร และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจะพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ โรคเบาหวาน เกิดจากความบกพร่องของตับอ่อน และฮอร์โมนอินซูลินในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาการสำคัญที่สังเกตได้ด้วยตนเอง คือ ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน หิวบ่อย มีอาการชาปลายมือ ปลายเท้า บาดแผลหายช้า หากเกิดภาวะแทรกซ้อน อาจส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อม เกิดแผลกดทับติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะติดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการตามมา
ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย เน้นใช้พืชผักสมุนไพรพื้นบ้านที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดมาปรุงเป็นอาหาร คือ มะระขี้นก เนื่องจากในมะระขี้นกมีสาร charantin สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน และเสริมการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด นอกจากมะระขี้นกแล้ว ยังมีพืชสมุนไพรพื้นบ้านชนิดอื่นที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน อาทิ ผักเชียงดา, กะเพรา, ชะพลู, ตำลึง สำหรับเมนูอาหารที่แนะนำ เช่น ต้มจืดมะระขี้นก ยำมะระขี้นก มะระขี้นกผัดไข่ แกงเผ็ดมะระขี้นก มะระขี้นกลวกจิ้มน้ำพริก ในส่วนเครื่องดื่มที่แนะนำ คือ น้ำมะระขี้นกปั่น ทั้งนี้ ไม่ควรนำผลมะระขี้นกสุกมารับประทาน เพราะจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และระบบประสาททำงานผิดปกติได้ และในปัจจุบัน มะระขี้นกถูกขึ้นทะเบียนเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงมีความปลอดภัยในการบรรเทาอาการดังกล่าว
นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนศาสตร์การแพทย์แผนจีน จะมุ่งเน้นการปรับสมดุลของร่างกายเป็นหลัก เพื่อให้อวัยวะภายในทำงานปกติ เกิดสมดุลและสามารถสร้างอินซูลินได้มากขึ้น ซึ่งทำให้สามารถลดยาเบาหวานทางแพทย์แผนปัจจุบันลงได้ และการรักษาร่วมกับการแพทย์แผนจีนยังสามารถช่วยลดและป้องกันอาการข้างเคียงต่างๆ ที่เกิดร่วมกับโรคเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจรักษาด้วยยาสมุนไพรจีน การฝังเข็ม การนวดแบบจีน (ทุยหนา) สำหรับสูตรอาหารที่เหมาะกับการดูแลสุขภาพในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่อยากแนะนำและหาได้สะดวก โดยการนำถั่วเขียว 100 กรัม ถั่วดำ 50 กรัม และถั่วแดง 50 กรัม ต้มเป็นซุปดื่ม โดยถั่วเขียวช่วยลดความร้อน ขับพิษ ลดร้อนชื้น ขับน้ำ ถั่วดำ ช่วยบำรุงสายตา บำรุงเลือด ขับลม ขับน้ำ ล้างพิษ ถั่วแดง ช่วยขับน้ำ ลดอาการบวม ล้างพิษ ส่วนเรื่องการออกกำลังกาย ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนสะท้อนให้เห็นว่า การออกกำลังกายเป็นหนึ่งในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวานที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรออกกำลังกายเป็นประจำและอย่างเหมาะสม เช่น เดินเร็ว ไทเก็ก ว่ายน้ำ เป็นต้น
นายแพทย์ยงยศ กล่าวในตอนท้ายว่า หากประชาชนท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดรักษาโรคเบาหวาน สามารถสอบถามข้อมูลกับแพทย์แผนไทย ในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศได้ หรือสามารถสอบถามโดยตรงได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/dtam.moph และ ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line@DTAM