แนะภาครัฐสนับสนุนเงินทุน "เอสเอ็มอี" หลังเปิดประเทศสู้โควิด-19

แนะภาครัฐสนับสนุนเงินทุน "เอสเอ็มอี" หลังเปิดประเทศสู้โควิด-19

ม.นานาชาติแสตมฟอร์ด แนะทางรอดเอสเอ็มอี ปรับตัวอย่างไรเมื่อเปิดประเทศ พร้อมฝากภาครัฐสนับสนุนเงินทุน "เอสเอ็มอี" สู้โควิด – 19

จากนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาลวันที่ 1 พ.ย. 2564 เพื่อเปิดโอกาสรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว เพื่อกระตุ้นทุกฟื้นภาคการท่องเที่ยวประเทศไทยให้กลับมาเดินหน้าหลังจากที่ได้รับผลกระทบวิกฤตไวรัสโคโรน่าโควิด-19 เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา

โดยประเทศที่สามารถเดินทางเข้ามาได้ 45 ประเทศ + 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้แก่ ออสเตรเลีย ออสเตรีย บาห์เรน เบลเยียม ภูฏาน บรูไนดารุสซาลาม บัลแกเรีย กัมพูชา แคนาดา ชิลี จีน ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิสราเอล อิตาลี ญี่ปุ่น ลัตเวีย ลิทัวเนีย มาเลเซีย มอลตา เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ โปรตุเกส กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ สโลวีเนีย สาธารณรัฐเกาหลี สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

 

  • แนะทางรอดเอสเอ็มอีหลังเปิดประเทศ

ดร.สุทธิภัทร อัศววิชัยโรจน์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด กล่าวว่า การเปิดประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในด้านท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะสามารถเข้าสู่ประเทศไทยได้และเป็นการเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย เพราะรายได้หลักของประเทศไทยมาจากภาคธุรกิจการท่องเที่ยวมาเป็นอันดับ 1

ดังนั้น จะช่วยส่งผลต่อรายได้ของประชากรโดยรวมและต่อผู้ประกอบการรายย่อยให้เกิดการกระจายตัวเพิ่มมากขึ้น  ด้านเอสเอ็มอีหรือผู้ประกอบการรายย่อยควรปรับตัวในเรื่องของการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะภาคธุรกิจท่องเที่ยว ต้องเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของการตรวจวัดอุณหภูมิหรือการตรวจคัดกรอง การเตรียมเจลแอลกอฮอล์ให้มีความพร้อมต่อนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ตลอดจนศึกษานโยบายและมาตรการของรัฐต่อการรับมือในช่วงสถานการณ์โควิด - 19

แนะภาครัฐสนับสนุนเงินทุน \"เอสเอ็มอี\" หลังเปิดประเทศสู้โควิด-19

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรให้ข้อมูลที่อัพเดตกับนักท่องเที่ยวที่เข้าภายในประเทศไทยในการบริหารจัดการและตามเงื่อนไขต่างๆ  ที่สำคัญควรศึกษาความต้องการของนักท่องเที่ยวดังกล่าว ว่าต้องการมาท่องเที่ยวภายในประเทศไทยในรูปแบบของการพักผ่อน หรือการเดินทางมาเพื่อดำเนินธุรกิจ ซึ่งหากเข้าใจในบริบทที่แตกต่างจะสามารถจัดสรรและบริหารจัดการให้สอดคล้องกับนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

  • ฝากรัฐสนับสนุนเงินทุนเอสเอ็มอี

“จากการเปิดประเทศครั้งนี้ภาคธุรกิจที่จะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด คือ ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหารและธุรกิจโรงแรม เนื่องจากเมื่อทำการเปิดประเทศครั้งนี้ นำมาซึ่งนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาภายในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ภาคธุรกิจอื่นๆ ตามมา ทั้งในเรื่องของการจัดซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ในร้านอาหารและแรงงานภายในชุมชนของธุรกิจโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยว" อาจารย์คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด กล่าว

นอกจากนี้ อยากให้ภาครัฐควรออกมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการไทย โดยการให้เงินส่งเสริมในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นทั้งในเรื่องของอุตสาหกรรมโรงแรม  ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ควบคู่ไปกับการเปิดประเทศในครั้งนี้ เนื่องจากจะทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว สามารถมีเงินทุนในการสนับสนุนกิจการ หรือการเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจให้สามารถดำเนินต่อไปได้ในช่วงดังกล่าว

ที่สำคัญรัฐบาลควรมีนโยบายในการจัดสรรเงินทุนที่เข้าถึงได้ง่าย และลดเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ในการเสริมสภาพคล่องเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ดังกล่าว ประกอบกับการเตรียมความพร้อม เพิ่มความรู้ให้ผู้ประกอบการและแรงงาน ในการจัดอบรมเสริมสร้างอาชีพ เช่น ภาษาในการสื่อสาร เทคนิคการบริการกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นต้น