แนะวิธีการดูแลตนเองในกลุ่มผู้ป่วยโรคเนื้อเยื่อปอดอักเสบ หรือ ILD 

แนะวิธีการดูแลตนเองในกลุ่มผู้ป่วยโรคเนื้อเยื่อปอดอักเสบ หรือ ILD 

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก แนะกลุ่มผู้ป่วยโรคเนื้อเยื่อปอดอักเสบ หรือ ILD ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรปรับยา หรือหยุดยาเองโดยเด็ดขาด

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคเนื้อเยื่อปอดอักเสบ หรือ ILD Interstitial lung disease เป็นชื่อทางการแพทย์สำหรับเรียกกลุ่มโรคพบความผิดปกติทางปอด โรคเนื้อเยื่อปอดอักเสบ (ILD) เป็นโรคที่มีพยาธิสภาพในเนื้อเยื่อปอดซึ่งอยู่ระหว่างชั้นถุงลมและหลอดเลือดในปอด มีการเปลี่ยนแปลง เกิดมีเซลล์อักเสบ เซลล์มะเร็ง พังผืด น้ำ หรือเลือดสะสมบริเวณดังกล่าว

ในบางครั้งก่อให้เกิดเป็นรอยแผลเป็นหลงเหลืออยู่ภายในปอด ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนออกซิเจนทำได้ไม่ดีเหมือนปกติ การแลกเปลี่ยนก๊าซแย่ลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อย หายใจลำบากกว่าปกติ และมีออกซิเจนในเลือดต่ำ 

 

  • สาเหตุโรค ILD เกิดจากอะไรบ้าง

นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยกลุ่มโรค ILD มักมีอาการหายใจลำบาก เหนื่อย หรือพบอาการขณะทำกิจกรรมหรือออกกำลัง รวมทั้งมีอาการไอแห้งเรื้อรัง นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีโรคภูมิแพ้เนื้อเยื่อตัวเองอาจพบโรคกลุ่มเนื้อเยื่อปอดอักเสบร่วมด้วย โดยอาจมีอาการแสดงก่อนหรือหลังมีการพบความผิดปกติทางปอดแล้วก็ได้ อาการของโรคที่แพ้ภูมิตัวเองนั้นจะปวดตามข้อ ข้อติดขยับลำบากเกินหนึ่งชั่วโมงหลังตื่นนอน ผมร่วงผิดปกติ มีผื่นแพ้แสง กล้ามเนื้ออ่อนแรง มือเปลี่ยนสี เมื่อเจออากาศเย็น ปากแห้ง ตาแห้งผิดปกติ เป็นต้น

แนะวิธีการดูแลตนเองในกลุ่มผู้ป่วยโรคเนื้อเยื่อปอดอักเสบ หรือ ILD 

กลุ่มโรค ILD สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ คือ

กลุ่มแรก เป็นโรคที่เจอบ่อยที่สุดและจำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรคนี้ออกไปก่อนเสมอ คือ Connective Tissue Disease associalted ILD หรือโรคภูมิแพ้เนื้อเยื่อตัวเอง

กลุ่มที่สอง เกิดจากยาที่เคยได้รับในอดีตจนปัจจุบัน ทำให้เกิด Drug induced ILD เช่น ยาหัวใจ amiodarone           ยามะเร็ง bleomycin หรือแม้แต่ยารักษาภูมิแพ้ตัวเอง methotrexate rituximab

 

  • ย้ำแนวทางการรักษาปฎิบัติตามแพทย์

กลุ่มที่สาม เกิดจากการประกอบอาชีพ สารเคมีอันตราย เมื่อสูดหายใจเข้าไปในปอดระยะเวลานาน  อาทิ อาชีพที่มีการสัมผัสแร่ใยหิน ในการขุดเจาะเหมืองแร่ กระเบื้อง ซีเมนต์ ผ้าเบรก คลัทช์ ท่อน้ำ เหมืองเจียรหิน คอนกรีต ถ่านหิน รวมถึงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง เช่น นก ไก่ หรือเชื้อรา

กลุ่มสุดท้าย  คือ Idiopathic Interstitial  Pneumonia (IIP) คือ ILD ที่ไม่ทราบสาเหตุนั่นเอง ซึ่งแบ่งอีกหลายโรคที่พบบ่อย เช่นIdiopathic Pulmonary Fibrosis (IPF) หรือโรคพังผืดในปอดที่ไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น 

สำหรับแนวทางการรักษาโรคเนื้อเยื่อปอดอักเสบในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์  โดยแพทย์จะพิจารณาถึงสาเหตุของโรคร่วมกับความรุนแรงของผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มโรคนี้ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งการรับประทานยา การมาพบแพทย์ตามนัด รวมทั้งต้องหมั่นสังเกตตนเองหากมีอาการผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์ทันที ผู้ป่วยไม่ควรปรับยา หรือหยุดยาเอง พักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกกายภาพและฟื้นฟูสมรรถภาพปอด โดยผู้ป่วยควรรู้วิธีการออกกำลังกายและฝึกหายใจที่ถูกต้อง เพื่อลดอาการเหนื่อย ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดอักเสบ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และต้องควรควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกิน เพราะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจได้