"ฆาตกรรมในครอบครัว"พุ่ง เหตุหนีปัญหา แนะ 3 ส ดูแลสุขภาพจิต

"ฆาตกรรมในครอบครัว"พุ่ง เหตุหนีปัญหา แนะ 3 ส ดูแลสุขภาพจิต

หมอยงยุทธ เผยสถิติฆ่าตัวตายปี 2563 อัตรา 7.37 ต่อแสนประชากรต่อปี พบในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี มากสุด ระบุฆาตกรรมในครอบครัวพุ่ง เหตุหนีปัญหา เครียดสะสม แนะ 3 ส สอดส่อง ใส่ใจ ส่งต่อช่วยดูแลสุขภาพจิต

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพจิต ในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่าจากข้อมูลการฆ่าตัวตายของกรมสุขภาพจิตเมื่อปี 2563 พบใน อัตรา 7.37 ต่อแสนประชากรต่อปี เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเพื่อขึ้นสูงขึ้น และพบว่าวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ฆ่าตัวตายมากกว่า 5 ต่อแสนประชากรต่อปี

หากนับรวมคนหนุ่มสาวในอายุ 10-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายมากกว่า 3 ต่อแสนประชากร แต่ก็น่าเป็นห่วงเนื่องจากเป็นการสูญเสียก่อนวัยอันควร 

สำหรับสถิติทั่วโลกการฆาตกรรมในครอบครัวเป็น 1 ใน 2 ของการฆาตกรรมหมู่จึงนับว่ามีความรุนแรง

 

  • เปิดสาเหตุการฆ่าตัวตายและฆ่าคนในครอบครัว

สาเหตุหลักของการฆ่าตัวตายและฆ่าคนในครอบครัว มาจากคิดว่าจะเป็นการหนีความทุกข์ไปด้วยกัน และ ปัญหาสัมพันธภาพเมื่อจบชีวิตคู่ครองแล้วก็ฆ่าตัวตายเพราะรู้สึกผิดหรือคิดจะหนีความผิด

ทั้งนี้  เนื่องจากการฆาตกรรมในครอบครัว พบว่า ผู้กระทำผิดจะฆ่าตัวตายร่วมด้วย จึงนับรวมในปัญหาการฆ่าตัวตายเพื่อป้องกันด้วย 

  • ควรปรับวิธีการนำเสนอข่าว

"น่าตกใจอย่างมากที่สำนักข่าวบ้านเราเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็น ชีวประวัติ วิธีการ รวมถึงสรุปมูลเหตุของการฆ่าตัวตาย ทั้งหมดอย่างละเอียด" นพ.ยงยุทธ กล่าว

จากการศึกษาทั่วโลก พบข้อมูลที่น่าสนใจและตรงกันว่าการฆ่าตัวตาย เป็นพฤติกรรรมที่มีความสลับซับซ้อนซึ่งบุคคลมีความเครียดสะสม ไม่เพียงสาเหตุเดียวตามการสรุปของประเทศไทย

ย้อนกลับไปดู การนำเสนอข่าว การฆ่าตัวตายในต่างประเทศและทั้งโลก พบว่า ไม่มีการพาดหัวข่าวการฆ่าตัวตายที่สรุปสาเหตุหรือไม่แม้กระทั้งนำเสนอ ชื่อ นามสกุล หรือแหล่งข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงครอบครัวหรือคนใกล้ชิด เนื่องจากการกระทำดังกล่าวนำไปสู่การซ้ำเติมความสูญเสียต่อครอบครัวและบุคคลรอบข้าง ของผู้เสียชีวิตให้รู้สึกผิด เหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น

 

  • 3 ส ช่วยดูแลสุขภาพจิต ลดฆ่าตัวตาย

สำคัญที่สุด คือ การนำเสนอข้อมูลเพียงผิวเผินหรือผิดสาเหตุและอธิบายวิธีการโดยละเอียดกลุ่มเปราะบางที่กำลังมีปัญหาแบบเดียวกับผู้เสียชีวิต การนำเสนอข้อมูลดังกล่าวสามารถกระตุ้นให้กระทำการแบบเดียวกันได้ในกลุ่มเปราะบางเนื่องจากคิดว่าเป็นจุดจบหรือทางออกของปัญหา ภาษาอังกฤษเรียนว่า Copy Cat การฆ่าตัวตายเลียนแบบ 

กรมสุขภาพจิตไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าวมีระบบสายด่วนสุขภาพจิตที่เบอร์ 1323 ตลอด 24 ชม. และสถานบริการในสังกัดทั่วประเทศ รวมถึงการประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นผ่าน mental health check in ที่ https://checkin.dmh.go.th/

สำหรับบุคคลใกล้ชิดหากเริ่มสังเกตเห็นสัญญาณเตือนที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เช่น มักระบายความรู้สึกกับคนใกล้ชิดหรือ ใน Social Media โพสต์ข้อความแบบสั่งเสียเป็นนัย ๆ เช่น ขอโทษ ลาก่อน ไม่อยากอยู่แล้ว ความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน รู้สึกผิด/ล้มเหลวหมดหวังในชีวิต เป็นภาระผู้อื่น เป็นต้น 

หากเริ่มติดเหล้าสารเสพติด ประสบปัญหาในชีวิตรุนแรงและยาวนาน แยกตัวไม่พูดกับใคร อารมณ์แปรปรวน/ควบคุมอารมณ์ไม่ได้  

การช่วยเหลือสำคัญใช้หลักการปฐมพยาบาลทางใจ ดังที่กรมสุขภาพจิตเน้นมาโดยตลอด คือ หลัก 3 ส 

  • สอดส่อง มองหา ว่าใครเป็นผู้มีปัญหาโดยสามารถสังเกตุได้จากพฤติกรรม คำพูด การแสดงออกต่างๆ ดังตัวอย่าง ข้างต้น 
  • ใส่ใจ รับฟัง เข้าไปพูดคุย ซักถาม เพราะจะช่วยให้คนที่กำลังมีปัญหาให้มีสติและมีความรู้สึกตัวมากขึ้น กว่าการที่วนเวียนอยู่แต่เรื่องของตนเอง การปลอบใจว่า “อย่าคิดมาก” จะไม่เพียงพอสำหรับคนที่มีปัญหามาก ทั้งยังทำให้ไม่กล้าบอกเล่า 
  • ส่งต่อ เชื่อมโยง หาทางให้เขาได้รับการช่วยเหลือ จากหน่วยงาน เช่น โรงพยาบาล สถานีตำรวจ โดยพยายามชักจูง พาคนที่มีปัญหา ไปหน่วยงานเหล่านี้จะมีบุคลากร และระบบที่จะช่วยเหลือได้ถูกทาง