คลิก!วิธีดูแล "สุขภาพจิต" รับมือโควิด-19ในงานสัปดาห์สุขภาพจิต 1-7 พ.ย.นี้

คลิก!วิธีดูแล "สุขภาพจิต" รับมือโควิด-19ในงานสัปดาห์สุขภาพจิต 1-7 พ.ย.นี้

โควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพกาย เศรษฐกิจ รายได้ของแต่ละครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่ยังกระทบและสร้างบาดแผลต่อสุขภาพจิต สภาพจิตใจของผู้คนทุกเพศทุกวัยร่วมด้วย

“กรุงเทพโพลล์” โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “สุขภาพจิตคนไทยวันนี้ เป็นอย่างไร” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ เมื่อเดือนต.ค.2564 พบว่า เรื่องที่ทำให้สุขภาพจิตแย่ ทำให้เครียด วิตกกังวลมากที่สุด ร้อยละ 51.6 กลัวโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ รองลงมาร้อยละ 44.9 กลัวติดโควิด-19 ร้อยละ 43.1 รายได้ไม่พอจ่าย เป็นหนี้เป็นสิน และร้อยละ 31.7 ปัญหาการเรียน ลูกหลานเรียนช้า คุณภาพการศึกษา

ขณะที่ยูนิเซฟ ร่วมกับกรมสุขภาพจิต เผยผลการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทย ซึ่งเก็บข้อมูลจากเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวน 183,974 คน ที่ประเมินสุขภาพจิตตนเองผ่านแอพพลิเคชั่น Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิต ในช่วง 18 เดือนของการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 ถึง 30 ก.ย. 2564

พบว่า ร้อยละ 28 ของเด็กและวัยรุ่นมีภาวะเครียดสูง ร้อยละ 32 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ในขณะที่อีกร้อยละ 22 มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย สอดคล้องกับผลสำรวจของยูนิเซฟเมื่อปี 2563 พบว่า เด็กและเยาวชนจำนวน 7 ใน 10 คนมีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่กังวลกับรายได้ของครอบครัว การเรียน การศึกษาและการจ้างงาน

 

  • วัยรุ่นไทยฆ่าตัวตายอันดับต้นๆ

รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุว่า เด็กอายุ 10-19 ปี กว่า 1 ใน 7 คนทั่วโลกมีความป่วยทางจิตที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ และวัยรุ่นเกือบ 46,000 คนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สาเหตุหลักของการเสียชีวิตในวัยรุ่น

ในประเทศไทย การฆ่าตัวตายยังเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของวัยรุ่น ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่าเด็กและเยาวชนอายุ 10-29 ปี ราว 800 คน ฆ่าตัวตายสำเร็จในพ.ศ.2562 ในขณะที่ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กรมสุขภาพจิต ระบุว่า เด็กและวัยรุ่นอายุ 10-19 ปีกว่า 10,000 คน ได้โทรเข้าสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อขอรับคำปรึกษา โดยปัญหาสุขภาพจิตสำหรับวัยรุ่นที่พบมากที่สุดคือ ความเครียดและความวิตกกังวล ปัญหาความรัก และภาวะซึมเศร้า

คลิก!วิธีดูแล \"สุขภาพจิต\" รับมือโควิด-19ในงานสัปดาห์สุขภาพจิต 1-7 พ.ย.นี้

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของผู้คน เด็กและวัยรุ่นต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เด็กจำนวนหนึ่งอาจไม่สามารถปรับตัวกับการเรียนรูปแบบใหม่ได้จนเกิดผลกระทบต่อการเรียนและพัฒนาการได้หลายด้าน ทั้งผลกระทบที่มีต่อผู้ปกครองและครอบครัวก็ทำให้การเลี้ยงดูทำได้ไม่เต็มศักยภาพ ไม่สามารถใช้เวลาที่มีคุณภาพกับเด็กได้เพียงพอ

 

 

  • โควิด-19 ส่งผลให้เด็กปรับตัวไม่ทัน

ขณะเดียวกัน ปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปจากการเจ็บป่วย การเว้นระยะห่างทางสังคม การงดกิจกรรมนอกบ้าน และการสวมหน้ากากอนามัย สำหรับในเด็กวัยรุ่นนั้น พบว่ามีความเครียดสูงมากขึ้น เข้าสังคมลดลง ติดจอและเกมออนไลน์มากขึ้น ปัญหาทะเลาะเบาะแว้งและความรุนแรงในครอบครัว จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายในบางรายอีกด้วย

นอกจากนั้น การขาดความรู้และความตระหนักในสุขภาพจิต ประกอบกับการตีตราและการขาดแคลนทรัพยากรด้านสุขภาพจิตส่งผลให้เด็กและเยาวชนจำนวนมากพลาดโอกาสที่จะได้รับการส่งเสริมให้มีสุขภาพจิตที่ดีหรือได้รับการช่วยเหลือเมื่อเผชิญปัญหาทางสุขภาพจิต

  • คลายเครียด ดูแลสุขภาพจิตใจ

“กรมสุขภาพจิต” ได้แนะนำ 6 วิธีคลายเครียดและดูแลสุขภาพจิตใจในช่วงโควิด-19 ระบาด เริ่มตั้งแต่

1.ลดการเสพข่าวที่สร้างความวิตกกังวลและบั่นทอนจิตใจต่าง ๆ

2.ระวังเวบไซต์ข่าวปลอม โดยหากต้องการติดตามข่าวสารการระบาดของ COVID-19 ให้ติดตามจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น เช่น เวบไซต์ WHO หรือกรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สามารถเฝ้าระวังและรับมือได้อย่างเหมาะสม

3.พูดคุยกับคนในครอบครัว เพื่อน คนรัก หรือคนที่ไว้ใจ เพราะช่วยให้คลายความรู้สึกกังวลหรือเครียดได้เป็นอย่างดี

4.พยายามรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำเยอะๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

5.ไม่ใช้บุหรี่ สุราหรือยาเสพติดอื่นๆ เพื่อจัดการกับความเครียด

6. หากคุณรู้สึกเครียดหรือรู้สึกวิตกกังวลจนหาทางออกไม่ได้ แนะนำให้ปรึกษานักจิตวิทยาหรือพบจิตแพทย์จะดีที่สุด

  • แนะพ่อแม่ควรดูแลสุขภาพใจลูก

รศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การดูแลสุขภาพจิตเด็กนั้น พ่อแม่ควรให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพและฝึกให้เด็กแบบพอดีๆ ไม่ควรรู้สึกกังวลจนเกินไป เพระเด็กจะรับรู้ความไม่มั่นคงทางอารมณ์ของผู้ปกครอง และส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้

สิ่งที่ควรทำคือ ผู้ปกครองควรช่วยจัดสรรเวลาให้เด็กได้พักผ่อนตามสมควร สนับสนุนให้ทำกิจกรรมเสริมที่สร้างสรรค์ เช่น ทำงานบ้าน ทำอาหาร เล่นกับสัตว์เลี้ยง ทำงานศิลปะ เล่นดนตรี หรือออกกำลังกายบ้างอย่างน้อยวันละ 30 นาที” รศ.นพ.ศิริไชย กล่าว

 ตลอดสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 1-7 พ.ย.นี้ กรมสุขภาพจิต ได้จัดสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ 2564 “สุขภาพจิตไทย วัดใจไปพร้อมกัน” ณ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ชั้น 4 โซนA กทม.พร้อมเปิดตัว www. วัดใจ .com ช่องทางสำหรับประชาชนในการวัดใจหรือตรวจสุขภาพใจของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

อีกทั้งจัดนิทรรศการความรู้ด้านสุขภาพจิตและกัญชาทางการแพทย์ การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต ได้แก่ บูธวัดใจ บูธวัคซีนใจ บูธคลินิกกัญชา และบูธการดำเนินงานด้านกัญชาทางการแพทย์ จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และยังมีสินค้า OTOP มากมาย

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์