เปิดผลวัดใจคนไทยช่วงโควิด-19 พบ 4 เรื่องใหญ่

เปิดผลวัดใจคนไทยช่วงโควิด-19 พบ 4 เรื่องใหญ่

สธ.เปิดผลวัดใจคนไทยช่วงโควิด-19  พบเกิดความเครียด ภาวะซึมเศร้า เสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย ภาวะหมดไฟ แนะช่องทางประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเอง

   วันนี้ (10 ตุลาคม 2564) กรมสุขภาพจิตจัดกิจกรรมวันสุขภาพจิตโลกประจำปี 2564 หรือ World Mental Health Day 2021 โดยในปีนี้กรมสุขภาพจิตพร้อมประสานความร่วมมือกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตของประเทศไทยอย่างครอบคลุม พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกัน “วัดใจ” โดยเห็นความสำคัญของการสำรวจทั้งทางกายและทางใจเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ด้วยสุขภาพจิตที่ดี

        ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข พยายามให้พี่น้องประชาชนหมั่นสำรวจอาการทางกายของตนเอง โดยเมื่อสงสัยว่าตนเองอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19 แล้ว นอกจากการตรวจชุดทดสอบโควิด ยังต้องวัดอุณหภูมิ วัดออกซิเจนปลายนิ้ว ซึ่งพี่น้องประชาชนหลายคนเริ่มเข้าใจการวัดสัญญาณทางกายต่างๆ นี้แล้ว แต่อยากให้เพิ่มเรื่องการ“วัดใจ” อย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปผ่านสามหมอ ขอช่วยวัดใจประชาชน รวมถึงทุก รพ.สต และโรงพยาบาลช่วยกันวัดใจประชาชนและตนเองด้วย

อ่านข่าว : ผลสำรวจสุขภาพจิต เรียนออนไลน์ทำเด็กภาวะหมดไฟ 
 

   บรรยากาศความรักและห่วงใยในสังคมจะเกิดขึ้น โดยหลังจากนี้จะเพิ่มเติมการเข้าถึงกลุ่มเด็ก วัยรุ่น    และวัยทำงานมากขึ้น โดยกรมอนามัยจะประสานกับกรมสุขภาพจิต เชื่อมต่อไปยังทุกโรงเรียนและสถานประกอบการ วัดใจนักเรียน   ครู ผู้ปกครอง นายจ้าง ลูกจ้าง ทั่วประเทศไทย และจะมีการติดตามผลลัพธ์อย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพจิตในโรงเรียน        และแรงงานต่อไปอยากให้พี่น้องประชาชนที่กำลังปรับตัวกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ หรือ new normal นั้น ให้ความสำคัญกับการประเมินสุขภาพจิตตัวเองให้เป็นกิจวัตรหนึ่งในแต่ละวัน ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้และในอนาคตด้วย

       นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากการที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ลงนาม  ในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการบูรณาการข้อมูลเพื่อคัดกรอง และค้นหาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน อันเนื่องมาจากโรคระบาดโควิด 19 ระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมสุขภาพจิต และบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด โดยผ่านแอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์

        เป็นเครื่องมือให้ อสม. ใช้คัดกรองสุขภาพจิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 จากข้อตกลงดังกล่าว อสม. ได้นำเครื่องมือการคัดกรองสุขภาพจิตไปคัดกรองประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงเดือนกันยายน 2564 จำนวน 1,010,632 คน

         พบว่า ประชาชนมีความเสี่ยงต่อการเกิดความเครียด ภาวะซึมเศร้า และเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งได้ประสานส่งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข   ดูแลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่โดยใช้กลไก 3 หมอ ให้การดูแล ช่วยเหลือ ฟื้นฟูสุขภาพใจของประชาชนได้ในพื้นที่แบบใกล้บ้าน ใกล้ใจ การที่ อสม. ดูแล “วัดสุขภาพใจของประชาชน” ในชุมชน เป็นการดูแลสุขภาพประชาชนแบบองค์รวมและรอบด้าน มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะทำให้เกิดความเข้มแข็งและปลอดภัยจากผลกระทบต่าง ๆ และผ่านพ้นภาวะวิกฤตทางด้านจิตใจ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการติดตามผลกระทบด้านจิตใจของประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วยระบบ Mental Health Check In หรือ เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการ “วัดใจ” โดยผลการวัดใจของประชาชนในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมานั้นถือเป็นช่วงที่ประชาชนมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตสูงสุดตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติ โดยมีภาวะเครียดสูง 45.5% เสี่ยงซึมเศร้า 51.5% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 30.6% และมีภาวะหมดไฟ 17.6% และเริ่มมีสถานการณ์ที่ดีมากขึ้นในปัจจุบัน โดยในเดือนกันยายน 2564 มีภาวะเครียดสูง 14.2% เสี่ยงซึมเศร้า 16.5% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.1% และมีภาวะหมดไฟ 6.0% แต่ในขณะเดียวกันนั้นยังไม่ถือว่าลดต่ำลงจนถึงระดับปกติ

          ซึ่งในช่วงเดือนเมษายน 2564 นั้นเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด โดยมีภาวะเครียดสูง 2.2% เสี่ยงซึมเศร้า 2.8% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 1.2% และมีภาวะหมดไฟ 4.2% โดยเมื่อกรมสุขภาพจิตทำการสำรวจแล้ว จึงสามารถให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ ได้ เช่น การจัดการความเครียด/อารมณ์ สุขภาพจิตศึกษา การให้คำปรึกษารายบุคคล/ครอบครัว การส่งต่อพบแพทย์รักษา รวมไปถึงการประสาแหล่งสนับสนุนทางสังคมอื่น ๆ เช่น สำนักทะเบียน     พม. กองทุนการศึกษาจึงจะเห็นได้ว่า การสำรวจด้านสุขภาพจิตนั้นมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประชาชนสามารถวัดใจตัวเองได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

        โดยกรมสุขภาพจิตวางแผนจะดำเนินการร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อบูรณาการการวัดใจให้เป็นส่วนหนึ่งในระบบการดูแลพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ร่วมกับระบบสามหมอที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คอยสนับสนุนการวัดใจตัวเองเป็นระยะ ก็จะทำให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้อย่างรวดเร็ว

        ทั้งนี้ประชาชนสามารถ “วัดใจ” ตัวเองได้ ผ่านช่องทาง https://checkin.dmh.go.th ซึ่งจะมีการประเมินผลวัดใจ มีคำแนะนำการดูแลที่เหมาะสมเบื้องต้น และสามารถให้บุคลากร กรมสุขภาพจิตติดต่อกลับได้เพื่อดูแลต่อเนื่องระยะยาว