เทียบ! 3ตัวยารักษาโควิด โมลนูพิราเวียร์-ฟาวิพิราเวียร์-ฟ้าทะลายโจร

เทียบ! 3ตัวยารักษาโควิด โมลนูพิราเวียร์-ฟาวิพิราเวียร์-ฟ้าทะลายโจร

ผลการทดลองยาโมลนูพิราเวียร์ที่บริษัทผู้ผลิตเปิดเผยออกมา เป็นยาเม็ดตัวแรกที่สามารถต้านไวรัสก่อโรคโควิด-19ได้ทุกสายพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน แล้วยาตัวใหม่นี้แตกต่างจากยารักษาโควิดที่ประเทศไทยใช้อยู่อย่างไร รวมถึง ฟ้าทะลายโจร

ยารักษาโควิดที่ไทยใช้อยู่ 

     นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามแนวทางหลักของการรักษาผู้ป่วยโควิด-19ในประเทศไทย มียารักษาโควิดที่ใช้ คือ  ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาเรมเดซิเวียร์ในคนที่กินยาฟาวิพิเราเวียร์ไม่ได้ เช่น ตั้งครรภ์ หรือกินอะไรไม่ได้ และแพทย์บางคนหลังจากใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ 5 วันไม่ได้ผล ก็เปลี่ยนเป็นยาเรมเดซิเวียร์เลย 
     นอกจากนี้ ก็ใช้ยาสเตียรอยด์ในช่วงที่มีการอักเสบ เพราะสามารถลดการอักเสบได้ และยากดภูมิคุ้มกัน ในช่วงที่มีไซโตไคน์สตรอม คือ ภาวะที่ร่างกายมีการอักเสบอย่างรุนแรงแล้วภูมิคุ้มกันร่างกายขึ้นสูง ก็ต้องใช้ยากดภูมิฯ ซึ่งหลายรายได้ผล แต่ต้องใช้จังหวะที่พอดี

อ่านข่าว : ส่อง 'ฉลากยา' ใช้ 'ฟ้าทะลายโจร' ต้านโควิด-19 อย่างปลอดภัย

โมลนูพิราเวียร์ยาต้านโควิด-19ตัวแรก

       นพ.สมศักดิ์  บอกถึงกลไกการออกฤทธิ์ของยาโมลนูพิราเวียร์ว่า ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัสก่อโรคโควิด-19 ชนิดเม็ดตัวแรก จะออกฤทธิ์ยับยั้งการจำลองตัวเองของเชื้อไวรัส ที่จะแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้ร่างกายต่อสู้ไม่ได้ ซึ่งไม่ได้ออกฤทธิ์ต่อตัวหนามของเชื้อไวรัสนี้ จึงทำให้ยับยั้งเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19ที่มีอยู่ในขณะนี้ได้ทุกสายพันธุ์ ทั้งดั้งเดิม เดลตา แกมมา หรือมิว เป็นต้น  

     ในการวิจัยของบริษัทผู้ผลิต  เป็นแบบสุ่มระยะที่ 3  MOVe-OUT Trial โดยใช้ยาในผู้ป่วยอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและยังไม่ได้รับวัคซีน   ให้ยาภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ คือต้องให้ยาเร็ว  รวมถึง เป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงอย่างน้อย 1 ปัจจัย คือ ภาวะอ้วน อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคมะเร็ง 

   จากข้อมูลการวิเคราะห์เบื้องต้น ในผู้ที่ได้รับยา  775 คน แบ่งเป็นได้ยาโมลนูพิราเวียร์ 385 คน และยาหลอก 377 คน โดยยามีขนาดเม็ดละ 200 มิลลิกรัม ให้ครั้งละ 4 เม็ด 800 มิลลิกรัม เช้า-เย็น รวมวันละ 1,600 มิลลิกรัมเป็นเวลา 5 วันรวม 40 เม็ด พบว่า  ลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาล และเสียชีวิตประมาณ 50 %  ไม่พบผู้เสียชีวิตในผู้ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ และเสียชีวติ 8 รายในผู้ที่ได้รับยาหลอก 

       อย่างไรก็ตาม ในการทดลองใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในผู้ป่วยที่มีอาการหนัก พบว่า ไม่ได้ผล จึงได้เลิกการวิจัย
 แนวทางใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในไทย 
     สำหรับแนวทางการจะใช้ยานี้ในประเทศไทย นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มียาโมลนูพิราเวียร์ออกมาใช้ เว้นในการศึกษาวิจัยเท่านั้น และถ้ามีการขึ้นทะเบียน ก็จะเป็นการใช้แบบฉุกเฉิน ส่วนแนวทางการให้ยาตัวนี้เมื่อมีเข้ามาในประเทศไทย จะต้องใหคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอีกครั้ง โดยจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณา ก่อนออกเป็นข้อกำหนดว่าจะให้มีแนวทางการให้ยาอย่างไร จะให้ร่วมกับยาฟาร์วิพิราเวียร์หรือไม่ หรือให้อย่างไร เพราะยานี้ออกฤทธิ์กลไกเดียวกับยาฟาวิพิราเวียร์

       ทั้งนี้ ตามข้อมูลเบื้องต้นที่บริษัททำการทดลองคือให้ในผู้ที่มีอาการน้อยถึงปานกลางร่วมกับที่มีปัจจัยเสี่ยง 1 ใน 5 ข้างต้น ส่วนหญิงตั้งครรภ์ ข้อมูล ณ วันนี้ ผลการศึกษาวิจัยยังไม่ครอบคลุม เด็กนั้นการศกึษาส่วนใหญ่ยังใช้ในผู้ใหญ่เป็นหลัก จึงต้องดูข้อมูลผลการวิจัยและการขึ้นทะเบียนยาอีกครั้ง

      ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ คาดการว่าจะเข้ามาในประเทศไทยราวช่วงพ.ย. 2564 หรือม.ค. 2565  โดยมีการหารือกับตัวแทนบริษัทยาในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และมีการยกร่างสัญญาจัดซื้อแล้ว  แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยจำนวนและราคาได้ เนื่องจากบริษัทเกรงจะกระทบถึงโควตาการจัดซื้อของประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางจะจัดซื้อในราคาที่ถูกกว่าประเทศรายได้สูง แต่จะแพงกว่าประเทศรายได้ต่ำ เป็นไปตามข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิต 

เทียบยาโมลนิพิราเวียร์ กับฟาวิพิราเวียร์ 

     นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ออกฤทธิ์ในกลไกเดียวกับยาฟาวิพิราเวียร์ คือ ยับยั้งไวรัส โดยยาโมลนูพิราเวียร์นั้นถูกออกแบบมา เพื่อเป็นการยับยั้งไวรัสก่อโรคโควิด-19โดยเฉพาะ  และได้ผลดีในผู้ที่มาอาการน้อยถึงปานกลาง ส่วนผู้ที่อาการหนักรักษาไม่ได้ผล โดยต้องให้ยาเร็ว ภายใน 5 วันตั้งแต่มีอาการ 

         ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่ยับยั้งไวรัสตัวอื่นๆ  ไม่ได้เฉพาะต่อไวรัสก่อโรคโควิด -19 และต้องให้ยาเร็วเช่นเดียวกัน  

         “ประสิทธิภาพยาโมลนูพิราเวียร์กับยาฟาวิพิราเวียร์ เปรียบเทียบกันยาก  เพราะว่ายาฟาวิพิราเวียร์ไม่ได้มีการทำการทดลองศึกษาวิจัยแบบที่ทำในยาโมลนูพิราเวียร์ คือ เอาคนไข้สมมติ 1,000 คน แล้วมาแบ่งครึ่งๆ ได้ยาฟาวิพิราเวียร์และยาหลอก เนื่องจากประเทศไทยต้องรีบให้ยาผู้ป่วย และไม่มีใครกล้าศึกษาวิจัยแบบนี้”นพ.สมศักดิ์กล่าว

เทียบโมลนูพิราเวียร์และฟ้าทะลายโจร
     ผู้สื่อข่าวถามว่าหากยาโมลนูพิราเวียร์ ได้ผลดีในผู้มีอาการน้อยถึงปานกลางแล้วจะแตกต่างจากการให้ยาฟ้าทะลายโจรอย่างไร  นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า คำแนะนำขณะนี้ ในการให้ยาฟ้าทะลายโจรนั้น จะให้ในผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการ  ส่วนที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์

         อย่างไรก็ตาม จะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอีกครั้งว่ายาที่ออกฤทธิ์ที่เดียวกัน ใช้ร่วมกันได้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมายาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์ที่เดียวกันแล้วใช้ร่วมกันก็มี เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์ที่เป็นการให้ยาสูตรคอกเทล

การใช้ฟ้าทะลายโจร
   กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19ว่า สารสกัดฟ้าทะลายโจรถือว่าเป็นยา ต้องใช้อย่างระมัดระวังภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ควรรับประทาน 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งวันละ 3 ครั้งต่อเนื่อง 5 วัน ส่วนเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไปรับประทาน 3.5-5 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งวันละ 3 ครั้งต่อเนื่อง 5 วัน ข้อห้ามใช้คือผู้ที่มีอาการแพ้ หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เพราะอาจกระทบทารกได้ ผู้ป่วยโรคตับและไตอาจทำให้ยาสะสมในร่างกาย เนื่องจากกำจัดยาได้ช้า รวมถึงผู้ที่รับประทานยาตัวอื่น เช่น วาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ยาลดความดันโลหิต