สธ.สิงคโปร์ยืนยันยาโมลนูพิราเวียร์พร้อมใช้หลังอนุมัติ
สธ.สิงคโปร์ยืนยันยาโมลนูพิราเวียร์พร้อมใช้หลังอนุมัติหากบริษัทเมอร์คยื่นเรื่องและได้รับอนุมัติจากสำนักงานวิทยาศาสตร์สุขภาพ (เอชเอสเอ)
เว็บไซต์สเตรทส์ไทม์สของสิงคโปร์ รายงาน กระทรวงสาธารณสุขแถลงวานนี้ (7 ต.ค.) ว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ทุกสายพันธุ์รวมถึงสายพันธุ์เดลตา อาจได้รับการรักษาด้วยยาโมลนูพิราเวียร์เร็วๆ นี้ หากบริษัทเมอร์คยื่นเรื่องและได้รับอนุมัติจากสำนักงานวิทยาศาสตร์สุขภาพ (เอชเอสเอ) ให้ใช้ได้ในสิงคโปร์ ดังนั้นกรอบเวลาในการอนุมัติจึงขึ้นอยู่กับว่าเมอร์คส่งข้อมูลให้เอชเอสเอเมื่อใด
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข จับตาความคืบหน้าในการรักษาโควิด-19 อย่างใกล้ชิดภายใต้สถานการณ์โควิดทั่วโลก การเพิ่มยาโมลนูพิราเวียร์เข้ามาเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาก็เพื่อให้มั่นใจว่า สิงคโปร์มีการรักษาครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยหลากหลาย
อย่างไรก็ตาม กระทรวงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้มากกว่านี้ เช่น ปริมาณยาที่จัดซื้อ เนื่องจากเป็นเรื่องอ่อนไหวทางการค้าและสัญญาซื้อขายเป็นความลับ
ขณะเดียวกัน วิทยาลัยสาธารณสุขฮาร์วาร์ดและโรงพยาบาลคิงส์คอลเลจ จัดทำรายงานวิเคราะห์ราคายาโมลนูพิราเวียร์ พบว่า เมอร์ค บริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐมีต้นทุนผลิตยาโมลนูพิราเวียร์เพียง 17.74 ดอลลาร์ต่อ 1 คอร์ส หรือราว 600 บาท แต่ได้คิดราคาจากรัฐบาลสหรัฐถึงคอร์สละ 700 ดอลลาร์ หรือราว 24,000 บาท ซึ่งสูงกว่าต้นทุนถึง 40 เท่า
รัฐบาลสหรัฐได้ทำข้อตกลงกับบริษัทเมอร์คเพื่อสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จำนวน 1.7 ล้านคอร์ส ด้วยวงเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์ โดยมีราคาคอร์สละ 700 ดอลลาร์และยา 1 คอร์สประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน
รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า ในช่วงเริ่มแรก รัฐบาลสหรัฐเป็นผู้ให้เงินทุนสนับสนุนแก่บริษัทเอกชนและหน่วยงานหลายแห่งในการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์เพื่อรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ แต่ต่อมาในเดือนพ.ค.2563 เมอร์คได้ซื้อลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการผลิตและจำหน่ายยาโมลนูพิราเวียร์แก่ประเทศต่างๆทั่วโลก
เมอร์คเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตา และสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 50%
การเปิดตัวยาโมลนูพิราเวียร์ของเมอร์คส่งผลให้ประเทศต่างๆทั่วโลกแห่จองซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จากเมอร์ค ซึ่งทางบริษัทคาดว่าจะสามารถผลิตได้ 10 ล้านคอร์สภายในสิ้นปีนี้ และจะทำให้เมอร์คมีรายได้จากการจำหน่ายยาดังกล่าวสูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.4 แสนล้านบาท