เช็ค 10 จังหวัด อัตราฉีด "วัคซีนโควิด-19" เข็ม 1 น้อยกว่า 50%
สธ. เผย 10 จังหวัด อัตราฉีด "วัคซีนโควิด-19" น้อยกว่า 50% สาเหตุจากหลายปัจจัย ขณะที่ 6 จังหวัด ฉีดครอบคลุมสูงอายุ โรคเรื้อรัง 80% ชี้ “นครพนม” หนึ่งในจังหวัดภาพรวมเข็ม 1 ต่ำ แต่อัตราฉีดกลุ่มเสี่ยง 607 สูง
วันนี้ (19 พ.ย. 2564) ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงข่าวความเคลื่อนไหวมาตรการ การป้องกันการควบคุมการระบาด โควิด-19 ในเรื่อง “วัคซีนโควิด-19” โดยระบุว่า ขณะที่ยอดการฉีดวัคซีน 87.6 ล้านโดส แปลว่ายังต้องไปต่ออีก 12.4 ล้านโดส เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่จะเห็น 100 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนพ.ย.
ซึ่งเรื่องนี้ทุกพื้นที่ ทุกจังหวัดให้ความสำคัญ และมีแนวคิดในการเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนได้อย่างไร โดยขณะนี้ ยอดการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 สะสม 46,248,417 ล้านโดส คิดเป็น 64.2% เข็มที่ 2 สะสม 38,421,936 ล้านโดส คิดเป็น 53.3% เข็มที่ 3 สะสม 2,984,551 ล้านโดส คิดเป็น 4.1%
สำหรับ พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวยังเน้นย้ำให้เป็นความพร้อมของประชาชนในพื้นที่ ต้องได้รับการฉีดวัคซีนในเปอร์เซ็นต์ที่สูง เช่นเดียวกับ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่ได้รับการฉีดอย่างกว้างขวางเพื่อต้อนรับแขกที่มาเยือน เพื่อความปลอดภัยทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว
ในส่วนของกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดเข็มที่ 1 ภาพรวมสะสม 79.5% ภาพรวมประชากรทุกจังหวัด เข็มที่ 85.1% เข็มที่ 2 คิดเป็น 72.2% อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ท่องเที่ยวถึงแม้เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มที่มีการฉีดครอบคลุมเมื่อเปิดให้มีการท่องเที่ยว อาจมีคนไทย แรงงาน จากพื้นที่อื่น ฝากให้ผู้ดูแลกิจการต่างๆ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับชุมชน ช่วยรายงานว่ามีแรงงานต่างด้าวมาใหม่หรือไม่ ให้ฉีดวัคซีนเพิ่มเติมต่อเนื่อง
- 10 จ.ฉีดวัคซีนต่ำสุด
สำหรับ 10 จังหวัด ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำสุด (วันที่ 28 ก.พ.-18 พ.ย.64) ได้แก่ นครพนม หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร กาฬสินธุ์ ยโสธร แม่ฮ่องสอน สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และชัยภูมิ อาจจะมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น จำนวนการติดเชื้อไม่มาก พี่น้องประชาชนบางส่วนคิดว่าความเสี่ยงต่ำ รอก่อน ถึงตอนนี้เราควรจะเห็นแล้วว่าทุกพื้นที่ตราบใดที่การฉีดวัคซีนยังต่ำมีโอกาสหากมีการเกิดคลัสเตอร์ อาจมีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ขอให้ประเมินความเสี่ยงและฉีดให้มากขึ้น
แต่หากมองในกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป หลายพื้นที่สามารถฉีดได้เกิน 70% ซึ่งเป็นข้อดี พื้นที่เหล่านั้น หากเจอการระบาดกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง จะมีอัตราป่วยหนักเสียชีวิต นอนโรงพยาบาลต่ำ ฝากให้พี่น้องประชาชนช่วยกันสื่อสาร หากท่านใดที่ลังเลใจ มีความไม่แน่ใจ สามารถติดต่อให้เจ้าหน้าที่ขยายความให้เกิดความเข้าใจ
- 6 จ. ฉีดครอบคลุม กลุ่ม 607 เกิน 80%
จังหวัดที่ฉีดครอบคลุมประชากร 607 ได้แก่ สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ โรคเรื้อรัง เกิน 80% มีทั้งสิ้น 6 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นครพนม สกลนคร กทม. เชียงใหม่ และสมุทรปราการ ทั้งนี้จะเห็นว่า นครพนม ถึงแม้ภาพรวมเข็ม1 จะต่ำ แต่ในกลุ่ม 607 ทำได้สูง ขอเป็นกำลังใจให้ประชากรกลุ่มอื่นให้มาฉีดเพิ่มให้ได้เปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้น
สำหรับความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำแนกตามจังหวัด และการได้รับวัคซีนตามเป้าหมาย ข้อมูลถึงวันที่ 18 พ.ย. 2564 พบว่า จังหวัดที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมเกิน 70% ขึ้นไปมี 11 จังหวัด ประกอบด้วย พื้นที่สีฟ้า ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ พังงา ภูเก็ต ระนอง จังหวัดอื่นๆ มีฉะเชิงเทรา ปทุมธานี สมุทรสาคร สงขลา
เร่งฉีด 100 ล้านโดส ใน 30 พ.ย.
อย่างไรก็ตาม จากเป้าหมายเดือนพ.ย.64 ฉีดวัคซีนโควิดให้ได้ 100 ล้านโดส เพื่อให้ประเทศกลับสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตทำมาหากินประกอบอาชีพไม่ติดขัด ซึ่งขณะนี้มีการติดต่อ และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและกทม. ได้รับทราบแนวทางดังกล่าว ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีผู้ว่าราชการเป็นประธาน โดยมีการระดมสรรพกำลังหน่วยงานต่างๆ สำรวจตรวจสอบว่ามีพี่น้องประชาชนจุดใดบ้างที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ได้อย่างทั่วถึง หน่วยงานฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.เคาะประตูบ้าน นอกจากนี้ หน่วยบริการ โรงพยาบาลจัดฉีดวัคซีนรับ walk in อำนวยความสะดวกเปิดรับนัดหมาย ที่สำคัญให้ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องวัคซีนสร้างความมั่นใจ เพราะข้อมูลชัดเจนว่า 80-90% ของคนเสียชีวิตคือไม่ได้รับวัคซีน แสดงว่าคนรับวัคซีนได้รับผลในการป้องกันการเสียชีวิต
- เสียชีวิตจากวัคซีน พบเพียง 4 ราย
นพ.เฉวตสรร ย้ำว่าวัคซีนปลอดภัยสูง ในการเฝ้าระวังอาการไม่ถึงประสงค์หลังการได้รับวัคซีนที่ต่อเนื่อง นับแต่ฉีดเข็มแรก ตั้งแต่ 28 ก.พ. 2564 รวบรวมต่อเนื่องมาตลอด มีข้อมูลการเสียชีวิตรายงานเข้ามา ซึ่งรวมทุกสาเหตุ เกือบทั้งหมดไม่ได้เกิดจากวัคซีนมีเพียง 4 รายเท่านั้น ที่เจอว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน มีการรายงานมาในระบบ 1,500 ราย แต่ที่มีข้อสรุป เอกสาร หลักฐานชัดเจน สรุปชัดเจน 1,000 ราย มีเพียง 4 ราย ที่สรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน โดย 2 รายมีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เกล็ดเลือดต่ำ และอาการแพ้รุนแรง ร่วมกับภาวะช็อก และมีอาการแพ้ที่มีอาการบวมลอก ที่ผิวหนัง นอกนั้นไม่เกี่ยวข้อง และมีบางส่วนยังรอข้อมูลเพิ่มเติมติดตามสาเหตุว่าเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลมีระบบการดูแลรักษา เมื่อมีอาการผิดปกติ สามารถกลับไปที่ รพ. ว่าหลังจากฉีดวัคซีน
“สิ่งสำคัญรัฐบาลมีระบบดูแลรักษา เมื่อไหร่มีอาการผิดปกติให้กลับไป รพ. และแจ้งรายละเอียดการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ยังมีการเยียวยาที่ไม่ต้องรอพิสูจน์ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน ดังนั้น ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่า มีระบบรองรับ และอาการรุนแรงเราก็มีการเฝ้าระวังอยู่แล้ว ส่วนอาการปวดศีรษะ ส่วนใหญ่หายได้เอง แม้กล้ามเนื้อหัวใจที่มีรายงานในนักเรียนก็พบว่าอยู่ในอัตราที่น้อยกว่าต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม หลังการฉีดวัคซีนขอแนะนำหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ เพราะบางกรณีมีจมน้ำเสียชีวิต ซึ่งสาเหตุไม่เกี่ยวกับวัคซีน โดยเราต้องขอแสดงความเสียใจเรื่องนี้” นพ.เฉวตสรร กล่าว
- จับตา 13 จังหวัด ติดเชื้อเกิน 100 รายต่อวัน
นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์โควิด 19 วันนี้มีผู้ป่วยรักษาหาย 7,655 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,855 ราย เสียชีวิต 55 ราย ผู้เสียชีวิตต่ำกว่า 100 ราย มากกว่า 2 สัปดาห์ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบและต้องใช้ท่อช่วยหายใจมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ พบจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น 13 จังหวัด เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อสูงกว่า 100 ราย ได้แก่ สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ขอนแก่น สระแก้ว นครราชสีมา สระบุรี อุบลราชธานี อุดรธานี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์