สธ. เผยผลรณรงค์ฉีด "วัคซีนโควิด-19" หญิงตั้งครรภ์ เสียชีวิตลดลง
สธ.เผย หลังรณรงค์ฉีด "วัคซีนโควิด-19" ใน "หญิงตั้งครรภ์" อัตราติดเชื้อ เสียชีวิตลดลง ต.ค. เสียชีวิต 10 ราย ส่วน พ.ย. ยังไม่พบเสียชีวิต ภาคใต้ ฉีดได้เยอะขึ้น ขณะที่อีสานอัตราฉีดหญิงตั้งครรภ์ยังน้อย
วันนี้ (19 พ.ย. 2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผอ.สำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย กล่าวว่า ในการระบาดของโควิดระลอก 3 มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อสูง 5,516 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกทม. ปริมณฑล รวมถึง ภาคใต้ ในจำนวนนี้คลอดแล้ว 3 พันกว่าราย โดยผ่าคลอด 53% ในจำนวนนี้มีทารกติดเชื้อ 238 ราย ที่เกิดจากแม่ติดเชื้อ เป็นการสัมผัสโดยตรงหลังคลอด คิดเป็น 7% ของจำนวนเด็กคลอด มีแม่เสียชีวิต 102 ราย ในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา ทารกเสียชีวิตตามแม่ 51 ราย
ล่าสุด ภายหลังการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิดในกลุ่ม หญิงตั้งครรภ์ ฉีดเข็ม 1 จำนวน 86,602 ราย เข็ม 2 จำนวน 66,784 ราย และเข็ม 3 จำนวน 1,009 ราย ทำให้จากที่เคยติดเชื้อสูง และเสียชีวิตสูงในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์ลดลง โดยในเดือน ต.ค. เสียชีวิตเพียง 10 ราย เดือนพ.ย. ติดเชื้อเหลือ 300 ราย ยังไม่มีรายงานเสียชีวิต
“หญิงตั้งครรภ์ ที่ติดเชื้อ โควิด-19 ทั้งหมด พบว่า 92 % ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าคนที่ฉีดครบ 2 เข็ม หรือ133 คนนั้น ไม่มีใครที่เสียชีวิตเลย และมีอาการเพียงเล็กน้อย ไม่มีปอดอักเสบต้อใส่เครื่องช่วยหายใจ แสดงให้เห็นว่าฉีดวัคซีนแล้วยังติดเชื้อได้ แต่ไม่มีอาการรุนแรง ปอดอักเสบ และเสียชีวิตแต่อย่างใด”
- ภาคใต้ ฉีดวัคซีนเยอะขึ้น
สำหรับ “ภาคใต้” พบว่ามีการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น อาจเพราะมีการระบาดเยอะ เช่น เขต 12 ฉีดได้เกิน 40% ขึ้นไป ปัตตานี ฉีดได้ทะลุเป้าหมาย คือ มากกว่า 75% เพราะมีการรณรงค์เชิงรุก แต่อีกหลายเขตฯ ทางภาคเหนือ อีสานยังฉีดในหญิงตั้งครรภ์น้อย ทั้งนี้ จากการคาดการณ์จำนวนหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 5 แสนคนต่อปี เมื่อตัดผู้ที่มีอายุครรภ์ 0-3 เดือนออกไป จะทำให้มีกลุ่มเป้าหมายอายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไปที่ต้องรับวัคซีนจำนวน 281,500 ราย
ขณะนี้ฉีดเข็ม 1 เพียง 86,602 คน คิดเป็น 30.8% เท่านั้น ยังเหลืออีกกว่า 70% ที่ต้องขอเชิญชวนให้เข้ามาฉีด เพราะหากไม่ฉีดแล้วเกิดการติดเชื้อจะเสี่ยงมีอาการรุนแรงได้ ขอยืนยันว่าวัคซีนที่รัฐจัดมาให้ฉีดนั้น เป็นวัคซีนที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และตอนนี้มีปริมาณเพียงพอ ไม่ว่าจะอยู่ที่จังหวัดไหนสามารถขอรับวัคซีนได้
ทั้งนี้ จากการสำรวจหญิงตั้งครรภ์ 2,000 คนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน 65% หรือ 2 ใน 3 ยังกังวลถึงอันตรายต่อทารก ซึ่งมีงานวิจัยทั่วโลก และการฉีดในหญิงตั้งครรภ์ที่ผ่านมา เช่น อเมริกาฉีดเป็นแสนๆ ราย ยังไม่พบผลกระทบต่อทารก ส่วนไทยฉีด 9 หมื่นรายพบแท้ง 5 ราย ทารกเสียชีวิตในครรภ์ 5 ราย คิดเป็น 0.5% แต่พิสูจน์แล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัคซีน ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบอุบัติการเกิดตามธรรมชาติที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน คือแท้งธรรมชาติ 10-15 % ดังนั้น ได้ข้อสรุปว่าจะเร่งฉีดให้ หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะพื้นที่สีแดงเข้ม หรือพื้นที่สีฟ้าที่เปิดให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเพื่อลดความเสี่ยง กรณีคนที่ยังกังวลและยังไม่ฉีดก็จะเร่งฉีดให้คนใน
- ศบค. ย้ำหญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องได้รับวัคซีน
ด้าน พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า หากแยกตามเขตสุขภาพ 1-12 พบว่า ตัวเลขหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับวัคซีน จังหวัดทางภาคใต้ เขต 12 กลับเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนสูงสุด อาจจะมาจากการรณรงค์ในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องและความร่วมมือของผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน
มีการรายงานเหตุผลว่า ที่คุณแม่ไม่ฉีดวัคซีน เพราะกังวลผลข้างเคียงจะเป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์ ซึ่งในข้อเท็จจริง ราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์ได้เน้นย้ำมาตลอด ว่าหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป จำเป็นต้องได้รับวัคซีน เพื่อความปลอดภัยของแม่และลูกด้วย
รวมทั้งที่ประชุมในวันนี้ เน้นย้ำว่า ขอให้ทุกพื้นที่ระดมฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกรมควบคุมโรคได้กระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่เรียบร้อยกว่า 10 ล้านโดส ถือเป็นปริมาณที่เพียงพอ ขอเน้นย้ำไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ให้เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้ครบและลงข้อมูลให้ครบ โดยเฉพาะ พื้นที่ห่างไกล ประชาชนไม่สะดวกมารับวัคซีนในพื้นที่จัดให้
"ขอให้ทุกจังหวัด มีกลยุทธ์ทั้งชักชวน เชิญชวนพี่น้องประชาชน มารับวัคซีนเพิ่มขึ้น เช่น เชียงใหม่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานว่ามีประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากศูนย์ฉีดวัคซีน ตอนนี้จังหวัดได้ปรับกลยุทธ์ ให้ผู้นำชุมชนจัดทีม เดินเท้า ตั้งจุดฉีดให้ใกล้บ้าน ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และสิ่งสำคัญ ต้องเน้นย้ำ การทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนด้วย" ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าว