“Loneliness Epidemic” การแพร่ระบาด “ความเหงา” ที่ทำร้ายเรามากกว่าที่คิด
Loneliness Epidemic หรือการระบาดของภาวะ "ความเหงา" คือภาวะที่ผู้คนรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว หรืออยู่ลำพัง จนส่งผลต่อภาวะจิตใจ และร่างกาย หลายประเทศชี้ว่าภาวะความเหงากำลังเป็นปัญหาใหญ่ในสังคม เริ่มพบเห็นปัญหานี้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ถ้ายังจำประโยคทองของ ‘เหมยลี่’ นางเอกภาพยนตร์เรื่อง ‘รถไฟฟ้ามาหานะเธอ’ ที่ฉายในปี 2009 ได้กล่าวไว้ว่า ‘ฉันเหงา ฉันกินข้าวคนเดียวมาเกือบ 2 เดือนแล้วนะเว้ย’ บางคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องขำๆ ก็แค่กินข้าวคนเดียวมันจะมีปัญหาอะไรนักหนา! แต่กลับกันในยุคที่เราต้องเว้นระยะห่างทางสังคม มาเกือบ 2 ปีจากโรคระบาด ทำให้การกินข้าวคนเดียวมันทรมานอย่างที่เหมยลี่กล่าวไว้จริงๆ
ภาวะการระบาดทางความเหงา หรือ Loneliness Epidemic ที่เกิดขึ้นในสังคมยุคนี้ ถูกนิยามว่าเป็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นกับคนหมู่มาก และกำลังจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ..แล้วความเหงามันทำร้ายเรายังไง? เป็นปัญหาร้ายแรงแค่ไหน? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ร่วมสำรวจมิติความเหงาไปด้วยกัน
ฉากเหมยลี่ จากเรื่องรถไฟฟ้ามาหานะเธอ (ที่มา: Kanin The Movie)
- ฉันเหงาเหลือเกิน ชาวโลก!
หากลงรายละเอียดที่ลึกลงไปพบว่า Loneliness Epidemic เป็นลักษณะของ ภาวะที่ผู้คนรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว หรืออยู่ลำพัง จนส่งผลต่อภาวะจิตใจ และร่างกาย หลายประเทศยกให้ภาวะความเหงาเป็นปัญหาใหญ่ทางสังคม ซึ่งถูกให้ความสนใจในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา และรุนแรงขึ้นอีกหลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเกิดภาวะสังคมโดดเดี่ยว โลกทุนนิยม และการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต
ในอดีตการลงโทษผู้คนด้วยการเนรเทศออกนอกเมือง นับว่าเป็นวิธียอดนิยม นั่นตอกย้ำว่าการได้เข้าสังคมเป็นการให้รางวัล ส่วนความเหงาที่ได้รับ(จากการเนรเทศ) คือบทลงโทษอันแสนสาหัส
ในปี 2018 มีผลสำรวจของผู้คนที่ตกอยู่ในภาวะเหงาและโดดเดี่ยว จาก The Economist and the Kaiser Family Foundation (KFF) พบว่า ผู้ใหญ่ในสหรัฐกว่า 22% กำลังรู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของ Cigna ที่บอกว่าคนสหรัฐมากกว่า 46% รู้สึกเหงามากขึ้น และอีกกว่า 47% สะท้อนว่าพวกเขารู้สึกถูกทอดทิ้งให้เผชิญกับความเหงา
ไม่ใช่แค่ชาวอเมริกันเท่านั้น แต่สภาวะความเหงานี้กำลังเกิดขึ้นกับผู้คนอีกหลายๆ ประเทศ เช่น มีชาวญี่ปุ่นในช่วงวัย 40 ปี จำนวนมากกว่าห้าแสนคนที่ไม่ได้ออกจากบ้าน หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอื่นๆ เลยอย่างน้อย 6 เดือน ขณะที่ในแคนาดามีสัดส่วนครอบครัวเดี่ยวมากกว่า 28% และทั่วสหภาพยุโรปก็ไม่ต่างกันมีสัดส่วนอยู่ที่ 34%
ความเหงาดูจะอ้างว้างมากยิ่งขึ้นเมื่อโรคระบาด Covid-19 มาเยือนชาวโลก จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดพบว่า คนสหรัฐว่า 36% กำลังรู้สึกโดดเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น โดยในกลุ่มคนหนุ่มสาวเหงามากขึ้นถึง 61% ในขณะที่แม่บ้านมีสัดส่วนอยู่ที่ 51% และคนทั่วโลกก็รู้สึกเช่นกันว่าการล็อคดาวน์ที่เกิดขึ้น ทำให้เข้าใจแล้วว่าความเหงามันทำร้ายเรามากกว่าที่คิด
แม้แต่นักจิตวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ ก็ออกมาให้ข้อมูลตรงกันว่า ความเจ็บปวดทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นเพราะความเหงานั้น นำไปสู่ภาวะความผิดปกติทางจิตเวชได้ เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ถ้าอาการหนักขึ้นก็อาจจะเข้าขั้นภาวะประสาทหลอน
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลบ่งชี้ด้วยว่า ภาวะความเหงาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในร่างกายมนุษย์ ส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ที่อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และอัลไซเมอร์ รวมถึงทำให้อายุขัยสั้นลงเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ประมาณ 15 มวนต่อวัน
- กระทรวงแห่งความเหงา ขจัดความโดดเดี่ยวมนุษย์
ยิ่งภาวะความเหงาในมนุษย์ทวีคูณมากขึ้นเท่าไร ความกังวลต่อภาวะสังคม ครอบครัว ไปจนถึงปัญหาสุขภาพระดับชาติ ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้นเท่านั้น ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศ เริ่มหาวิธีแก้ไขโดยการออกมาตรการและข้อกำหนดต่างๆ เพื่อปรับปรุงภาวะสุขภาพให้แก่ประชาชน
ข้อมูลจาก CMU School Of Public Policy ระบุว่า รัฐบาลอังกฤษได้ก่อตั้งกระทรวงแห่งความเหงา (Ministry of Loneliness) ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ตั้งแต่ช่วงปี 2561 ถือเป็นความพยายามในการรับมือกับปัญหาสุขภาวะทางจิต โดยเฉพาะความรู้สึกโดดเดี่ยวและความเหงาของผู้คนในช่วง COVID-19
ทั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์โควิดแพร่ระบาดอย่างหนักในอังกฤษ รัฐบาลได้ผ่อนปรนแนวทางการ "เว้นระยะห่างทางสังคม" เริ่มอนุญาตให้ประชาชนออกนอกบ้านได้มากขึ้น เช่น ออกกำลังกายได้วันละครั้ง เป็นต้น ด้านกระทรวงแห่งความเหงาก็ได้ออกนโยบายและดำเนินกิจกรรมควบคู่กัน อาทิ
โครงการความร่วมมือกับสำนักงานไปรษณีย์ และ The Royal Mail ที่สนับสนุนให้ผู้คนเขียนจดหมายถึงเพื่อน ครอบครัว และคนรู้จัก เพื่อให้รู้สึกว่าไม่มีใครถูกลืม และยังได้จัดสรรงบประมาณ 7.5 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 304.5 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรมป้องกัน รับมือ และจัดการกับการแพร่ระบาดของความรู้สึกโดดเดี่ยวและความเหงา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ การบริการโทรคุยกับผู้สูงอายุและคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง (Telephone Befriending) ซึ่งผู้โทรจะเป็นอาสาสมัครในกลุ่ม Poole Housing Partnership และการบริการส่งอาหารโฮมเมดช่วงคริสต์มาสแก่ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง โดยกลุ่ม Your Homes Newcastle ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการริเริ่มที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก
ในญี่ปุ่นก็มีการจัดตั้งกระทรวงแห่งความเหงาขึ้นมาเช่นกัน (เดือนกุมภาพันธ์ 2564) โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่า อัตราการฆ่าตัวตายของชาวญี่ปุ่นในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากที่สุดในรอบ 11 ปี ในขณะที่กระทรวงแห่งความเหงาของอังกฤษ เน้นการดูแลผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ แต่ญี่ปุ่นจะเน้นพันธกิจในการบรรเทาความโดดเดี่ยวและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้คนทุกกลุ่ม และทุกช่วงวัย
นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้จัดตั้ง Isolation/Loneliness Countermeasures Office เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของเยาวชนและการฆ่าตัวตายที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสด้วย ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 รัฐมนตรีกระทรวงแห่งความเหงา ได้วางแผนที่จะจัดประชุมฉุกเฉินร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ
- สินค้าขจัดความเหงา ระยะทางห่างไกลไม่ใช่ปัญหา!
ปัญหาภาวะความเหงาไม่ใช่ว่าจะแก้ไขได้ในระยะเวลาเพียง 1-2 วัน แต่ต้องมีการวางแผนแก้ปัญหาในระยะยาว และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน แต่หากใครต้องการคลายเหงาแบบด่วนจี๋ ก็มีผู้ประกอบการหลายเจ้าที่ผลิตสินค้าคลายเหงาออกมาตอบโจทย์ให้คนขี้เหงายุคนี้ ในแบบที่สมาร์ทโฟนก็เทียบไม่ได้
- HugShirt เสื้อเชิ้ตจำลองกอด : ที่คิดค้นโดย Francesca Rosella และ Ryan Genz ผู้ร่วมก่อตั้ง CuteCircuit เป็นเสื้อเชิ้ตที่อนุญาตให้ผู้คนส่งการกอดได้ในระยะไกล โดยเป็นเสื้อเชิ้ตที่มีการติดตั้งระบบเซนเซอร์ที่สามารถสัมผัสถึงแรงกอด ความอบอุ่นของผิวหนัง และอัตราการเต้นของหัวใจผ่านเสื้อได้
Hug Shirt ถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 2002 และได้รับรางวัลเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมแห่งปีโดย Time Magazine ในปี 2006 Hug Shirt เชื่อมต่อ Bluetooth กับสมาร์ทโฟนด้วยแอพพลิเคชั่น HugShirt
เสื้อ Hug Shirt สามารถบันทึกการกอด ส่งกอดไปยังอีกคนที่สวมใส่เสื้อ Hug Shirt ได้ด้วยเช่นกัน
- บริการ Kissenger : อุปกรณ์เลียนแบบจูบ เชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์ สามารถส่งจูบและรับจูบระยะไกลได้ มีความพิเศษคือ Kissenger จะวัดแรงกดบนส่วนต่างๆ ของริมฝีปากของผู้ส่งเพื่อจำลองการจูบนั้นบน Kissenger ของผู้รับ ส่วนปากของอุปกรณ์ทำจากซิลิโคน เปรียบเสมือนการจูบจริงอย่างใกล้ชิด แม้ตัวคนจูบจะอยู่ห่างไกลกัน
- GTBX-100 : หุ่นยนต์เสมือนจริงจากบริษัท Gatebox ที่ใช้เทคโนโลยีการแสดงภาพ และการตรวจจับเซนเซอร์เพื่อสร้างหุ่นยนต์เสมือนจริงที่สามารถโต้ตอบได้จริง เสมือนการได้พูดคุยกับคนจริงๆ มากที่สุด รวมถึงมีกล้องและเครื่องตรวจจับการเคลื่อนไหวสามารถลงบันทึกใบหน้าและจับการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งาน เพื่อให้หุ่นยนต์มีส่วนร่วมในการสื่อสารกับผู้ใช้ได้ดียิ่งขึ้น เช่น การยิ้มเมื่อเห็นหน้าของผู้ใช้หรือทักทายเมื่อกลับมาถึงบ้าน
---------------------------------------------
อ้างอิง : article.tcdc.or.th, theconversation.com, ncbi.nlm.nih.gov, newsroom.cigna.com, forbes.com, mcc.gse.harvard.edu, news.harvard.edu, edition.cnn.com, hrsa.gov, spp.cmu.ac.th, ssir.org, qub.ac.uk, mentalhealth.org.uk, wearabletechnologyinsights.com, theverge.com