“สายพันธุ์เดลตาย่อย”ครองไทย บางจังหวัดโควิด-19เป็นโรคประจำถิ่น

“สายพันธุ์เดลตาย่อย”ครองไทย บางจังหวัดโควิด-19เป็นโรคประจำถิ่น

 หัวหน้าศูนย์จีโนม รพ.รามา ระบุเดลตาสายพันธุ์ย่อยครองพื้นที่ไทย ขณะที่บางจังหวัดสุ่มตรวจไม่พบผลบวก เหตุโควิด-19กลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่บางจังหวัดยังเป็นขาขึ้น ส่วนสายพันธุ์ใหม่ B.1.640 ในยุโรป อำนาจยังไม่ทะลวงเดลตา  

  เดลตาพันธุ์ย่อยครองพื้นที่ไทย

         เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2564 ศ. ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า สายพันธุ์ไวรัสโคโรนา 2019 ที่ก่อโรคโควิด-19 ที่ครองพื้นที่ในประเทศไทย ขณะนี้เป็นสายพันธุ์ย่อยของเดลตา เป็นการกลายพันธุ์เล็กๆ น้อยๆ จากสายพันธุ์หลัก มีรายละเอียดเล็กน้อยที่แตกต่างทางพันธุกรรมเท่านั้น

      “ ตำแหน่งการกลายพันธุ์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหนามแหลม จึงไม่มีผลกับวัคซีน ทำให้ไม่น่ากังวล ยังเหมือนกับสายหลัก จึงไม่ได้มีการตั้งชื่อเรียกใหม่ ในประเทศไทยขณะนี้มีเดลตาครองพื้นที่ประมาณกว่า 90% อัลฟา 3% เป็นเดลตาสายพันธุ์ย่อยที่เรียกว่า AY จุดต่างๆ 2-3 สายพันธุ์จากทั้งหมดที่มีประมาณ 50 สายพันธุ์ย่อย  เช่น AY.30 ประมาณ 40% AY.39 ประมาณ 8%” 

จังหวัดที่โควิด-19เป็นโรคประจำถิ่น

       ศ. ดร.วสันต์ กล่าวด้วยว่า การติดเชื้อในประเทศไทย จังหวัดที่เคยเป็นพื้นที่สีแดงมาก่อน เช่น กทม. นนทบุรี สมุทรสาคร ปทุมธานี รวมไปถึงภาคใต้ สงขลา ยะลา เริ่มหาตัวอย่างผู้ติดเชื้อได้ยาก ที่ศูนย์จีโนมฯ มีความร่วมมือกับ 2 รพ.ที่จ.สมุทรสาคร และปทุมธานี ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามีการเก็บตัวอย่างเชื้อมาตรวจโดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างรพ.ละ 200 ตัวอย่าง ทั้ง 2 พื้นที่ยังไม่พบผลบวก

      “ไม่ได้หมายความว่าประชากรในพื้นที่นั้นไม่มีการติดเชื้อเลย แต่ถือว่ามีการติดเชื้อน้อยมาก  เนื่องจากการระบาดเลยจุดสูงสุดแล้วและลดลงมา จนสู่ภาวะเรียกว่าเป็นโรคประจำถิ่น พื้นที่กทม.ก็เป็นลักษณะเช่นนี้ ถือว่าอยู่ในช่วงขาลง”

           แต่เชียงใหม่หรือบางพื้นที่อาจจะพบการติดเชื้อเพิ่มอยู่ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เหลื่อมกัน ไม่ได้ติดพร้อมกันทุกจังหวัดทั้งประเทศ ดังนั้นเชียงใหม่ตอนนี้จะเหมือนกทม.เมื่อช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา หลายคนอาจใจร้อนมองว่าทำไมประเทศไทยไม่ผ่านวิกฤติสักที ความจริงผ่านไปแล้ว เพียงแต่จังหวัดไหนผ่านก่อนหลังเท่านั้น ไม่ได้ติดทั้งประเทศ เป็นการทยอยติด ซึ่งส่งผลดีต่อการควบคุม ทำให้กำลังบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ สามารถเคลื่อนตัวไปแก้ปัญหาจังหวัดที่ระบาดได้ หากทุกจังหวัดทั้งประเทศระบาดพร้อมกันจะยุ่ง

สายพันธุ์ใหม่ B.1.640ไม่ทะลวงเดลตา

           ศ. ดร.วสันต์  กล่าวอีกว่า จากการติดตามข้อมูลสายพันธุ์ใหม่ B.1.640 ที่พบในฝรั่งเศสนั้นควบคุมได้ ไม่มีการแพร่ระบาด ที่พบบางส่วนในสหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ สกอตแลนด์  อิตาลี มีจำนวนเพียงหลักหน่วย เนื่องจากการสัญจรไปมาของคน ถือว่าน้อยมาก  ขณะนี้ไม่ถือว่ามีการระบาด ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกหรือ WHO รวมถึง หน่วยงานควบคุมโรคแต่ละประเทศไม่จัดว่าเป็นการระบาดของสายพันธุ์นี้ เพียงแต่เฝ้าระวัง เพราะมีการกลายพันธุ์ที่แตกต่างไปจากสายพันธุ์เดลตา อัลฟา เบตา แกมมา  เปรียบเทียบเหมือนคนหน้าใหม่ที่สามารถติดต่อได้รวดเร็ว แต่ไม่สามารถฝ่าด่านเดลตาที่ครองพื้นที่ขณะนี้ได้  จากการที่หลายคนมีภูมิต่อเดลตาไม่มากก็น้อย ดังนั้นโอกาสที่สายพันธุ์ใหม่ B.1.640 จะมาเป็นดาวรุ่งจึงค่อนข้างยาก         

          ต้นกำเนิดสายพันธุ์ B.1.640 มาจากแอฟริกา จึงต่างจากสายพันธุ์ในยุโรป ในแอฟริกามีการระบาดเป็นหย่อมๆ เพียงแต่เราไม่รู้ เพราะไม่มีการนำตัวอย่างมาถอดรหัสพันธุรกรรม ทำให้หลบหลีกการตรวจจับได้ ดังนั้นหากมีคนจากแอฟริกาเดินทางมาก็สามารถที่จะนำสายพันธุ์นั้นๆ เข้ามาทำให้เป็นสายพันธุ์ใหม่ ทั้งที่ความจริงเป็นสายพันธุ์เก่าของแอฟริกาอยู่แล้ว  ซึ่งสายพันธุ์ B.1.640 ที่ระบาดในโรงเรียนแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส จุดเริ่มต้นก็มาจากคนจากแอฟริกาเดินทางมาเยี่ยมเยียน จึงแพร่ระบาดในวงแคบ อาจจะเป็นเพราะกลุ่มเด็กหรือประชาชนบริเวณนั้นยังไม่ฉีดวัคซีน หากได้รับวัคซีนครบโดส 2 เข็มโอกาสติดเชื้อยากมาก ประเทศไทยยังไม่พบสายพันธุ์ B.1.640

       “ทั่วโลกเริ่มเข้าสู่โหมดมองไปข้างหน้าที่เห็นว่าจะเป็นโรคประจำถิ่น อย่างสหรัฐอเมริการะบุหากประชาชนให้ความร่วมมือฉีดวัคซีน ปีหน้ารับรองจะเบาบางลงมาก ของไทยค่อนข้างมั่นใจดูจากกราฟข้อมูลต่างๆ ก็อยู่ในช่วงลง เนื่องจากเกิดภูมิคุ้มกันทั้งจากธรรมชาติและจากวัคซีน ทำให้การติดเชื้อน้อยลง”

          ศ. ดร.วสันต์  กล่าวด้วยว่า บางประเทศในยุโรปหรือสหรัฐฯ ที่มีการระบาดขณะนี้ เป็นการระบาดที่เป็นไลฟ์สไตล์อีกแบบ เนื่องจากทั้งสหรัฐฯ ยุโรปมีความเชื่อมั่นการใช้วัคซีนชนิด mRNA ที่มีประสิทธิภาพสูง ไม่มีวัคซีนรูปแบบอื่น จึงมีคนบางกลุ่มที่มองว่าการฉีดวัคซีนชนิด mRNA อาจจะเกิดผลข้างเคียงได้ ขณะที่ไม่มีวัคซีนทางเลือกอื่น จึงต่อต้านที่จะฉีดวัคซีน

       “ไม่เหมือนประเทศไทยมีหลายรูปแบบที่สามารถนำไปใช้ให้สอดคล้องกับบริบทสุขภาพ ทุกคนจึงอยากฉีดวัคซีน หรือในเยอรมนีมีสวัสดิการหลักประกันสุขภาพที่หากติดเชื้อก็ยังมีเงินใช้จากรัฐจึงไม่เดือดร้อน”

ตัวเลขติดเชื้อสมุทรสาคร-ปทุมธานี-เชียงใหม่

       จากที่ศ. ดร.วสันต์ ได้ระบุว่า โรคโควิด-19ในจ.สมุทรสาคร ปทุมธานี และกทม. กลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ขณะที่ในจ.เชียงใหม่ยังเป็นขาขึ้นนั้น  ผู้สื่อข่าวได้ติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในจังหวัดดังกล่าว ผ่านฐานข้อมูลของกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 22 พ.ย.2564 พบว่า 

     กทม.ติดเชื้อรายใหม่ 829 ราย  ค่าเฉลี่ย 14 วัน 874.4 รวม 14 วัน  12,242 ราย  เสียชีวิตใหม่ 6 คน

      จ.สมุทรสาคร  ติดเชื้อรายใหม่ 27 ราย  ค่าเฉลี่ย 14 วัน 51.6 รวม 14 วัน  722 ราย  เสียชีวิตใหม่ 1 คน
      จ.ปทุมธานี  ติดเชื้อรายใหม่ 32 ราย  ค่าเฉลี่ย 14 วัน 50.4 รวม 14 วัน  705 ราย  เสียชีวิตใหม่ 0 คน
      จ.เชียงใหม่ ติดเชื้อรายใหม่ 240 ราย  ค่าเฉลี่ย 14 วัน 398.6 รวม 14 วัน  5,580  ราย เสียชีวิตใหม่ 4 คน