ถึงเวลา “ผ้าอนามัย” ของจำเป็นของผู้มีประจำเดือนควรเป็นสวัสดิการหรือยัง ?
หนึ่งในสินค้าที่จำเป็นของผู้ที่มีประจำเดือนทุกคน คงหนีไม่พ้น “ผ้าอนามัย” ที่ปัจจุบันอยู่ในหมวดสินค้าควบคุมแม้ว่าจะมีหลายรูปแบบและหลายราคา แต่ยังมีคนบางกลุ่มที่เข้าถึงสินค้าประเภทนี้ได้ยากเนื่องจากราคาที่ค่อนข้างสูงหากเทียบกับค่าครองชีพ
เนื่องจากการเป็นประจำเดือนในแต่ละครั้งของผู้ที่มีประจำเดือนในแต่ละเดือนนั้นมีราคาที่ต้องจ่าย หากคิดง่ายๆ จากการสำรวจราคาผ้าอนามัยในร้านสะดวกซื้อที่เป็นแฟรนไชส์ทั่วประเทศ พบว่า ราคาผ้าอนามัยที่ถูกที่สุดอยู่ที่ห่อละ 12 บาท บรรจุ 4 ชิ้น และราคาผ้าอนามัยที่แพงที่สุดอยู่ที่ห่อละ 52 บาท บรรจุ 6 ชิ้น และข้อมูลจากโรงพยาบาลเปาโล ระบุว่า ผู้หญิงจะมีประจำเดือนเฉลี่ยคือ 6 วัน
โดยพบว่า มีผู้หญิงประมาณ 5% ที่มีประจำเดือนมาน้อยกว่า 4 วัน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลของ สสส. ระบุไว้อีกว่า ระหว่างที่มีประจำเดือนควรจะต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 2 – 4 ชั่วโมงเนื่องจากหากปล่อยไว้นานเกินไปนอกจากจะทำให้ไม่สบายตัวแล้ว ยังทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้มากจนอาจทำให้ติดเชื้อโรค (โดยเฉพาะหากใช้ผ้าอนามัยแบบสอด) จะมีไข้สูงและเกิดเป็นพิษ ช็อกตายได้ (Toxic Shock Syndrome) หรือ TSS
ดังนั้นถ้าหากจะคำนวณราคาที่ต้องจ่ายทุกครั้งเมื่อมีประจำเดือน ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเริ่มใช้ผ้าอนามัยตั้งแต่ 8 โมงเช้า จนถึง 2 ทุ่ม รวมเป็นเวลา 12 ชั่วโมง เท่ากับว่าในตอนกลางวันของวันนั้นจะต้องใช้ผ้าอนามัยรวมทั้งหมดประมาณ 6 แผ่น ตลอดระยะเวลาที่มีประจำเดือนทั้งหมด 5 วัน จะใช้ผ้าอนามัยสำหรับกลางวันรวม 30 แผ่น หมายความว่าถ้าเลือกใช้ผ้าอนามัยที่ถูกที่สุดคือ ห่อละ 12 บาท จะต้องซื้อทั้งหมด 8 ห่อ ราคา 96 บาท เพราะตอนกลางคืนจะใช้อีกแบบหนึ่งซึ่งมีราคาแพงกว่ามาก สรุปโดยเฉลี่ยสำหรับผู้ที่มีประจำเดือนส่วนใหญ่จะต้องเสียค่าผ้าอนามัยสำหรับใช้ตอนกลางวันรวมต่อปีจะอยู่ที่ประมาณ 1,152 บาท
นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างสำหรับผู้ที่มีประจำเดือนอยู่ในเกณฑ์ปานกลางและเป็นการคำนวณเฉพาะผ้าอนามัยแบบกลางวันเท่านั้น ยังมีผู้ที่มีประจำเดือนอีกหลายคนที่มีประจำเดือนมามากถึง 7 วัน อาจจะดูเป็นจำนวนเงินที่ไม่ได้มากนักแต่หากเทียบกับรายได้ขั้นต่ำแล้วยังถือว่าเป็นสิ่งที่ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงได้ยาก และเมื่อเข้าถึงได้ยากก็จะต้องทำให้พวกเขาเลือกว่าการซื้อผ้าอนามัยกับการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในแต่ละวันควรซื้ออะไรมากกว่ากัน เพราะในบางคนก็เลือกที่จะใช้ผ้าอนามัยเกินระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อนำเงินไปซื้อสินค้าจำเป็นอื่นๆ
นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญข้อแรกทำไมผ้าอนามัยจึงควรเป็นสวัสดิการพื้นฐานสำหรับผู้ที่มีประจำเดือนทุกคน เพราะผู้หญิงทุกคนมีประจำเดือน
ในหลายประเทศเริ่มมีการยกเลิกการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยไปจนถึงแจกฟรี ให้เป็นสวัสดิการกับประชาชน ตัวอย่างเช่น ประเทศในภูมิภาคเดียวกับเราก่อนนั่นก็คือ ประเทศอินเดีย ซึ่งถือว่ามีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านชนชั้นวรรณะค่อนข้างชัดเจน และมีการเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราสูงถึง 12% ซึ่งถือว่าสูงกว่าประเทศไทยเกือบเท่าตัว แต่ประเทศอินเดียมีการประกาศยกเลิกการเก็บภาษี 12% ในผลิตภัณฑ์สุขอนามัยทุกชนิดแล้ว หลังจากนักเคลื่อนไหวรณรงค์ติดต่อกันมานานหลายเดือน โดยการประกาศนี้เกิดขึ้นหนึ่งปี หลังจากที่รัฐบาลเก็บภาษีที่รู้จักกันในชื่อว่า GST ในสินค้าทุกชนิด รวมถึง การเก็บภาษี 12% ในสินค้าประเภทผ้าอนามัยด้วย แน่นอนว่าด้วยอัตราภาษีที่สูงลิ่วทำให้มีเด็กผู้หญิงประมาณ 4 ใน 5 ที่ไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้ และนี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการรณรงค์ยกเลิกภาษีผ้าอนามัยเกิดขึ้น โดยการรณรงค์ดังกล่าวใช้เวลาเพียง 1 ปี ก็ประสบความสำเร็จเนื่องจากมีผู้ลงชื่อร่วมสนับสนุนมากถึง 400,000 คน
ในด้านประเทศฝั่งยุโรป สหราชอาณาจักรเป็นประเทศล่าสุดที่ยกเลิกการเก็บภาษีผ้าอนามัยเมื่อ วันศุกร์ที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา โดยเลิกจัดผ้าอนามัยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และยกเลิกภาษีที่ต้องเก็บเพิ่มเติมหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าการมีอยู่ของภาษีผ้าอนามัยนั้นเป็นการกระทำที่เหยียดเพศ ซึ่งเดิมทีระบบภาษีของสหภาพยุโรปกำหนดว่า ผ้าอนามัยทั้งแบบแผ่นและแบบสอดจะถูกเก็บภาษีอย่างน้อย 5% เพราะถูกจัดว่าเป็นสินค้าสิ้นเปลือง แต่หลังจากสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) แล้ว รัฐบาลก็ประกาศยกเลิกภาษีดังกล่าวทันที
ต่อมาจะเป็นตัวอย่างประเทศที่มีการนำร่องแจกผ้าอนามัยฟรี เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับประชาชน โดยเริ่มจากประเทศต้นแบบที่ใช้เป็นกรณีศึกษาคือ สกอตแลนด์ซึ่งเป็นที่แรกในโลกที่จะมีผ้าอนามัยแบบต่าง ๆ ทั้งแบบแผ่นและแบบสอดให้บริการฟรี ภายหลังได้รับการโหวตเห็นชอบจากสภาฯ ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เห็นด้วย 112 เสียง งดออกเสียง 1 โดยไม่มีผู้คัดค้าน กฎหมายนี้เกิดขึ้นหลังจากการเรียกร้องว่า ผ้าอนามัยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่มีประจำเดือน และไม่ควรถูกเก็บภาษีในอัตราเดียวกับสินค้าฟุ่มเฟือย โดยมีผลสำรวจพบว่า ผู้หญิงกว่า 25% ในอังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์ ไม่สามารถไปทำงานหรือไปโรงเรียนได้ เพราะไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้ทันเมื่อเป็นประจำเดือน สำหรับผ้าอนามัยฟรี สามารถรับได้ที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย ร้านขายยา ศูนย์เยาวชน ฯลฯ สกอตแลนด์ประเมินว่า จะต้องใช้เงิน 9.7 ล้านปอนด์ต่อปี หรือประมาณ 400 ล้านบาท สำหรับอุดหนุนในส่วนนี้
และล่าสุดที่มีการแจกผ้าอนามัยฟรี เป็นสวัสดิการ อาจจะยังไม่ใช่ประเทศแต่เป็นเมืองแอนอาร์เบอร์ ในสหรัฐ ที่เตรียมแจกผ้าอนามัยทั้งแบบสอดและแบบแผ่นฟรี ตามห้องน้ำสาธารณะทั่วเมือง ด้วยเหตุผลว่าผ้าอนามัยไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย และควรมีบริการฟรีให้ผู้หญิงทุกคน แอนอาร์เบอร์ ในรัฐมิชิแกน กลายเป็นเมืองแรกในสหรัฐ ที่ผ่านกฎหมายกำหนดให้ห้องน้ำสาธารณะทั่วเมือง ต้องมีผ้าอนามัยทั้งแบบแผ่นและแบบสอด รวมทั้งกระดาษชำระและสบู่แจกฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย กฤษฎีกาฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2022 นี้กำหนดให้ห้องน้ำสาธารณะทั้งหมดที่อยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายน้ำประปา ต้องมีผ้าอนามัย รวมถึงผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์ กระดาษชำระ กระดาษทิชชู และสบู่ให้บริการประชาชนฟรี ซึ่งหากห้องน้ำไหนละเมิดกฎหมายจะต้องเสียค่าปรับ 100 ดอลลาร์ หรือประมาณ 3,300 บาท
ในประเทศไทยเองก็มีการเรียกร้องให้ยกเลิกภาษีผ้าอนามัยและให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการกันมาแล้วหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดมีการรวบรวมรายชื่อในโลกออนไลน์กว่า 26,000 รายชื่อ เพื่อยื่นต่อกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ (กมธ.เด็กฯ) ไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมาและ กมธ. ได้เรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าไปชี้แจงรายละเอียดก่อนที่จะรับเรื่องไว้เป็นวาระเร่งด่วนเพื่อพิจารณาถึงรายละเอียดและความเป็นไปได้ต่อไปในวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าออกมาให้เห็นว่ามีการดำเนินการไปถึงไหนอย่างไร ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เริ่มทยอยยกเลิกภาษีหรือแจกฟรีเป็นสวัสดิการกันไปแล้ว
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์