ออกแล้ว! ระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดเข็ม 3 นาน 3 เดือน พร้อมคำแนะนำกรณีฉีดเข็ม4
เปิดข้อมูลวัคซีนโควิด-19ในไทย โอกาสตายจากโควิดในคนไม่ฉีดวัคซีนสูงกว่าคนฉีด 60 % อัตราตายจากโควิดมากกว่าตายจากฉีดวัคซีนมหาศาล ฉีดเข็ม3แล้วภูมิคุ้มกันใน 3 เดือนยังคงนิ่ง ยังป้องกันได้
เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2564 ในการเสวนาวิชาการออนไลน์ ประเด็น “เปิดข้อมูล (ไม่) ลับ กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ” ตอน ร่วมเปิดใจ พร้อมไขทุกข้อสงสัย “วัคซีนโควิด 19 กับก้าวต่อไปของคนไทย”
เทียบโอกาสตายจากโควิด คนฉีด-ไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19
นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบัน กลุ่มแผนปฏิบัติการชาติฯ สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต ที่ตรวจพบเชื้อก่อโรคโควิด-19 และประวัติการได้รับวัตซีน จำแนกตามกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวนติดเชื้อ ไม่ได้ฉีดวัคซีน 6,559 ราย ฉีดวัคซีน 4,598 ราย ไม่ระบุ 28,019 ราย จำนวนผู้เสียชีวิต ไม่ได้ฉีดวัคซีน 1,100 ราย ฉีดวัคซีน 272 ราย และประมาณโอกาสการเสียชีวิตหากติดเชื้อ ไม่ได้ฉีดวัคซีน 16 % ฉีดวัคซีน 6 %
กลุ่มโรคเรื้อรัง จำนวนติดเชื้อ ไม่ได้ฉีดวัคซีน 1,343ราย ฉีดวัคซีน1,787 ราย ไม่ระบุ 2,180ราย จำนวนผู้เสียชีวิต ไม่ได้ฉีดวัคซีน 1,064 ราย ฉีดวัคซีน 327 ราย ไม่ระบุ 128 ราย ประมาณโอกาสการเสียชีวิตหากติดเชื้อ ไม่ได้ฉีดวัคซีน 79 % ฉีดวัคซีน 18 % ไม่ระบุ 5.8 %
กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ จำนวนติดเชื้อ ไม่ได้ฉีดวัคซีน 62 ราย ฉีดวัคซีน 31 ราย จำนวนผู้เสียชีวิต ไม่ได้ฉีดวัคซีน 1 ราย ฉีดวัคซีน 1 ราย ประมาณโอกาสการเสียชีวิตหากติดเชื้อ ไม่ได้ฉีดวัคซีน 1.6 % ฉีดวัคซีน 3.2 %
“จะเห็นได้ว่าฉีดวัคซีนดีกว่าไม่ฉีดแน่นอน ติดเชื้อแล้วโอกาสเสียชีวิตต่ำกว่า ส่วนในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่เห็นว่าตัวเลขใกล้เคียงกันนั้น เป็นเพราะกลุ่มนี้ยังมีการฉีดน้อย เมื่อมีการฉีดมากขึ้น ก็จะเห็นผลมากขึ้น เหล่านี้เป็นตัวเลขจริงของประเทศไทย”
อัตราตายจากโควิดสูงกว่าฉีดวัคซีนมหาศาล
เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยในส่วนที่เป็นกรณีร้ายแรงที่ต้องรายงาน แยกเป็น ซิโนแวค 1,876 รายคิดเป็น 7.47 ต่อแสนโดส ที่ได้รับพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน แพ้รุนแรง 37 ราย คิดเป็น 0.15 ต่อแสนโดส เสียชีวิต 1 ราย
แอสตร้าเซนเนก้า 2,326 ราย คิดเป็น 6.60 ต่อแสนโดส ที่ได้รับพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน แพ้รุนแรง 11 ราย คิดเป็น 0.03 ต่อแสนโดส ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน 4 ราย คิดเป็น 0.01 ต่อแสนโดส เสียชีวิต 2 ราย
ซิโนฟาร์ม 444 ราย คิดเป็น 3.43 ต่อแสนโดส ที่ได้รับพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน แพ้รุนแรง 1 ราย คิดเป็น 0.01 ต่อแสนโดส ไม่มีผู้เสียชีวิต
ไฟเซอร์ 333 ราย คิดเป็น 4.63 ต่อแสนโดส ที่ได้รับพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน แพ้รุนแรง 1ราย คิดเป็น 0.01 ต่อแสนโดส ไม่มีผู้เสียชีวิต กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ/เนื้อเยื่อหัวใจอักเสบ 8 ราย คิดเป็น 0.11 ต่อแสนโดส
“จากที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19สะสมในประเทศไทยไปแล้ว 80 ล้านโดส มีเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน 4 ราย เทียบเคียง เสียชีวิต 1 ราย จากฉีด 20 ล้านโดส แต่อัตราเสียชีวิตจากการติดโควิด-19 อยู่ที่ 1-2 % หรือ 1 ใน 100 ราย จะเห็นว่าอัตราตายจากการติดโควิด สูงกว่าตายหลังฉีดวัคซีนอย่างมาก”
ไทยฉีดวัคซีนโควิด-19เกินค่าเฉลี่ยทั่วโลก
ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า 9 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทย บุคลากรทางการแพทย์ ทำงานอย่างหนักในการให้บริการวัคซีนแก่ประชาชน เมื่อเทียบกับในต่างประเทส อัตราการฉีดวัคซีน เข็ม 1 หรือ 2 เข็ม ของประเทศไทยเกินค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยฉีดเข็ม 1 ได้ เกืออบ 60 % ประมาณ 50 % ได้เข็ม 2 แล้ว และฉีดเข็ม3แล้ว 5 % สัดส่วนชนิดวัคซีนที่ใช้ ชนิดเชื้อตายทั้งซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ประมาณ 50 % ไวรัลแว็กเตอร์ 40 % และmRNA
“ช่วงต้นปียังคาดการณ์ไม่ถูกว่าวัคซีนป้องกันโรคได้นานหรือต้องฉีดกระตุ้นซ้ำๆ เมื่อเทียบบทเรียนจากไข้หวัดใหญ่ 2009 จะเห็นว่าแม้ผ่านมา10 ปีแล้วก็ยังต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อยู่ และเมื่ออยู่ร่วมกับโควิดมา 2 ปี เห็นข้อมูลว่าคนที่ติดเชื้อ ภูมิคุ้มกันก็ลดลง หรือรับวัคซีแล้ว ภูมิก็ลดลง”
อย่างที่เห็นยุโรป อเมริกา เริ่มฉีดวัคซีนก่อนประเทศไทย จนกลางปี น่าจะผ่อนคลายได้แล้ว แต่ก็เกิดระบาดอีกระลอก เพราะสายพันธุ์เปลี่ยนเป็นเดลตา ,ภูมิคุ้มกันลดลง และหลายประเทศ ยกเลิกการใส่หน้ากาก หรือผ่อนคลายจนเกินไป
ผู้สูงอายุต้องกระตุ้นเข็ม 3 เร็วกว่า
ศ.พญ.ธันยวีร์ กล่าวอีกว่า หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ชุดแรก 2 เข็มแล้ว ภูมิจะขึ้นสูงและค่อยๆลดลง ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ตอนนี้ยุโรปและอเมริกาก็ยอมรับว่ากลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ แนะนำว่าเมื่อผ่านไป6 เดือนหลังเข็มสุดท้ายต้องฉีดเข็มกระตุ้น เพราะถ้าพลาดติดเชื้อเสี่ยงมีโรครุนแรง เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ต้องฉีดเป็นประจำ
“ภูมิคุ้มกันมี 2 แบบ คือ ภูมิที่ใช้ในการจับกับเชื้อ และภูมิคุ้มกันไว้ทำลายเชื้อโดยถ้ายับยั้งได้โรคก็จะไม่รุนแรง แต่หลังฉีดแล้วภูมิจะลดลงเรื่อยๆตามเวลาที่ผ่านไป
ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มภูมิเริ่มลดหลัง 3 เดือน"
งานวิจัยในประเทศอิสราเอลหลังได้รับวัคซีนไฟเซอร์ แบ่งเป็นกลุ่มอายุน้อยกว่า 45 ปี และมากกว่า 65 ปี จะเห็นได้ชัดว่าผู้สูงอายุ ต้องกระตุ้นเข็ม 3 เร็วกว่ากลุ่มอายุน้อยกว่า เพราะว่าตอนแรกภูมิแรกขึ้นได้น้อยกว่า เมื่อเวลาผ่านไปอัตราลดของภูมิพอๆกัน เมื่อใกล้ 6 เดือนภูมิที่สูงในผู้สูงอายุก็ลดลงมากแล้ว จึงแนะนำให้มีการกระตุ้นในผู้สูงอายุก่อน
สำหรับสูตรซิโนแวค 2 เข็ม และแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม จากการศึกษาในบุคลากรที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ พบว่า ซิโนแวค 2 เข็ม หลังฉีด 1 เดือนภูมิขึ้นได้ดีระดับหนึ่ง โดยถือว่าถ้าภูมิเกิน 68% ในการยับยั้งเชื้อถือว่าโอเค หลัง 3 เดือนภูมิตกลงมาก ดังนั้นการให้เข็มเสริมก็ให้เร็ว
แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ภูมิขึ้นได้สูง หลัง 1 เดือน ภูมิยังดีอยู่ ผ่านไ ป 3 เดือนภูมิจะเริ่มลดลงโดยราวครึ่งหนึ่งของประชากรที่ฉีดไปภูมิจะเริ่มลด
เทียบเคียงข้อมูลจากยุโรป หรืออเมริกา กับข้อมูลในประเทศไทย ก็มีการพูดถึงการฉฮีดเข็ม 3 แล้วด้วยเหตุผล 1.เชื้อเปลี่ยนเป็นเดลตา 3.วัคซีนสูตรที่ใช้เมื่อผ่านไป 3-6 เดือนภูมิเริ่มทยอยลดลง จึงให้ลำดับความสำคัญของกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรครุนแรงก่อน ในการฉีดเข็ม 3 ก่อน
ภูมิโควิดส่งต่อจากแม่ถึงลูกช่วง 3 เดือน
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ จะเข้าสู่ภาวะฉุกเฉิน เช่น คลอดก่อนกำหนด ผ่าตัดคลอดหรือไม่ ถ้ามีการติดโควิดในช่วงนั้น ทำให้การดูแลรักษาซับซ้อนขึ้นและมีผลกระทบต่อเด็ก แต่การให้วัคซีนจะทำให้แม่แข็งแรง คลอดปลอดภัย และภูมิส่งต่อถึงลูก ในช่วง 3 เดือนแรก เป็นภูมิคุ้มกันทุกอย่างที่แม่มีจะส่งต่อไปให้ลูก
ฉีดเข็ม3 หรือควรรอวัคซีนเวอร์ชั่นใหม่?
ถ้าเทียบเคียงไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสายพันธุ์ระบาดเปลี่ยนทุกปี และวัคซีนก็เปลี่ยนทุกปี ส่วนวัคซีนโควิด-19 จะฉีดเข็ม 3 หรือรอวัคซีนเวอร์ชันใหม่นั้น ข้อมูลของโมเดอร์นา หลังฉีด 100 ไมโครกรัม 2 เข็ม เมื่อกระตุ้นด้วย 50 ไมโครกรัม เปรียบเทียบว่ากระตุ้นด้วยสายพันธุ์เดิม หรือเปลี่ยนเป็นสายพันธ์แอฟริกาหรือผสม 2 สายพันธุ์ พบว่า แม้เป็นนสายพันธุ์ ดั้งเดิม สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันกลับขึ้นไปได้ 10 เท่ากับขงอเดิม
ตอนนี้ไม่ว่าวัคซีนอะไรก็ยังเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม ก็ยังใช้ได้สู้กับสายพันธุ์ไวรัสที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น คนที่จะฉีดเข็ม 3 ไม่ต้องรอวัคซีนสายพันธุ์ใหม่ พิสูจน์แล้วไม่จำเป็น เพราะการที่เคยฉีดวัคซีนแล้วร่างกายจำได้ กระตุ้นอีกครั้งหนึ่ง สามารถที่จะมีภูมิขึ้นไปสูงและป้องกันข้ามสายพันธุ์ได้
ฉีดเข็ม 4 หลังผ่านเข็ม 3 แล้ว 6 เดือน
ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยเข็มกระตุ้น ฉีดซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม ฉีดกระตุ้นด้วย แอสตร้าเซนเนก้า ศึกษาวิจัยในผู้ใหญ่อายุ 18-59 ปี จำนวน 100 คน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า
หลังฉีดกระตุ้น ภูมิคุ้มกันในการยับยั้งเชื้อ ภายหลัง 14 วัน, 1 เดือน ,3 เดือนภูมิค่อนข้างนิ่ง ยังสามารถป้องกันได้ดี ป้องกันเดลตาได้ 90 % แม้ผ่านแล้ว 3 เดือน แสดงว่าถ้าเคยมีการสร้างภุมิคุ้มกันแล้ว เข็มกระตุ้นยู่ได้นานกว่า 2 เข็มที่เป็นชุดแรก ทำให้มั่นใจว่า ฉีดเข็ม 3 ไปต่อเข็ม 4 รอถึง 6 เดือนได้ แต่เข็มที่ไม่ต้องรอเลยคือคนที่ยังไม่ได้เข็ม 1-2 และเข็ม 3 คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
แน้วโน้มเข็มกระตุ้นใช้ขนาดลดลง
สรุป คนที่ควรได้เข็ม 3 คือ กลุ่มเสี่ยงสูง ที่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อบ่อยๆ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มผู้ใหญ่สุขภาพแข็งแรงดี พิจารณาฉีดเข็ม 3 เมื่อได้รับวัคซีนมานานกว่า 6 เดือน
ระยะห่าง ในการให้วัคซีน แนะนำห่างกันทุก 6 เดือน เว้นแต่เข็มเสริมสำหรับกลุ่มที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ได้วัคซีนชุดแรกแล้วภูมิขึ้นไม่พอ อาจไม่ต้องรอถึง 6 เดือน
ควรเลือกวัคซีนเข็ม 3 ชนิดไหนดี
เข็ม 3 ที่ใช้ตอนนี้ จะเริ่มเป็นลักษณะไขว้ หากเดิมซิโนแวค ก็จะเป็นแอสตร้าหรือไฟเซอร์ เดิมเป็นแอสตร้าฯให้ข้ามเป็นmRNA เพราะว่าไขว้ไปเป็นเชื้อตายไม่ได้ผล ชนิดเชื้อตายเหมาะเป็นเข็มปูพื้น ไม่เหมาะเป็นเข็มกระตุ้น จึงควรเลือกระหว่างไวรัล แว็กเตอร์ หรือmRNA โดยต้องขึ้นกับสิทธิที่จะได้รับวัคซีนด้วย ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้แอสตร้า หรือไฟเซอร์ ถ้าเป็นโมเดอร์นาเป็นวัคซีนทางเลือก
“ประเทศไทยมีการใช้สูตรไขว้ กำลังมีงานวิจัยหลายงานวิจัยว่า เข็ม 3และเข็ม 4 จะใช้เท่าไหร่ที่จะพอดี ปริมาณวัคซีนที่จะจัดสรรให้ครบถ้วน และโอกาสเกิดผลข้างเคียง โดยเริ่มมีแนวโน้มว่าเข็มกระตุ้นจะใช้ขนาดที่ลดลง”