"ศิริราช" เตือน ธ.ค. เสี่ยงโควิดระลอกใหม่ หลัง "ยุโรป" กลับมาระบาดซ้ำ
ศิริราช เผย ยุโรป "โควิด-19" กลับมาระบาดซ้ำ แม้หลายประเทศฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มครอบคลุมประชากรจำนวนมาก ย้ำเดือน ธ.ค ช่วงเสี่ยง เทศกาล อากาศเย็นลง แนะหลีกเลี่ยง 3 เสี่ยง ได้แก่ บุคคลเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง เพื่อให้ "เปิดประเทศ" ปลอดภัย
ข้อมูล องค์การอนามัยโลก มีความกังวลในการแพร่ระบาดโควิด-19 ทวีปยุโรป เพราะขณะนี้สิ่งที่เกิดขึ้นหลายประเทศในยุโรป กลับระบาด มีการคาดการณ์ว่า หากไม่มีการจัดการอะไรเลย ในเดือน มี.ค. 65 อาจจะมีผู้เสียชีวิต มากกว่า 5 แสนราย หากวิเคราะห์เหตุปัจจัย ตั้งแต่ปีก่อนและปัจจุบัน จะพบว่าเมื่อมีการแพร่ระบาดในทวีปใดทวีปหนึ่ง ไม่นานจะกระจายไปทวีปอื่นตามมา
วันนี้ (25 พ.ย. 64) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช พยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานแถลงข่าว อัปเดทสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเด็น สถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19 ระลอกใหม่ใน ยุโรป โดยระบุว่า ข้อมูล ณ วันที่ 22 พ.ย. 64 การแพร่ระบาดใหญ่เกิดขึ้นในทวีปอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ส่วนยุโรปชัดเจนว่า ช่วงปลาย ส.ค.- กย. 64 เป็นต้นมา แนวโน้มสูงขึ้นไม่หยุด อัตราการระบาดในประเทศในยุโรปที่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ ออสเตรีย เนเธอแลน สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลี ก็ไต่ขึ้น โดย ต.ค. เป็นจุดเปลี่ยน สิ่งที่น่าห่วง คือ ยุโรปเข้าหน้านาว อากาศเย็นลงเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง ขณะที่ สถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ในเกณฑ์ค่อนข่างดี แต่ในปีที่ผ่านมาการระบาดลดลงในลักษณะนี้และกลับขึ้นมา
"เมื่อถอดบทเรียนการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ตอนนี้ทวีปยุโรป กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดรอบใหม่ หลายประเทศเปิดประเทศ มีการเดินทางมากขึ้น เตือนขอให้ระวัง เพราะเดือนหน้าเป็นเดือนช่วงเวลาของการเสี่ยงการติดเชื้อ"
ประเทศออสเตรีย
เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการติดเชื้อสูงสุด (รายใหม่ 925 ต่อหนึ่งแสน) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศ จนรัฐบาลใช้มาตรการ Lockdown มีการฉีดวัคซีนแล้ว 12,937,047 โดส ฉีดวันละ 97,929 โดส (ประซากร 9,078,699 คน) 70.3% ของประซากร ได้รับ 1 โดส 65.8% ได้ครบโดส และ 13.7% ได้โดสที่สาม ยังพบคนที่ไม่ใส่หน้ากากเยอะ ทำให้รัฐบาลกำชับมาตรการส่วนบุคคล การป้องกันตนเอง การใส่หน้ากาก และผลักดันการฉีดวัคซีน
สหราชอาณาจักร
กำลังเฝ้าติดตามสายพันธ์ Delta Plus (มีการกลายพันธ์ที่ตำแหน่ง E484K) ว่าจะมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นจากการฉีดวัดซีนหรือไม่ (ยังไม่มีหลักฐาน) รายงานใน The Guardian เมื่อ 16/11/2021 ผู้ป่วย COVID-19 ที่อยู่ในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) ทั่วสหราชอาณาจักร แทบทั้งหมดคือผู้ที่ยังไม่รับวัคชีนหรือรับไม่ครบ
ทั้งนี้ นอกจากตัวเลขติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น แม้จะมีการฉีดวัคซีนเยอะอัตราการเสียชีวิตก็เริ่มกลับไปในช่วง มี.ค. ที่ยังฉีดวัคซีนไม่มาก สื่อให้เห็นว่า วัคซีนที่กระตุ้นภูมิต้านทานไม่ได้ทำให้ภูมิสูงเป็นปี ปฏิกิริยาการตอบสนองจะอยู่ช่วงเวลาหนึ่งและลดลง เมื่อลดลงทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
- อย่าหาทำ ติดเชื้อหวังสร้างภูมิคุ้มกัน
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ยุโรป และสหรัฐฯ มีกลุ่มต่อต้านวัคซีน แต่ก็อยากมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น มีชาวออสเตรียราว 4 คน ที่ไปร่วมกิจกรรมในตอนเหนืออิตาลี เป็นกิจกรรมที่คนติดเชื้อโควิดมาเจอกัน อยากเอาตัวเองเข้าไปเพื่อติดเชื้อโควิด-19 เพราะหากการติดเชื้อไม่อันตรายจะเกิดภูมิคุ้มกันจากติดเชื้อธรรมชาติ ดังนั้น คนเหล่านี้จึงมองว่า ไปติดเชื้อดีกว่า แต่ขณะนี้ 4 คนดังกล่าว 1 คนเสียชีวิต 3 คนอยู่ในไอซียู และในจำนวนนี้ 1 คนเป็นเด็ก แปลว่าไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุที่ตายจากโควิด คนที่ยังไม่ได้รับภูมิคุ้มกันขอความกรุณาอย่าคิดแบบนี้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าติดเชื้อแล้วภูมิจะขึ้นหรือชีวิตเราจะลด
- ข้อสังเกตมาตรการประเทศต่างๆ
รัฐบาลประเทศออสเตรีย ประกาศ Lockdown ประเทศเมื่อ 22/11/2021 เพื่อควบคุมการแพร่ ระบาดของ COVID-19 (64% ของประชาชน ของออสเตรีย ได้รับการฉีดวัคซีนครบ เป็นอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป -66%)
รัฐบาลประเทศเบลเยี่ยม ออกประกาศเมื่อ 22/11/2021 ให้ประชาชน Work from Home อย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 วัน ต้องใส่ หน้ากากในสถานที่สาธารณะ สำหรับผู้ที่อายุเกิน 10 ปี ต้องใส่หน้ากากในยานขนส่งสาธารณะ ภัตตาคาร โรงภาพยนตร์ และในที่นอกอาคารที่มีกิจกรรมคนจำนวนมาก
รัฐบาลประเทศลัตเวีย (Latvia) ประกาศ Lockdown ตั้งแต่ 21/10/2021 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด (ประชาชนฉีดวัคซีนน้อย 61%) และยกเลิกเคอร์ฟิวเมื่อ 15/11/2021 แต่ยังคงจำกัดชั่วโมงทำงานในที่ทำงาน จำกัดจำนวนคนที่ร่วมในกิจกรรมต่างๆ และไม่อนุมัติให้มีกิจกรรมสันทนาการในอาคารลัตเวียมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดในยุโรป
รัฐบาลประเทศเนเธอร์แลนด์ ประกาศ Lockdown เป็นเวลา 3 สัปดาห์เพื่อควบคุม การระบาด ปิดบาร์ ภัตตาคาร ตั้งแต่ 20.00 น. ร้านบริการต่างๆ เช่นร้านตัดผม ปิด 18.00 น. แนะนำให้ทำงานที่บ้านยกเว้นมี ความจำเป็นอย่างยิ่ง จำกัดบุคคลภายนอก เข้าบ้านสูงสุดไม่เกิน 4 คน
รัฐบาลประเทศไอร์แลนด์ ประกาศเมื่อ 18/11/2021 ให้ในต์คลับ ภัตตาคารปิดเที่ยงคืน ทำงานที่บ้านยกเว้นจำเป็นอย่างยิ่งถึงจะไปทำงานในที่ทำงาน การเข้าชมภาพยนตร์ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนหรือหายป่วย ผลสำรวจพบ 57% ของผู้ถูกสำรวจจะลดจำนวนการพบปะผู้คนจนผ่าน Christmas 45% ยกเลิกแผนการเที่ยว
- ถอดบทเรียนปัจจัยการแพร่ระบาด
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า จากสถานการณ์ยุโรปพบว่า แม้ฉีดวัคซีนเข็ม 1 และครบโดสเกิน 70% แล้วก็ยังติดเชื้อ เมื่อถอดบทเรียนปัจจัยการแพร่ระบาด พบว่า มาจากวัฒนธรรมและความเชื่อ ความเป็นอิสระ การไม่ยอมรับการใส่หน้ากาก การเว้นระยะห่าง ความไม่ไว้วางใจในความปลอดภัยหรือประสิทธิภาพของวัคซีน ฯลฯ การผ่อนคลายสภาวะที่ถูกควบคุม สันทนาการ การเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มใหญ่ ที่ขาดมาตรการป้องกันการติดเชื้อ/การแพร่เชื้อ รวมถึง การบริหารจัดการ ผู้นำบางประเทศประกาศให้ผ่อนคลายมาตรการการป้องกัน (ยกเลิกการใส่หน้ากาก ไม่จำเป็นต้องเว้นระยะห่าง ฯลฯ) อาจเพราะมั่นใจว่าประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนมากพอแล้ว และ ในเรื่องของเศรษฐกิจ ทั้งในระดับประเทศ ระดับครอบครัว และระดับบุคคล
อีกทั้งในเรื่องของ ภูมิอากาศ ประเทศทางตะวันตกเข้าสู่ช่วงเวลาอากาศหนาว อุณหภูมิที่ลดลง การนิยมอยู่ในอาการ (พื้นที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก) ภูมิคุ้มกันต่อไวรัส COVID-19 ที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป (ลดลงเร็ว) ทั้งภายหลังการติดเชื้อและการได้รับวัคซีน (ผู้ได้รับวัดซีนเข้าใจว่าภูมิคุ้มกันยังสูงมากอยู่)
- เฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์
การกลายพันธุ์ของไวรัส อยู่ในระหว่างการเฝ้าติดตาม เช่น สายพันธุ์ Delta Plus (AY.4.2) และ สายพันธุ์ใหม่ B 1.1.529 แต่ไม่มีหลักฐานว่าจะก่อเรื่องอย่างไร โดยสายพันธุ์ใหม่นี้ พบ 10 คนที่มีการตรวจ แต่ที่ไม่ตรวจยังไม่รู้ โดย 10 คนเจอครั้งแรก ที่บอสวานา 3 ราย ที่แอฟริกาใต้ 6 ราย และ 1 รายในฮ่องกง โดยสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ 32 จุดที่เกี่ยวข้องกับสไปร์ทโปรตีน ยังไม่ต้องตื่นตกใจ
“กรณีนี้มีการติดตามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้ภูมิคุ้มกันจำไม่ได้หรือไม่ หากระบบภูมิคุ้มกันจำไม่ได้ก็อาจจะหลุดจากวัคซีนที่ฉีดไป ดังนั้น จึงมีการติดตามเรื่องนี้อยู่ ที่นำมาเตือน เพราะให้เห็นว่า เรายังต้องสวมหน้ากากอนามัย ต้องเข้มมาตรการและขอย้ำว่า ไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะอย่างไรก็มีการกลายพันธุ์อยู่ดี อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก ยังระบุว่าขณะนี้ อัลฟ่า เดลต้า เบต้า และแกมม่า ยังคงเป็น 4 สายพันธุ์ที่ยังก่อให้เกิดเรื่อง ส่วนสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตาม ยังเป็น แลมดา และมิว"
- "เปิดประเทศ" ปลอดภัย เลี่ยง 3 เสี่ยง
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ในปัจจุบัน มีประเทศที่เปิดประเทศแล้ว ยังไม่เกิดการแพร่กระจายเชื้อ และวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนดีขึ้น เช่น ญี่ปุ่น อิสราเอล ฉุดสำคัญคือการมีวินัยและความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ประชากรได้รับวัคซีนครบในอัตราสูง (กว่า 70%) การตัดสินใจที่รวดเร็ว (ภายใต้ข้อมูลที่ดี) เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ผิดจากที่คาดหมายการคงมาตรการเข้มงวดในการป้องกันการติดเชื้อ/การแพร่เชื้อ ใส่หน้ากาก (อย่างถูกวิธี) รักษาระยะห่างระหว่างบุดคล หมั่นทำความสะอาดมือ และการรายงานตัวเข้ารับการตรวจหากสงสัยว่าติดเชื้อ เดือนธันวาคมนี้ จะเป็นช่วงเวลาเสี่ยงที่ ขณะนี้ ทุกประเทศเฝ้าระวัง และหลายประเทศกำหนดและดำเนินมาตรการป้องกันแล้ว
ประเด็นสำคัญ คือ หลีกเลี่ยง 3 เสี่ยง ได้แก่ บุคคลเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง ซึ่ง ช่วง ธ.ค คือ ช่วงเสี่ยง เทศกาล อากาศเย็นลง ทั้งหมดขอย้ำว่า ผู้ประกอบการ วิธีที่ทำให้สถานที่ของท่านไม่เป็นสถานที่เสี่ยง คือ ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ รักษาระยะห่างของผู้เข้ารับบริการ หลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง หากช่วยกันปีใหม่อาจจะมีโอกาสเปิดประเทศและมีความสุขเหมือนหลายปีที่ไม่มีโควิด หากไม่ร่วมกันปีใหม่ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้น ต้องช่วยกัน เริ่มจากตัวท่านเอง