สหรัฐ ยุโรป ฉีด "วัคซีนโควิด-19" เยอะ ทำไมยังกลับมาระบาด ?
"ศิริราช" ถอดบทเรียน สหรัฐ ยุโรป ฉีด "วัคซีนโควิด-19" เข็ม 2 ครอบคลุมประชากรมาก แต่ยังมีการระบาด พบจากปัจจัยด้านวัฒนธรรม การผ่อนคลายมาตรการ เศรษฐกิจ ภูมิอากาศ เชื้อกลายพันธุ์ ขณะที่ไทย ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 90 ล้านโดส อัตราติดเชื้อ เสียชีวิตยังคู่ขนาน
วันนี้ (25 พ.ย. 64) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช พยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานแถลงข่าว อัปเดทสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเด็น "สถานการณ์โควิด-19" ระลอกใหม่ใน ยุโรป ในประเด็นสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ตัวเลขล่าสุด 23 พ.ย. 64 สถานการณ์เริ่มลดลง ทั้งนี้ ตั้งแต่เหตุการณ์ในเดือน ต.ค. จำเห็นว่าอุบัติการณ์ติดเชื้อต่อวันเพิ่มขึ้นมาจาก 3 แสนรายต่อวัน ตอนนี้ 5-6 แสนรายต่อวัน ขณะที่การเสียชีวิต กราฟไม่ไปด้วยกันเป็นสิ่งที่ดี ยอดการติดเชื้อค่อยๆ ลดลง ทั้งหมดเป็นปัจจัยมาจากวัคซีน โดยทั่วโลกฉีดแล้ว ฉีดวัคซีนแล้ว 7,731,518,462 โดส ฉีดวันละ 33,052,447 โดส (ประชากร 7,908,526,940 คน)
ทั้งนี้ หากมาดูในรายประเทศทั้งใน ยุโรป และ สหรัฐ ซึ่งมีการฉีดวัคซีน 2 เข็มครอบคลุมประชากรจำนวนมาก พบว่า
- สหรัฐอเมริกา
ที่ผ่านมาตัวเลขลดลง และ ในเดือน ต.ค. เริ่มสูงขึ้น ตอนนี้มีปัญหา คือ คนจำนวนหนึ่งไม่ยอมรับฉีดวัคซีน ทั้งที่รัฐบาลเชิญชวน และกลุ่มนี้นำไปสู่การเสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ไม่ได้รับฉีดวัคซีนหรือฉีดไม่ครบ การตายแต่เดิมเป็นเลขสามหลักต้นๆ แต่สุดท้ายก็เริ่มวิ่งมาหลักพันหรือเกินสองพัน พบผู้ติดเชื้อ7-8 หมื่นรายต่อวัน
โดย สหรัฐฯ มีการเดินหน้าฉีดเข็มสามแล้ว ขณะนี้ สหรัฐฯ ฉีดวัคซีนแล้ว 451,453,834 โดส ฉีดวันละ 1,453,057 โดส (ประชากร 333,732,018 คน) 69.4% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 59.1% ได้ครบโดส และ 10.6% ได้โดสที่สาม
- สหราชอาณาจักร
เมื่อสองเดือนที่แล้ว 19 ก.ค. ประกาศ Freedom Day เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนเยอะพอ มีการเปิดสถานที่กิจกรรมต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากาก หรือรักษาระยะห่าง มีการเฝ้าติดตามและหลายฝ่ายเป็นห่วง หลังจาก 19 ก.ค. มีการติดเชื้อ 3 -5 หมื่นรายต่อวัน เสียชีวิต 100-200 รายต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย
ฉีดวัคซีนแล้ว 112,277,085 โดส ฉีดวันละ 400,846 โดส (ประชากร 68,386,858 คน) 76.0% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 69.1% ได้ครบโดส และ 19.2% ได้โดสที่สาม
สิ่งที่เกิดขึ้น ผลของวัคซีนทำให้การตายไม่ไปด้วยกันกับการติดเชื้อ การฉีดวัคซีนมีประโยชน์จริงๆ โดยเฉพาะลดการรุนแรงหรือเสียชีวิต แต่ไม่ป้องกันการติดเชื้อ เพราะต้องไปพร้อมกับมาตรการอื่น สหราชอาณาจักร เวลานี้กำลังถกเถียงกันว่าจะเข้าสู่ขั้นตอนปิดกิจการบางอย่างหรือไม่
สหราชอาณาจักร กำลังเฝ้าติดตามสายพันธ์ Delta Plus (มีการกลายพันธ์ที่ตำแหน่ง E484K) ว่าจะมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นจากการฉีดวัดซีนหรือไม่ (ยังไม่มีหลักฐาน) รายงานใน The Guardian เมื่อ 16/11/2021 ผู้ป่วย COVID-19 ที่อยู่ในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) ทั่วสหราชอาณาจักร แทบทั้งหมดคือผู้ที่ยังไม่รับวัคชีนหรือรับไม่ครบ
ทั้งนี้ นอกจากตัวเลขติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น แม้จะมีการฉีดวัคซีนเยอะอัตราการเสียชีวิตก็เริ่มกลับไปในช่วง มี.ค. ที่ยังฉีดวัคซีนไม่มาก สื่อให้เห็นว่า วัคซีนที่กระตุ้นภูมิต้านทานไม่ได้ทำให้ภูมิสูงเป็นปี ปฏิกิริยาการตอบสนองจะอยู่ช่วงเวลาหนึ่งและลดลง เมื่อลดลงทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
- เยอรมนี
สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำลายสถิติ ติดเชื้อ 20,000 – 50,000 รายต่อวัน ขณะที่ ฉีดวัคซีนแล้ว 117,572,238 โดส ฉีดวันละ 377,446 โดส (ประชากร 84,158,706 คน) 76.6% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 68.0% ได้ครบโดส และ 7.0% ได้โดสที่สาม
ข้อดี คือ อัตราการเสียชีวิตเลข 3 หลัก จากเดิมช่วงใหม่ๆ ลงไปเหลือ 2 หลัก แต่ตอนนี้เสียชีวิต 3 หลักต่อเนื่อง ทำให้ เยอรมนี ออกมาตรการในการเข้มงวดป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
- ฝรั่งเศส
ผ่านการระบาดระลอกต่างๆ มาเหมือนจะเริ่มดีขึ้น ฉีดวัคซีนเยอะขึ้น หากจำกันได้ 2 เดือนที่แล้ว ที่ออกมาตรการเชิญชวนคนมาฉีดวัคซีนเพราะจะเริ่มให้จ่ายค่าตรวจ RT-PCR เอง ทำให้มีคนฉีดขึ้นจำนวนหนึ่ง
แต่แม้จะ ฉีดวัคซีนแล้ว 102,792,265 โดส ฉีดวันละ 225,769 โดส (ประชากร 65,475,221 คน) 79.7% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 78.1% ได้ครบโดส และ 8.7% ได้โดสที่สาม ตัวเลขยังคงเป็นหลัก 1-3 หมื่นรายต่อวัน แต่อัตราการเสียชีวิตยังดีไม่เกิน 100 ราย
- เนเธอร์แลนด์
เกิดการต่อต้านรัฐบาล มีการประกาศล็อกดาวน์ประเทศ จากการติดเชื้อราว 1 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 2 หมื่นกว่ารายต่อวัน อัตราการเสียชีวิตยังเป็นตัวเลข 2 หลัก แต่อยู่ในช่วงขาขึ้น
ฉีดวัคซีนแล้ว 24,382,465 โดส ฉีดวันละ 16,578 โดส (ประชากร 17,187,834 คน) 76.4% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 73.2% ได้ครบโดสและยังฉีดสม่ำเสมอ
- รัสเซีย
เป็นประเทศที่ไม่เคยสงบเลยในการระบาด โควิด-19 มีตัวเลขการติดเชื้อ 3 หมื่นกว่าราย และตายกว่าพันรายตลอด 2-3 เดือน ซึ่งรัสเซีย จริงๆ แล้วมีวัคซีน ของตนเอง คือ สปุตนิก วี แต่จะเห็นว่าการ ฉีดวัคซีนแล้ว 120,606,667 โดส ฉีดวันละ 776,001 โดส (ประชากร 146,021,555 คน) หรือเพียง 43.3% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 36.5% ได้ครบโดส และ 2.4% ได้โดสที่สาม รัฐบาลพยายามกระตุ้นเชิญชวน แต่ไม่ประสบความสำเร็จดีนัก และเนื่องจากประชากรกว่า 146 ล้านคนทำให้การฉีดวัคซีนไม่ง่าย
- ออสเตรีย
เป็นหนึ่งในประเทศต้นๆ ที่มีการ ล็อกดาวน์ เพราะสถานการณ์คล้ายกับเนเธอร์แลนด์ที่ประกาศล็อกดาวน์เป็นประเทศที่สอง เนื่องจาก ต.ค. มีการระบาดเพิ่มต่อเนื่อง ประเทศเหล่านี้มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เพราะมีความเชื่อมั่นในวัคซีน ถือว่าฉีดวัคซีนเยอะ อัตราการตายต่ำ 2 หลัก จากจำนวนประชากร 9 ล้านคน
ออสเตรีย มีการฉีดวัคซีนแล้ว 12,937,047 โดส ฉีดวันละ 97,929 โดส (ประชากร 9,078,699 คน) 70.3% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 65.8% ได้ครบโดส และ 13.7% ได้โดสที่สาม
อย่างไรก็ตาม ยังพบคนที่ไม่ใส่หน้ากากเยอะ ทำให้รัฐบาลกำชับมาตรการส่วนบุคคล การป้องกันตนเอง การใส่หน้ากาก และผลักดันการฉีดวัคซีน
- ไอร์แลนด์
มีการฉีดวัคซีนเยอะมาก และไม่คิดว่าจะเกิดวิกฤติมาอีก แต่ ส.ค. - ต.ค. ตัวเลขติดเชื้อวิ่งขึ้นตลอด ทุกวันมีการติดเชื้อราว 3-4 พันรายต่อวัน ดูเหมือนไม่เยอะ แต่ประชากรเพียง 5 ล้านคน นับว่าไม่น้อยเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด อัตราตายต่ำ แต่รัฐประกาศล็อกดาวน์เพราะมีเสียชีวิต 43 คน
ฉีดวัคซีนแล้ว 7,970,541 โดส ฉีดวันละ 86,261 โดส (ประชากร 5,016,241 คน) 77.7% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 76.4% ได้ครบโดส และ 11.7%ได้โดสที่สาม
- อิตาลี
ตอนปีก่อนที่ระบาดระลอกแรก มีอัตราการเสียชีวิตเยอะ มีการเร่งระดมการฉีดวัคซีน หลังจากนั้นก็เริ่มดีขึ้น ตอนนี้ฉีดวัคซีนแล้ว 93,735,838 โดส ฉีดวันละ 181,201 โดส (ประชากร 60,338,478 คน) 77.9% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 74.8% ได้ครบโดส และ 6.8% ได้โดสที่สาม
จะสังเกตว่า หลายประเทศในตะวันตก ฉีดเข็มสาม ต่อวันติดเชื้อหลักหมื่น อัตราเสียชีวิต 2 หลัก ขณะที่ เดือนหน้าจะต้องเฝ้าระวังทั้งโลกโดยเฉพาะตะวันตกเพราะอากาศเย็นลงและเป็นเทศกาลท่องเที่ยว ทำให้หลายประเทศประกาศล็อกดาวน์ เพราะกลัวว่าเดือนหน้าคนจะจำนวนเยอะจะมาอยู่ด้วยกันทำให้มีความเสี่ยง
- ไทย
ข้อมูล 23 พ.ย. 64 ฉีดวัคซีนแล้ว 89,336,791 โดส ฉีดวันละ 560,667 โดส (ประชากร 70,044,901 คน) 67.1% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 56.3% ได้ครบโดส และ 4.4% ได้โดสที่สาม
"อัตราการตายหากเทียบกับติดเชื้อยังคู่ขนานกันไป อัตราตายลดลงต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ดี เรามีประชากรในบางจังหวัด กลุ่มเสี่ยง โรคร่วม ได้รับการฉีดวัคซีนเยอะ กลุ่มเสี่ยงที่ฉีดไม่เยอะ คือ หญิงตั้งครรภ์ อยากจะย้ำว่าหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ มีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตกว่าคนทั่วไปอย่างน้อย 2 เท่า ระหว่างฝากครรภ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีเวช มีการแนะนำในการฉีดวัคซีน" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
- ล่าสุด ไทยฉีดวัคซีนแล้ว 90 ล้านโดส
ทั้งนี้ ตัวเลขล่าสุด จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. - 24 พ.ย. 2564) รวม 90,468,955 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 47,233,526 ราย
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 40,056,072 ราย
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 3,179,357 ราย
- ภาพรวมยอดฉีดวัคซีน วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564
ยอดฉีดทั่วประเทศ 574,772 โดส
เข็มที่ 1 : 199,502 ราย
เข็มที่ 2 : 331,802 ราย
เข็มที่ 3 : 43,468 ราย
- ปัจจัยการแพร่ระบาด
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า จากสถานการณ์ยุโรปพบว่า แม้ฉีดวัคซีนเข็ม 1 และครบโดสเกิน 70% แล้วก็ยังติดเชื้อ เมื่อถอดบทเรียนปัจจัยการแพร่ระบาด พบว่า มาจากวัฒนธรรมและความเชื่อ ความเป็นอิสระ การไม่ยอมรับการใส่หน้ากาก การเว้นระยะห่าง ความไม่ไว้วางใจในความปลอดภัย หรือประสิทธิภาพของวัคซีน ฯลฯ
การผ่อนคลายสภาวะที่ถูกควบคุม สันทนาการ การเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มใหญ่ ที่ขาดมาตรการป้องกันการติดเชื้อ/การแพร่เชื้อ รวมถึง การบริหารจัดการ ผู้นำบางประเทศประกาศให้ผ่อนคลายมาตรการการป้องกัน (ยกเลิกการใส่หน้ากาก ไม่จำเป็นต้องเว้นระยะห่าง ฯลฯ) อาจเพราะมั่นใจว่าประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนมากพอแล้ว และ ในเรื่องของเศรษฐกิจ ทั้งในระดับประเทศ ระดับครอบครัว และระดับบุคคล
อีกทั้งในเรื่องของ ภูมิอากาศ ประเทศทางตะวันตกเข้าสู่ช่วงเวลาอากาศหนาว อุณหภูมิที่ลดลง การนิยมอยู่ในอาการ (พื้นที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก) ภูมิคุ้มกันต่อไวรัส COVID-19 ที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป (ลดลงเร็ว) ทั้งภายหลังการติดเชื้อและการได้รับวัคซีน (ผู้ได้รับวัดซีนเข้าใจว่าภูมิคุ้มกันยังสูงมากอยู่)
การกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งอยู่ในระหว่างการเฝ้าติดตาม เช่น สายพันธุ์ Delta Plus (AY.4.2) และ สายพันธุ์ใหม่ B 1.1.529 แต่ไม่มีหลักฐานว่าจะก่อเรื่องอย่างไร โดยสายพันธุ์ใหม่นี้ พบ 10 คนที่มีการตรวจ แต่ที่ไม่ตรวจยังไม่รู้ โดย 10 คนเจอครั้งแรก ที่บอสวานา 3 ราย ที่แอฟริกาใต้ 6 ราย และ 1 รายในฮ่องกง โดยสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ 32 จุดที่เกี่ยวข้องกับสไปร์ทโปรตีน
"ยังไม่ต้องตื่นตกใจ เพราะอย่างไรก็มีการกลายพันธุ์อยู่ดี ขณะนี้ องค์การอนามัยโลก ยังระบุว่า อัลฟ่า เดลต้า เบต้า และแกมม่า ยังคงเป็น 4 สายพันธุ์ที่ยังก่อให้เกิดเรื่อง ส่วนสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตาม ยังเป็น แลมดา และมิว" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว