“มะเร็งตับ” รักษาเร็ว เข้าถึงนวัตกรรมยา ลดการเสียชีวิตผู้ป่วย
สถิติของ องค์การอนามัยโลก พบว่า “มะเร็งตับ” ครองแชมป์อันดับ 1 ทั้งอัตราการเสียชีวิตและอุบัติการณ์มาหลายปี โดยในปี 2563 คนไทยจากไปด้วยโรคมะเร็งตับมากถึง 26,704 ราย หรือคิดเป็น 3 รายต่อชั่วโมง อีกทั้งยังพบว่าจำนวนผู้ป่วยใหม่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
“มะเร็งตับ” นับได้ว่าเป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิต เพราะมักไม่มีสัญญาณเตือนในระยะแรก ทำให้ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อโรคเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว ประกอบกับทางเลือกในการรักษาน้อยส่งให้อัตราการรอดชีวิตต่ำ ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งเพื่อรับมือกับวิกฤตสุขภาพนี้
มร.ฟาริด บิดโกลิ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว กล่าวในการเสวนา Life Talk Series II ในหัวข้อ “ภารกิจพิชิตมะเร็งตับ: ภัยเงียบอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตคนไทย” ส่วนหนึ่งของแคมเปญ ‘Celebrate Life’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 125 ปีของการก่อตั้งและ 50 ปีของการมีส่วนร่วมส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยในสังคมไทย ว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยมะเร็งตับสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก หากเทียบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเห็นได้ว่าความรุนแรงและความสูญเสียจากโรคมะเร็งตับ ถือเป็นวิกฤตไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
หากเทียบอุบัติการณ์และอัตราการเสียชีวิต ระหว่าง “มะเร็งตับ” และ “มะเร็งเต้านม” ในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 โรค มีจำนวนผู้ป่วยใหม่สูงกว่า 20,000 รายต่อปี แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีในการรักษามีการพัฒนาไปมาก รวมทั้งโอกาสในการเข้าถึงการรักษาส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านมต่ำกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ
ขณะเดียวกันผู้ป่วยมะเร็งตับก็สามารถเข้าถึงตัวเลือกการรักษาที่มีคุณภาพได้มากขึ้นและทันท่วงที ตามสิทธิทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งตับให้ได้เข้าถึงการรักษาด้วยยานวัตกรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดี และลดแนวโน้มการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้
นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระปกเกล้า ด้านศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูงด้านมะเร็ง กล่าวว่า ปัจจุบัน ผู้ป่วยมะเร็งตับมีตัวเลือกการรักษามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยาภูมิกันบำบัด (immunotherapy) ซึ่งช่วยให้ผลลัพธ์การรักษาดีขึ้น และลดโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง ลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรลง หากนวัตกรรมการรักษาที่มีประสิทธิภาพผ่านการพิจารณาให้เข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงแก่ประชาชน
การรักษาที่เหมาะสมกับระยะของโรคเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยยืดอายุผู้ป่วยมะเร็งตับอย่างมีนัยยะสำคัญ ได้แก่ ระยะที่ 1 (ระยะ A) หรือระยะแรก เริ่มพบเซลล์มะเร็งเป็นก้อนขนาดเล็ก ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด การเปลี่ยนตับ หรือการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงละลายก้อนดังกล่าว จะมีอายุยืนยาวได้มากกว่า 120 เดือน จาก 30 เดือน
ระยะที่ 2 (ระยะ B) หรือระยะกลาง เซลล์มะเร็งขยายขนาดใหญ่ขึ้น ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการสวนอุดเส้นเลือด จะมีอายุยืนยาวได้มากกว่า 26 เดือน จาก 15 เดือน
ระยะที่ 3 (ระยะ C) หรือระยะแพร่กระจาย เป็นระยะที่เนื้อตับยังพอรักษาได้หากได้รับยานวัตกรรม เช่น การใช้ยามุ่งเป้าควบคู่กับยาภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งออกฤทธิ์ที่เส้นเลือดโดยตรง ทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวได้มากกว่า 19 เดือน จาก 7 เดือน
ระยะที่ 4 (ระยะ D) หรือระยะสุดท้าย เป็นระยะที่การทำงานของตับถดถอยลงไปมาก ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยในระยะนี้จึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ไม่ว่าจะเป็น การฉายแสง การให้มอร์ฟีนแก้ปวด หรือให้ยาอื่นร่วมตามดุลยพินิจของแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวได้มากกว่า 3 เดือน จาก 1 เดือน
วิธีการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันมะเร็งตับ นพ.ภาสกร แนะว่าควรลดการดื่มแอลกอฮอล์ ลดการบริโภคอาหารไขมันสูง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะไขมันพอกตับ ไม่ใช้ใช้เข็มฉีดยา เข็มสัก ใบมีดโกน หรือกรรไกรตัดเล็บร่วมกับผู้อื่น รวมถึงงดการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และ ซี
รวมถึงระมัดระวังการบริโภคอาหารแปรรูปหรืออาหารแห้งที่จัดเก็บไม่เหมาะสม เช่น ถั่วลิสงคั่ว กุ้งแห้ง พริกแห้ง เพราะอาจมีสารอะฟลาท็อกซิน ซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งตับได้ ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงข้างต้นควรเข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ และหากได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยโรคมะเร็งตับ ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์โดยเร็ว
- ป่วยมะเร็ง รักษาทุกที่
“โรคมะเร็ง ไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” Cancer Anywhere เป็น 1 ใน 4 บริการ ตามนโยบาย “ยกระดับบัตรทอง สู่ระบบหลักประกันสุขภาพยุคใหม่” ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564คลายความกังวลใจของผู้ป่วยมะเร็ง ทั้งในแง่ภาระค่าใช้จ่ายและเวลา เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงและสะดวก เช่น การนัดหมายเพื่อฉายแสงกับเจ้าหน้าที่ผ่านแอพพลิเคชั่น เป็นต้น
นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตัวเลือกการรักษามะเร็งตับ สปสช. ได้ร่วมมือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและภาคเอกชน โดยมีคณะกรรมการประเมินความคุ้มค่า (cost-effectiveness) ทำหน้าที่พิจารณายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ให้ประชาชนไทยตามสิทธิเบิกจ่ายต่างๆ สามารถเข้าถึงได้ ในอนาคต หวังว่าประชาชนไทยจะมีโอกาสเข้าถึงแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และลดการเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาลง ด้วยสิทธิการรักษาที่ครอบคลุม