สุดยอด! ธนาคารปูม้า มวล.-วช. คว้ารางวัลชนะเลิศ Thailand Research Expo 2021
ธนาคารปูม้า มวล.-วช. คว้า 2 รางวัลชนะเลิศ 1 รางวัลรองชนะเลิศ การประกวดธนาคารปูม้าระดับประเทศ ในงาน Thailand Research Expo 2021 ได้รับเงินรางวัลรวมกว่า 1.6 แสนบาท พร้อมเตรียมปล่อยแอพลิเคชัน LayKhon ขายปูม้าออนไลน์
ผศ. ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยและบริการวิชาการเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า หลังจากที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) ได้ส่ง 3 ธนาคารปูม้าเข้าร่วมประกวดต้นแบบธนาคารปูม้าเพื่อความยั่งยืน ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 หรือ Thailand Research Expo 2021 จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งมีธนาคารปูม้าที่ วช. สนับสนุนจำนวนกว่า 500 ธนาคารทั่วประเทศเข้าร่วม
ผลปรากฏว่า ธนาคารปูม้า มวล.-วช. สามารถคว้ามาได้ 3 รางวัลดังนี้
1) รางวัลชนะเลิศ ประเภทศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าชุมชน ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านในถุ้ง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
2) รางวัลชนะเลิศ ประเภทธนาคารปูม้าชุมชนเดิมที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ธนาคารปูม้าบ้านหาดสมบูรณ์ จ.สุราษฎร์ธานี
3) รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ประเภทธนาคารปูม้าชุมชนที่จัดตั้งใหม่ คือ ธนาคารปูม้าบ้านท่าพยา อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ได้รับเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 160,000 บาท
- ธนาคารปูม้า ศูนย์บริหารวิชาการ เพิ่มรายได้
ผศ.ดร.อมรศักดิ์ กล่าวว่า โครงการธนาคารปูม้ามวล.-วช ดูแลในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี โดยมีศูนย์บริการวิชาการเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อน ลงไปสร้างศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้าเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะต่างๆในการทำธนาคารปูม้าให้กับชุมชน
ผลการดำเนินโครงการทำให้จำนวนปูม้าในพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่เคยจับปูม้าได้วันละประมาณ 5 กิโลกรัม ปัจจุบันพบว่ามีการจับปูม้าเพิ่มขึ้นกว่า 10-15 กิโลกรัม บางช่วงจับปูม้าได้มากถึงวันละ 40-60 กิโลกรัม สร้างรายได้ให้ชุมชนชาวประมงอย่างชัดเจน ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน
- สร้างอาชีพ เสริมรายได้ ท่องเที่ยวเชิงวิถีประมง
ปัจจุบันธนาคารปูม้า มวล.-วช. มีจำนวนกว่า 87 ธนาคาร ซึ่งนอกจากฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนแล้ว ธนาคารปูม้า มวล.-วช.ยังสร้างอาชีพใหม่ๆ ในพื้นที่ ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพและสร้างรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวเชิงวิถีประมง มีการบรรจุธนาคารปูม้าไว้ในเส้นทางการท่องเที่ยวของจังหวัด จัดกิจกรรมปล่อยปูสู่ทะเลไทยให้นักท่องเที่ยว ส่งเสริมและอบรมสร้างเชฟชุมชน ผลิตเมนูอาหารที่มีอัตลักษณ์จากปูม้า ตลอดจนสร้างจิตสำนึกและตระหนักในการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า
"ธนาคารปูม้าที่ดูแลโดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีการจัดทำเครือข่ายเชื่อมโยงธนาคารปูม้าภายในจังหวัด สร้างเครือข่ายชุมชนประมงชายฝั่งและความรักความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน และในปี 2565 ยังได้จัดทำแอพลิเคชัน Laykhon เพื่อช่วยชุมชนให้สามารถขายปูม้าและอาหารทะเลอื่นๆในพื้นที่ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าของชาวประมงในช่วงสถานการณ์โควิด ที่สำคัญธนาคารปูม้ายังเปรียบเสมือนตัวขับเคลื่อนตอบโจทย์ BCG ของรัฐบาลและ ดำเนินภารกิจด้านการพัฒนาแบบยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) โดยเฉพาะ SDG 14 ตามกรอบขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย"ผศ.ดร. อมรศักดิ์ กล่าว