จับตา "โอไมครอน" โผล่ "ยุโรป" น่ากังวลแค่ไหน

จับตา "โอไมครอน" โผล่ "ยุโรป" น่ากังวลแค่ไหน

“โอไมครอน” นับเป็น โควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังจับตา รวมถึงประเทศไทย โดย WHO ให้สายพันธุ์ดังกล่าวเป็นกลุ่มที่น่ากังวล เพราะไม่ใช่แค่พบในแอฟริกาใต้ บอตสวานา เบลเยียม ฮ่องกง และ อิสราเอล ที่รายงานก่อนหน้าเท่านั้น ขณะนี้ยังพบในยุโรปอีกราว 5 ประเทศ

หลังจากที่มีการค้นพบ โควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นใน แอฟริกาใต้ หลายประเทศเริ่มจับตามองด้วยความกังวลถึงการระบาดจะรุนแรงมากกว่าเดิมหรือหลบหลีวัคซีนได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน ทางประเทศไทยเอง วานนี้ (27 พ.ย. 64) กระทรวงสาธารณสุข กำหนดไม่อนุญาตให้ผู้เดินทางจาก 8 ประเทศแอฟริกาใต้ ลงทะเบียนเข้าประเทศไทยเริ่มตั้งแต่วานนี้เป็นต้นไป แม้ในไทยจะยังไม่พบ แต่ยังต้องจับตาเฝ้าระวัง

 

“โอไมครอน” หรือ สายพันธุ์ B.1.1.529 กลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ “องค์การอนามัยโลก” ห่วงและกังวล ซึ่งพบที่ประเทศแอฟริกาใต้ โดยมีการกลายพันธุ์ 32 ตำแหน่งที่จะสไปร์โปรตีน โดยพบเมื่อ 11 เดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยมีการตรวจพบ 74 ราย ในประเทศแอฟริกาใต้ตรวจพบ 2 ราย เป็นผู้เดินทางเข้าประเทศฮ่องกง โดยผู้ที่ตรวจพบสายพันธุ์ดังกล่าวได้รับวัคซีนครบแล้ว ขณะนี้ ทั่วโลกสายพันธุ์เดลต้า ยังคงครองสัดส่วนการแพร่ระบาดมากที่สุด 

 

“นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยว่า จากข้อสันนิฐานและการเก็บรวบรวมข้อมูล พบว่า สายพันธุ์ใหม่นี้ อำนาจการแพร่เชื้อได้มากขึ้น บางส่วนน่าจะหลบภูมิคุ้มกันได้พอสมควร  รวมถึงข้อมูลเบื้องต้นในพื้นที่ที่พบการตรวจเจอเชื้อ ปริมาณเชื้อในร่างกายเข้มข้นหมายความว่า ก็จะหาเชื้อนี้ได้ง่ายหากทำการตรวจเชื้อ ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีการสุ่มตรวจตัวอย่างเชื้อทุกสัปดาห์ และส่วนใหญ่ยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้า ร้อยละ 99.64  

 

  • โอไมครอน พบในอีก 5 ประเทศ 

 

ทั้งนี้  หลังจากที่เจอ โควิดสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน ระบาดใน แอฟริกาใต้ บอตสวานา เบลเยียม ฮ่องกง และ อิสราเอล ล่าสุด พบผู้ติดเชื้อในประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่ 

  • อังกฤษ พบ 2 ราย เป็นผู้ที่เดินทางไปแอฟริกาตอนใต้
  • เยอรมนี พบ 2 ราย เข้าประเทศผ่านสนามบินมิวนิก 24 พ.ย. 
  • อิตาลี พบ 1 รายที่มิลาน กลับมาจากโมซัมบิก
  • สาธารณรัฐเช็ก กำลังตรวจสอบเคสต้องสงสัย 1 รายเคยไปนามิเบีย
  • เนเธอร์แลนด์ ผู้โดยสาร 61 คน จาก 600 คนใน 2 เที่ยวบินจากแอฟริกาใต้ พบเชื้อโควิด กำลังตรวจสอบเพิ่มเติมว่าเป็นสายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือไม่

 

  • องค์การอนามัยโลก ให้ “โอไอครอน” กลุ่มน่ากังวล

 

ทั้งนี้ “น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ” รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ Blockdit “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย” โดยระบุถึงความน่ากังวลของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ตัวล่าสุด “โอไมครอน” เปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งหนามมากกว่าเดลต้า 3.5 เท่า องค์การอนามัยโลก จัดให้อยู่ในกลุ่มรุนแรงสูงสุดแล้ว

 

ขณะนี้ องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ให้ไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ล่าสุด คือ B.1.1.529 ซึ่งพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศแอฟริกาใต้ เป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงสูงสุดหรือกลุ่มน่ากังวล (VOC : Variant of Concern) และตรวจพบว่ามีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่ เป็นส่วนหนามมากถึง 32 ตำแหน่ง ในขณะที่ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า กลายพันธุ์ที่ส่วนหนามเพียง 9 ตำแหน่ง

 

  • รายละเอียดที่ควรสนใจเกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ ประกอบด้วย

 

1) ไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 ซึ่งก่อโรคโควิด-19 เป็นไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ง่ายเป็นธรรมชาติ เนื่องจากเป็นสารพันธุกรรมเดี่ยว อาร์เอ็นเอ (RNA)


2) ในช่วงสองปีที่ผ่านมา พบว่ามีไวรัสกลายพันธุ์ไปแล้ว มากกว่า 1000 สายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อย


3) ไวรัสมีสารพันธุกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงได้ประมาณ 30,000 ตำแหน่ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปเพียงตำแหน่งเดียว ก็เรียกว่าเป็นไวรัสกลายพันธุ์ได้แล้ว

4) องค์การอนามัยโลก ได้จัดกลุ่มไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ เรียงตามลำดับความรุนแรง 

4.1 ไวรัสที่น่ากังวล ประกอบด้วย 

• สายพันธุ์อัลฟ่าหรืออังกฤษเดิม
• สายพันธุ์เบต้าหรือแอฟริกาใต้เดิม
• สายพันธุ์แกมมาหรือบราซิลเดิม
• สายพันธุ์เดลต้าหรืออินเดียเดิม
• และได้ประกาศสายพันธุ์ที่ 5 คือ "โอไมครอน" ของแอฟริกาใต้

4.2 ไวรัสที่ต้องให้ความสนใจ (VOI : Variant of Interest) มีสองสายพันธุ์ ได้แก่ แลมป์ด้า และ มิว
4.3 ไวรัสที่ควรติดตาม (VUM : Variant Under Monitoring) มีทั้งหมด 7 ตัว

 

5) การจัดกลุ่มไวรัสดังกล่าวใช้องค์ประกอบ ดังนี้


5.1 สารพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไวรัสเกิดการเปลี่ยนแปลงในประเด็นของ
5.1.1 การแพร่ระบาดที่กว้างขวางรวดเร็วมากขึ้น
5.1.2 ความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น
5.1.3 ความสามารถในการหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันหรือวัคซีนมีมากขึ้น
5.2 มีการแพร่ระบาดในชุมชน หรือเกิดเป็นคลัสเตอร์ในหลากหลายประเทศ

 

6) ไวรัสโอไมครอน มีการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมมากที่สุด เท่าที่เคยมีการกลายพันธุ์มาคือมากกว่า 50 ตำแหน่ง และที่สำคัญคือเปลี่ยนแปลงในส่วนหนามซึ่งใช้ในการก่อโรคในมนุษย์ มากถึง 32 ตำแหน่ง

 

เมื่อเปรียบเทียบกับไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ มีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งหนามเพียง 9 ตำแหน่ง ทำให้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนมีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมที่ตำแหน่งหนาม มากกว่าไวรัสเดลต้าถึง 3.5 เท่า

 

7) ไวรัสโอไมครอนพบเป็นครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ตามด้วยประเทศบอตสวานา และอีกหลายประเทศในแอฟริกาใต้ เช่น นามิเบีย ซิมบับเว เลโซโท เอสวาตีนี่ มาลาวี อังโกลา โมซัมบิก และแซมเบีย

 

8) ขณะนี้มีการแพร่ระบาดออกไปนอกทวีปแอฟริกาใต้แล้ว ได้แก่ ในทวีปยุโรปคือ อังกฤษพบผู้ป่วยสองราย เป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากแอฟริกาใต้ และเบลเยี่ยม ฮ่องกงพบ 1 ราย ก็เดินทางกลับมาจากแอฟริกาใต้เช่นกัน นอกจากนั้นยังพบในประเทศอิสราเอลด้วย 

 

9) การตรวจพบผู้ติดเชื้อนั้น ส่วนใหญ่จะตรวจพบจากการเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และมีการกักตัว

 

10) เหตุที่ในประเทศแอฟริกาใต้ มีการกลายพันธุ์ของไวรัสบ่อยครั้ง เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนได้จำนวนน้อย จึงมีการระบาดของโรคมาก และไวรัสเพิ่มจำนวนบ่อย จึงกลายพันธุ์ได้มากกว่า

 

11) ขณะนี้ประเทศอังกฤษ ได้ประกาศให้ 10 ประเทศในแอฟริกาห้ามเดินทางเข้าอังกฤษ และคนอังกฤษที่มาจากประเทศดังกล่าวจะถูกกักตัวอย่างน้อย 10 วัน เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ และคนไทยที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศดังกล่าว จะต้องถูกกักตัว 14 วัน

 

  • จับตาความรุนแรง

 

นพ.เฉลิม ยังระบุต่อไปว่า จำเป็นต้องเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด รวมทั้งติดตามรายงานการศึกษาซึ่งจะมีเพิ่มเติมว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน จะมีการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้ามากน้อยอย่างไร รวมทั้งมีอาการโรคที่จะรุนแรง และอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ประการสำคัญที่สุดคือ จะดื้อต่อวัคซีนหรือไม่


ถ้าโชคดี การกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งส่วนหนามของไวรัสดังกล่าว ทำให้ติดเชื้อแพร่ระบาดน้อยลง มีอาการรุนแรงน้อยลง และวัคซีนป้องกันได้ ก็จะโล่งอกกันไป แต่ถ้าโชคไม่ดี การกลายพันธุ์ในส่วนหนามครั้งนี้ ทำให้มีการแพร่ระบาดรวดเร็วมากขึ้น อาการของโรครุนแรงและเสียชีวิตสูง และดื้อแต่วัคซีนด้วยแล้ว ก็จะเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งใหม่อีกระลอกหนึ่งทั่วโลก ซึ่งจะกระทบกับประเทศต่างๆ อย่างรุนแรง ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ
แม้จะมีบางบริษัทออกมาประกาศว่า สามารถที่จะผลิตพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ เพื่อรองรับโอไมครอนได้ใน 6 สัปดาห์ ก็ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ว่าจะทำได้รวดเร็วภายในเวลาดังกล่าว

 

  • โอไมครอน อาจมีมาแล้วพักหนึ่ง

 

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Nithi Mahanonda”  โดยระบุว่า “Omicron” อาจมีมาพักหนึ่งแล้ว แต่เกิดและหลบอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีการเฝ้าระวังจริงจัง จากการดูจุดกลายพันธุ์น่าจะวนเวียนอยู่ในตัว host มาพักนึง แล้วก็โผล่ขึ้นมาจากการเคลื่อนย้ายของคนที่เป็น host เข้ามาในเมือง

 
"ยังหวังว่าระบบภูมิต้านทานอื่นๆ ในตัวนอกจากแอนตี้บอดี้ (ที่ทำท่าว่ามันอาจจะเก่งหลบหลีกภูมิจากวัคซีนได้) ยังพอช่วยประทังได้ อย่าเพิ่งตื่นเต้นรอข้อมูลกันนิด ว่ามันหลบได้ดี ระบาดได้เร็วมากน้อยแค่ไหน ขณะนี้ใส่หน้ากาก เลี่ยงที่อากาศไม่ถ่ายเท และรักษาระยะห่าง จะปลอดภัย อย่าให้หลังปีใหม่นี้ เหมือนหลังสงกรานต์ที่ผ่านมานะครับ กระจายเร่งการฉีดวัคชีนให้ทั่วถึงทุกที่ ทุกกลุ่ม ทุกอายุ เอาหลักวิชาการ(ทั้งสังคมและวิทยาศาสตร์)และความจริงเข้ามาเป็นหลักลดกรอบเดิมๆลดอัตตาและตัดสินใจให้เร็วนะครับ ยืนยันเหมือนเดิมที่เคยว่าไว้ ว่าโรคนี้ต้อง เอาตัวรอดไปด้วยกันทุกคนทุกกลุ่มครับ" ศ.นพ.นิธิ ระบุ 

 

  • 8 ประเทศ เสี่ยงสูง ไม่ให้เข้าไทย

 

สำหรับ ประเทศในทวีปแอฟริกาโดยในกลุ่มประเทศที่พบมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน มี 8 ประเทศ ได้แก่  

1. บอตสวานา

2. เอสวาตีนี

3. เลโซโท  

4. มาลาวี

5. โมซัมบิก

6. นามิเบีย  

7. ซิมบับเว  

8. เซาท์แอฟริกา 

 

โดย กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดเงื่อนไขการเข้าสู่ประเทศ คือ ผู้ที่เดินทางจาก 8 ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงและได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยแล้วก่อนหน้านี้จะมีการสั่งกักตัวเป็นเวลา 14 วันตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 


มาตรการต่อมา คือ ไม่อนุญาตให้ผู้ที่เดินทางจาก8 ประเทศเข้าสู่ราชอาณาจักรไทยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไปรวมถึงไม่อนุญาตให้มีการลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ประเทศไทยในระบบต่างๆ แล้วตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายนเป็นต้นไป

 

ส่วนกลุ่มผู้ที่เดินทางจากทวีปแอฟริกานอกเหนือจาก 8 ประเทศ จะไม่อนุญาตให้เข้ามาในรูปโครงการ Test and go  โครงการ Sandbox ส่วนคนที่เดินทางเข้ามาราชอาณาจักรไทยแล้ว ต้องให้มีการกักตัวในสถานที่ที่กำหนดเป็นเวลา 14 วัน ต้องผ่านการตรวจคัดกรอง 3 ครั้งในช่วงวันที่ 1 วันที่ 5 และวันที่ 13 ที่เดินทางมาถึงประเทศไทย 

 

ขณะนี้ ข้อมูลผู้เดินทางจากประเทศแอฟริกาตอนใต้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการเดินทางจาก 12 ประเทศรวม 1,007 คนเบื้องต้นผลตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด

 

  • นายกฯ สั่งติดตามสถานการณ์ โอไมครอน 

 

ขณะเดียวกัน "นายกรัฐมนตรี" ได้กำชับให้หน่วยงานทั้งด้านสาธารณสุข ความมั่นคง คมนาคม และการท่องเที่ยว เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) ที่พบในแอฟริกาใต้ในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด สั่งการให้ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า ปฏิบัติตามมาตรการการคัดกรองที่เข้มงวด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในประเทศและสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการท่องเที่ยวของไทย