สธ. เฝ้าระวัง "โอไมครอน" พร้อมสื่อสารให้ประชาชนทราบข้อมูลต่อเนื่อง

สธ.  เฝ้าระวัง "โอไมครอน" พร้อมสื่อสารให้ประชาชนทราบข้อมูลต่อเนื่อง

ปลัด สธ. ประชุม EOC กำชับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ กรมควบคุมโรค ติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ "โอไมครอน" ใกล้ชิด พร้อมสื่อสารถึงประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความวิตกกังวล ให้ทุกจังหวัดกำกับติดตามมาตรการ VUCA ขอความร่วมมือประชาชนเข้มมาตรการ UP

วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2564) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรค โควิด-19 (EOC) ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ และข้อมูลการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ "โอไมครอน" ในทวีปแอฟริกาโดยสั่งการให้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ กรมควบคุมโรค ติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งสื่อสารข้อมูลให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความวิตกกังวลและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน


นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า ในการรับมือกับโรค โควิด 19 ได้กำชับให้ทุกจังหวัดกำกับติดตามมาตรการ VUCA คือ การฉีดวัคซีน การป้องกันตนเองขั้นสูงสุด การทำพื้นที่ปลอดภัยจากโควิดและการตรวจคัดกรองด้วย ATK โดยเน้นเฝ้าระวังตรวจจับการระบาดในชุมชน/ชุมชนที่มีแรงงานต่างด้าว เร่งฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 ให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้น ทั้งในโรงพยาบาล เช่น คลินิกโรคเรื้อรัง,คลินิกฝากครรภ์ และนอกโรงพยาบาล เช่น ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย-กลุ่มเปราะบาง จุดลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งในชุมชน และสื่อสารให้ประชาชนใช้มาตรการป้องกันตนเองสูงสุด (Universal Prevention) ทุกที่ ทุกเวลา

“ขณะนี้ยังไม่พบสายพันธุ์โอไมครอนในไทย และเราได้ปรับมาตรการคัดกรองป้องกันให้รัดกุมยิ่งขึ้น จึงขอให้ประชาชนคลายความกังวล และติดตามข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยทางการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ มาตรการ Universal Prevention ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันโควิด 19 ได้ทุกสายพันธุ์" 

 

"ขอให้ประชาชนปฏิบัติเป็นปกติวิสัย ในระยะนี้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน สวมหน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่าง ลดการสัมผัสกัน ถ้าป่วยมีอาการทางเดินหายใจ หรือมีความเสี่ยงสงสัยติดเชื้อให้ตรวจด้วย ATK หรือไปตรวจที่สถานพยาบาล” ปลัด สธ. กล่าว 

 

สธ.  เฝ้าระวัง \"โอไมครอน\" พร้อมสื่อสารให้ประชาชนทราบข้อมูลต่อเนื่อง

สำหรับจำนวนผู้เดินทางเข้าไทยทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1-27 พฤศจิกายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 116,323 ราย พบติดเชื้อ 149 ราย คิดเป็น 0.13% เฉพาะวานนี้ (27 พฤศจิกายน) เดินทางเข้ามา 6,115 ราย พบผู้ติดเชื้อ 5 ราย ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อทุกรายถูกส่งเข้าระบบการรักษาพยาบาลและส่งตรวจหาสายพันธุ์เพื่อการเฝ้าระวัง 

10 ประเทศที่มีผู้เดินทางเข้ามามากที่สุดคือ

  1. USA
  2. เยอรมันนี
  3. เนเธอร์แลนด์
  4. สหราชอาณาจักร
  5. ญี่ปุ่น
  6. รัสเซีย
  7. เกาหลีใต้
  8. ฝรั่งเศส  
  9. UAE
  10. สิงคโปร์