ไทยประกาศจุดยืนยุติปัญหา "เอดส์" ในปี 2573 ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา
จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ "เอสไอวี" และ ผู้ป่วย "เอดส์" พบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยเกือบ 5 แสนราย และมีผู้เสียชีวิต 11,200 คน นำมาซึ่งการแสดงเจตนารมณ์มุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ ในปี 2573 โดยมีเป้าหมายหลัก คือ“ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา”
จากรายงานโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ในปี 2563 พบว่ามีผู้ติดเชื้อจากทั่วโลกสะสม 37.7 ล้านคน เป็นรายใหม่ 1.5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต 680,000 คน สำหรับประเทศไทย ในปี 2564 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ 490,000 คน เป็นรายใหม่ 5,800 คน และมีผู้เสียชีวิต 11,200 คน ซึ่งประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์มุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ“ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา”
ข้อมูลการสำรวจทัศนคติที่มีต่อผู้ติดเชื้อ เอชไอวี ปี 2562 พบว่า คนไทยยังมีทัศนคติเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อสูงถึง ร้อยละ 26.7 ทั้งจากในครอบครัว ที่ทำงาน สถานศึกษา และสถานบริการสุขภาพ จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและความเข้าใจของทุกฝ่ายทั้งในระดับบุคคล องค์กร และสังคม นำไปสู่การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างเป็นมิตรและเท่าเทียม สอดคล้องกับคำขวัญวันเอดส์โลก ปีนี้ คือ ยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์: End inequality. End AIDS. End pandemics
- สิทธิประโยชน์ ผู้ติดเชื้อ เอชไอวี และผู้ป่วย เอดส์
ทั้งนี้ ภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง” มีดำเนินการตาม “ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573” โดยในปี 2548 ได้บรรจุสิทธิประโยชน์การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ พร้อมจัดสรรงบประมาณรองรับ ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษา ที่นำไปสู่การลดอัตราป่วยและเสียชีวิตจากโรคเอดส์ลงได้
- ผู้ป่วยรับยาต้านไวรัส สิทธิบัตรทอง 2.8 แสนคน
ข้อมูลจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ระบุว่า งบประมาณในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ปีงบประมาณ 2564 ได้รับจัดสรรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 3,676.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 332 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 2563 ที่ได้รับจำนวน 3,343.53 ล้านบาท
จากข้อมูลการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีผู้ป่วยเอดส์ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2564 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่ทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวี และลงทะเบียนในระบบการให้บริการผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ (NAP) จำนวน 305,493 คน ในจำนวนนี้ได้รับการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสจำนวน 289,116 คน คิดเป็นร้อยละ 94.63
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยว่า จากรายงานมีข้อมูลที่น่าสนใจ โดยพบว่าในผู้ติดเชื้อที่รับยาต้านไวรัสสามารถกดปริมาณไวรัสลงได้มีจำนวน 204,504 คน หรือร้อยละ 81 และในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อที่ตรวจไม่พบไวรัสในเลือด 194,611 คน หรือร้อยละ 77 ถือเป็นแนวโน้มที่ดีนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ได้
- เพิ่มบริการเข้าถึงการตรวจ รักษา
ตลอดระยะเวลา 17 ปี ของการดูแลผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวี กองทุนบัตรทอง ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนครอบคลุมและเข้าถึงบริการที่จำเป็น ล่าสุดในปี 2564 ได้เพิ่มบริการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันไวรัสตับอักแสบซีในกลุ่มผู้มีภาวะเสี่ยงรวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวี ช่วยให้ได้รับการรักษาด้วยยาสูตรผสมโซฟอสบูเวียร์/เวลพาทาสเวียร์ (Sofosbuvir/Velpatasvir) ลดภาวะเสี่ยงสู่มะเร็งตับ และเพิ่มค่าบริการเพื่อส่งเสริมหน่วยบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมให้บริการฟอกไตกับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่ช่วยอุดช่องว่างกรณีผู้ป่วยถูกเรียกเก็บเพิ่มค่าบริการจนเป็นอุปสรรคเข้าถึงการรักษา
- สิทธิประโยชน์ต่างๆ
ส่วนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ที่ได้รับการบรรจุและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในช่วง 17 ปีมานั้น ได้แก่ บริการเชิงรุกเพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ,บริการให้การปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี (Voluntary counseling and testing: VCT)
บริการยาต้านไวรัสเอชไอวีเพื่อการรักษา และเพื่อการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีทั้งในกรณีก่อนและหลังการสัมผัสเชื้อ (Pre - Post Exposure Prophylaxis : PrEP,PEP) กรณีการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก (ส่งผลให้ปี 2559 ประเทศไทยได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นประเทศที่ 2 ของโลกในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ)
บริการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการเพื่อการติดตามการรักษา เช่น การตรวจ CD4 ,Viral load ,Drug resistance รวมทั้งการสนับสนุนถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันและลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งเพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์
- ประกาศจุดยืนเวทีโลก ยุติเอดส์ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 64 นายอนุทิน ชาญวีรกูลรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายในงาน การประชุมวิชาการวันเอดส์โลก World AIDS DAY virtual conference โดยระบุว่า เอชไอวี หรือ เอดส์ เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศของหลายประเทศทั่วโลก องค์การอนามัยโลก จึงกำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและห่วงใยต่อผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับสูงว่าด้วยเอชไอวีและเอดส์ ที่ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะเร่งรัดดำเนินการเรื่องโรคเอดส์ในด้านต่างๆ ได้แก่
1.การพัฒนานวัตกรรมการตรวจวินิจฉัย และขยายการให้บริการที่ครอบคลุมและเป็นมิตร ในกลุ่มเป้าหมายหลักต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชน
2.การขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำ การตีตรา และการเลือกปฏิบัติ
3.ผลักดันการมีส่วนร่วมของสังคม ในการกำหนด ดำเนินการ พัฒนานโยบายและการให้บริการในทุกระดับ เพื่อสอดรับและตอบสนองต่อความต้องการอย่างแท้จริงของสังคม ซึ่งเป็นหัวใจของการรับมือกับปัญหาโรคเอดส์
โดยไทยพร้อมที่จะร่วมรับรองปฏิญญาทางการเมือง เรื่อง เอชไอวีและเอดส์ ในปี และในปีหน้าที่ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ จะร่วมมือกับทุกประเทศในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์โรคเอดส์ ปี 2564 และปฏิญญาฉบับใหม่ เพื่อนำไปสู่การยุติปัญหาอย่างยั่งยืนภายในปี 2573
สำหรับการประชุมวิชาการวันเอดส์โลกครั้งนี้ นอกจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับฟังความคิดเห็นของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเอชไอวี/เอดส์ในประเทศไทย ยังมีการพิจารณากลยุทธ์เพื่อปิดช่องว่างการดำเนินงานในประเด็นหลักที่ยังคงเป็นปัญหาของประเทศ อาทิ การป้องการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน การขยายชุดบริการเอชไอวีเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการแบบผสมผสานที่มีผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง การจัดบริการโดยการเริ่มให้ยาต้านไวรัสภายในวันที่ทราบผลการตรวจหรือเร็วที่สุด การให้การดูแลผ่านระบบการดูแลทางไกลและดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง การบูรณาการเอชไอวีกับบริการวัณโรค โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น
- ไทยเป็นประธาน UNAIDS นำประชาคมโลกขจัดเอดส์
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา นายอนุทิน พร้อมคณะได้ร่วมหารือกับนายทิม มาร์ติโน รองผู้อำนวยการบริหาร โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) และทีมงาน ณ คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดย รองนายกรัฐมนตรีได้แจ้งถึงความพร้อมของไทยที่จะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ UNAIDS ในปี 2565 ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญในการขับเคลื่อน UNAIDS ในการขจัดโรคเอดส์ ซึ่งยังเป็นโรคระบาดที่สร้างปัญหาสาธารณสุขหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
- ผลักดัน จัดการปัญหาโรคเอดส์
นายอนุทิน เปิดเผยว่า ในปี 2565 ไทยจะผลักดันเรื่องการจัดการปัญหาโรคเอดส์อย่างบูรณาการ โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกันและรักษาโรคเอดส์ในกลุ่มเยาวชนอย่างครอบคลุม รวมทั้งจะขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติให้หมดไป
การรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการ UNAIDS ในปีหน้าเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง และไทยพร้อมจะนำพาประชาคมโลกก้าวไปพร้อมกันในการขจัดโรคดังกล่าวให้หมดสิ้นภายในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) โดยจะให้ความสำคัญกับทุกมิติที่เกี่ยวกับประเด็นโรคเอดส์ โดยเฉพาะการขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ และปัญหาความเหลื่อมล้ำ
“แม้ที่ผ่านมาจะมีความก้าวหน้าอย่างมากในกระบวนการรักษาและการป้องกันโรคเอดส์ แต่ทั่วโลกยังมีความท้าทายหลักอยู่ที่เรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมของการเข้าถึงบริการสุขภาพ ยารักษาโรค ระหว่างเพศ สถานะทางเศรษฐกิจ และกลุ่มอายุ ของผู้คนทั้งในและระหว่างประเทศ”
“อย่างไรก็ตาม คนหนุ่มสาวจะเป็นกลุ่มคนที่เป็นรากฐานสำคัญต่อการต่อสู้กับโรคเอดส์ แต่ยังพบว่าเด็กผู้หญิงและผู้หญิง คนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่ได้รับการดูแลที่ดี เนื่องจากการตีตราตนเอง การตีตราทางสังคม และการเลือกปฏิบัติ โดยทั่วโลกต้องฟังเสียงคนรุ่นใหม่ พลังของคนหนุ่มสาวที่อาศัยอยู่กับเอชไอวี ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการสร้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจะเป็นรากฐานที่สำคัญของการดูแลคนทุกกลุ่ม”
- ยุทธศาสตร์โรคเอดส์โลก
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้สร้างอุปสรรคต่อการดูแลผู้ป่วยเอชไอวี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องการการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน พร้อมกับการมีระบบประกันสุขภาพที่ยืดหยุ่น พร้อมตอบสนองความท้าทายด้านสุขภาพในอนาคต โดยยุทธศาสตร์โรคเอดส์โลก พ.ศ.2564-2569 จะต้องได้รับการแปลงไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลต่างๆ จำเป็นต้องให้การสนับสนุนเกี่ยวกับ เอชไอวี-เอดส์ อย่างเพียงพอ
“ขอเรียกร้องให้ประชาคมโลก กล้าหาญที่จะขจัดต่อความไม่เท่าเทียมทางสังคม ที่ทำให้คนบางกลุ่มมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และกลับสู่แนวทางที่จะยุติโรคเอดส์ให้ได้ภายในปี 2573” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว