คัดค้านไม่เอา"CPTPP" มีแต่เสีย มากกว่าได้
ความพยายามในการเข้าร่วมข้อตกลง "CPTPP" ของรัฐบาลยังคงมีอยู่ แม้ว่าประชาชนหลายกลุ่มมองเห็นว่ามีแต่เสียมากกว่าได้ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
ภาครัฐยังคงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะนำประเทศเข้าร่วม ข้อตกลง CPTTP แม้ภาคประชาสังคมจะทักท้วงไม่เห็นด้วย เพราะมีหลายข้อสร้างความเสียหายให้กับหลายภาคส่วน เป็นข้อผูกมัดสร้างผลกระทบในอนาคต
ล่าสุด ภาคประชาสังคม ได้ออกมารวมตัวกันเรียกร้องอีกครั้ง พร้อมกับรายชื่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกว่า 400,000 ราย
CPTPP คือ อะไร
CPTPP คือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก
เป็นการค้าเสรีที่ครอบคลุมเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุน เพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก
ทั้งในประเด็นคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ
ริเริ่มขึ้นในปีค.ศ.2006 ในชื่อว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) มีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ หลังจากนั้น สหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกไปเมื่อต้นปี 2017
แต่ประเทศสมาชิกยังคงเดินหน้าต่อไปในชื่อใหม่ว่า CPTPP ปัจจุบัน มีสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม
รัฐบาลไทยสนใจ CPTTP
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ให้ความเห็นชอบที่จะนำไทยเข้าเป็นประเทศหนึ่งในข้อตกลง CPTPP
ต่อมา จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ทำเรื่องให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวในช่วงเดือนเมษายนแล้วได้ถอนออกจากวาระ ครม.ในช่วงเย็นของวันที่ 27 เมษายน 2563
โดยให้เหตุผลว่า ยังมีข้อกังวลบางประเด็น เช่น การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ การเปิดตลาดให้กับสินค้าใช้แล้วนำมาปรับปรุงใหม่และการจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ
คัดค้านไม่เอา CPTPP
วันที่ 2 ธันวาคม 2564 เครือข่ายภาคประชาสังคม #NoCPTPP ประกอบด้วย FTA Watch, มูลนิธิชีววิถี, กรีนพีซ ประเทศไทย, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย,เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 4 ภาค, มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย), กลุ่มศึกษาปัญหายา ฯลฯ
ในฐานะตัวแทนของประชาชนกว่า 400,000 เสียง ได้จัดงาน “ความฉิบหายจะมาเยือน Say No to CPTPP บอกแล้วไม่เอา CPTPP” ที่สวนชีววิถี-สวนผักคนเมือง ไทรม้า จังหวัดนนทบุรี
เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รับฟังเสียงของประชาชนที่คัดค้านการเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP มานานกว่า 2 ปี โดยยกเลิกการพิจารณาเข้าร่วม CPTPP ซึ่งลิดรอนสิทธิของประชาชนและตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้ในทันที
เนื่องจากในวันที่ 8 ธันวาคมที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เพื่อชงเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณายื่นหนังสือแสดงความจำนงเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ในวันอังคารที่ 14 ธันวาคม 2564
เครือข่าย#NoCPTPP
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธาน FTA Watch ตัวแทนจากเครือข่าย #NoCPTPP กล่าวว่า เครือข่ายต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนมากกว่านายทุน
“เครือข่าย #NoCPTPP ต้องการเห็นการตัดสินใจของรัฐบาลที่เห็นผลประโยชน์ของประชาชน เพราะการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เป็นเพียงแผนยุทธศาสตร์ที่ขยายอำนาจของบรรษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่
ซึ่งต้องแลกกับการทำลายความมั่นคงทางอาหาร การล่มสลายของวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชุมชนในประเทศไทย ตลอดจนการเข้าถึงยา การสาธารณสุขและระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ อันเป็นผลจากการครอบงำของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยและบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก”
โดยมีการอ่านแถลงการณ์จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเรื่อง “ถ้าไม่คืนความสุขให้ประชาชน ก็อย่าส่งความทุกข์ด้วยการเข้าร่วม CPTPP” และจัดนิทรรศการ 4 ฐานความรู้ คือ
1)เมล็ดพันธุ์ รากฐานสังคม 2)ขยะนำเข้าทำลายคุณภาพชีวิต 3)ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตาข่ายสังคม 4)นโยบายสาธารณะ คุ้มครองผู้บริโภค คุ้มครองประชาชน
การร่วมภาคี เสียมากกว่าได้
ข้อกังวลหลัก หากประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง CPTPP มีดังนี้
1) การเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991ซึ่งตัดสิทธิพื้นฐานของเกษตรกรในการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อในฤดูกาลถัดไป
แต่กลับเพิ่มสิทธิผูกขาดแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์ในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรนอกเหนือจากค่าเมล็ดพันธุ์
2) CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับการนำเข้าสินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ หรือ remanufactured goods โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ ขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์
เป็นช่องทางนำเข้าขยะซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะสารพิษ ที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก
3) CPTPP จะคุ้มครองการลงทุนให้นักลงทุนต่างชาติ เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชนฟ้องร้องรัฐบาล ถ้ารัฐบาลออกหรือบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของนักลงทุนต่างชาติ
แม้จะเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน โดยฟ้องร้องกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) ที่มีคณะอนุญาโตตุลาการนอกประเทศทำหน้าที่ตัดสิน
ทั้งนี้ นิยามการคุ้มครองการลงทุนใน CPTPP กินความกว้างขวาง รวมถึง portfolio ของนักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในระยะก่อนการลงทุน (pre-establishment) ที่ยังหรือไม่ได้มาลงทุนจริงๆ ในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีการคุ้มครองการลงทุนเช่นนี้มาก่อน
การคุ้มครองการลงทุนและการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนใน CPTPP จะส่งผลให้รัฐบาลต้องระงับการออกหรือบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน และชดเชยค่าเสียหายจำนวนมหาศาลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน โดยใช้เงินภาษีของประชาชนจ่าย
ยิ่งไปกว่านั้น ยังจะก่อให้เกิดสภาวะหวาดกลัวหรือ Chilling effect ทำให้รัฐบาลไม่กล้าที่จะออกหรือบังคับใช้กฎหมายใด เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การเข้าถึงยา และการคุ้มครองผู้บริโภค
เพราะกลัวจะถูกฟ้องโดยนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน รวมทั้งอาจทำให้ไม่สามารถปรับปรุงกฎหมายและนโยบายที่ส่งผลอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนในประเทศได้
และอาจขัดต่อมาตรการควบคุมยาสูบตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ซึ่งสวนทางกับเป้าประสงค์ที่ 10.3 ที่มุ่งลดผลกระทบที่ไม่เป็นธรรมจากนโยบายและกฎหมาย ภายใต้เป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน-SDG 10 ที่ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ
4) ข้อบทใน CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศไทย ทำให้ยารักษาโรคแพงขึ้นอย่างมหาศาล
เพราะประเทศต้องพึ่งพายานำเข้าและมีสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นจาก 71% ในปัจจุบัน เป็น 89% และอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศจะมีส่วนแบ่งตลาดลดลงมากกว่า 100,000 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศที่สูงขึ้นส่งผลต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งสามระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบต่องบประมาณค่ายาเท่านั้น
CPTPP ยังจะก่อให้เกิดปัญหาที่รัฐบาลจะไม่สามารถกำหนดและบังคับใช้กฎหมายเพื่อส่งเสริมการนำเข้ายา เช่น มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ และมาตรการป้องปรามการบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างเหล้าและบุหรี่ด้วย
รวมไปถึงจำกัดสิทธิของผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยของสินค้า เช่น เครื่องสำอาง สินค้าที่ซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ สินค้าที่มีส่วนผสมหรือปนเปื้อนสิ่งที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมหรือ GMO ฯลฯ
เครือข่าย#NoCPTPP จึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุติการพิจารณานำ CPTPP เข้ามติคณะรัฐมนตรี และยุติการเข้าร่วมความตกลง CPTPP อย่างถาวรในทันที