"สปสช." ตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ ด้อยโอกาส

"สปสช." ตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ ด้อยโอกาส

อบจ.สกลนคร และ "สปสช." ลงนามบันทึกข้อตกลงจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการดูแล ฟื้นฟูสมรรถภาพกลุ่ม ผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ และ ผู้ด้อยโอกาส 

เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2564 คณะผู้บริหาร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. และ ทพ.กวี วีระเศรษกุล ผอ.สปสช. เขต 8 อุดรธานี  ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดสกลนคร ระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ณ โรงแรมสกลแกรนด์พาเลซ ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร 

 

ดร.ชูพงศ์ คําจวง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร (อบจ.สกลนคร) เปิดเผยว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ได้ร่วมกับ สปสช. เขต 8 อุดรธานี จัดประชุมหารือในการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดสกลนครที่มีวัตถุประสงค์ และกลุ่มเป้าหมาย ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การดําเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด พ.ศ. 2562

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา อบจ. สกลนคร ลงพื้นที่ค้นหา-ออกเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มคนพิการ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ซึ่งก็พบว่ายังไม่มีหน่วยงานใดเข้าถึง-จัดงบประมาณในการดูแล ฉะนั้น อบจ. สกลนคร จึงทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางในการเชื่อมโยงหน่วยงานราชการ เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชมรมและสมาคมคนพิการใน จ.สกลนคร เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของกลุ่มคนด้อยโอกาสในอนาคต 

 

สําหรับงบประมาณในการจัดตั้งกองทุนฯ สปสช.จัดสรรงบประมาณใน อัตรา 5 บาท/ประชากร เป็นเงินจำนวน 5,000,725 บาท และ อบจ.สกลนคร สมทบเงิน จำนวน 15,000,000 บาท สนับสนุนการจัดบริการตามโครงการ หรือกิจกรรมที่คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ ได้อนุมัติ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนในลักษณะโครงการ หรือกิจกรรม ให้กับ อบจ. อปท.อื่นๆ สถานบริการ หน่วยบริการ หน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานอื่น กลุ่ม คนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุ หรือองค์กรอื่นๆ เป็นต้น 

 

“อบจ. ไม่ได้คำนึงถึงเงินที่ สปสช. จะให้ แต่คำนึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้อง คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือ ผู้ป่วยติดเตียง เป็นหลัก เพราะเรานำความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวตั้ง” ดร.ชูพงศ์ กล่าว 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. สั่งสมกระบวนการทำงานร่วมกับ อปท. มาเป็นเวลากว่า 10 ปี และ กองทุนฟื้นฟู สมรรถภาพ เป็นสิ่งที่ สปสช. ได้ตั้งงบประมาณไว้ทุกปี แต่ในขณะเดียวกันการทำงานแค่ด้านสาธารณสุขอย่างเดียวไม่สามารถช่วยให้ประชาชนที่ประสบปัญหาได้รับการฟื้นฟูได้ เนื่องจากมีเรื่องความเป็นอยู่เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น อบจ. จะเป็นกลไกที่สำคัญที่จะเข้ามาช่วยดูแลในด้านนี้

 

“ทาง สปสช. ยินดีถ้าจะสามารถร่วมกันขับเคลื่อนงานต่างๆ ผมมีความมั่นใจว่าการดำเนินงานตาม MOU วันนี้จะเป็นจุดตั้งต้นแห่งความสำเร็จในการดูแลพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องประสบชะตากรรมที่ต้องได้รับบริการการฟื้นฟูสมรรถภาพ” นพ.จเด็จ ระบุ