อัพเดต! ไทม์ไลน์ไทยเจอผู้ติดเชื้อ "โอมิครอน"รายแรก

อัพเดต! ไทม์ไลน์ไทยเจอผู้ติดเชื้อ "โอมิครอน"รายแรก

สธ.แถลงยืนยันไทยตรวจเจอ “โอมิครอน”รายแรก เปิดไทม์ไลน์เป็นชายชาวอเมริกัน เดินทางมาจากสเปน เข้าไทยรูปแบบเทสต์แอนด์โก รับวัคซีนจอห์นสันฯแล้ว ไม่มีอาการ ไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ติดตามผู้เคยเจอยังไม่พบติดเชื้อเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2564 ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงข่าวประเด็น "สถานการณ์และความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โอมิครอน" นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ หากตรวจพบการติดโควิด-19ให้สถานพยาบาลทุกแห่งส่งตัวอย่างตรวจหาสายพันธุ์ทุกรายนั้น  กรมได้รับตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากสถานพยาบาลแห่งหนึ่งมาตรวจหาสายพันธุ์โควิด-19 ซึ่งพบว่าสงสัยติดโควิด-19สายพันธุ์โอมิครอน เนื่องจากผลการตรวจหาสายพันธุ์เบื้องต้นด้วยวิธีRT-PCR โดยใช้น้ำยาตรวจหาสายพันธุ์ 2 ตัว คืออัลฟาและเบตา เนื่องจากจุดกลายพันธุ์ของโอมิครอนบางจุดตรงกับอัลฟาและบางจุดตรงกับเบตา
        หากตัวอย่างที่ส่งตรวจพบผลบวกจากน้ำยาทั้ง 2 ชนิดก็ให้สงสัยว่าเป็นโอมิครอน  โดยเป็นชายชาวอเมริกัน เดินทางมาจากประเทศสเปน เข้าประเทศไทยในรูปแบบของTest and go ที่จะต้องตรวจโควิด-19ทันทีเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย ทั้งนี้ได้มีการแจ้งกรมควบคุมโรคทันทีเพื่อดำเนินการต่างๆ  ไม่ได้รอให้มีการยืนยันก่อน 

   เนื่องจากเป็นรายแรกของประเทศทำให้ต้องมีการตรวจยืนยันก่อนประกาศ จึงมีการส่งตัวอย่างตรวจเพิ่มเติมโดยตรวจหาอีก 2 ตำแหน่งกลายพันธุ์ของโอมิครอน  ผลพบว่าเป็นบวก น่าจะเป็นโอมิครอนมาก จากนั้นมีการตรวจยืนยันสายพันธุ์ไวรัสด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งตัว วิธี Whole genome sequencing พบว่า ความเข้ากันได้กับจีโนมโอมิครอน 99.92 %  แต่เนื่องจากตัวอย่างส่งตรวจที่เก็บจากผู้ติดเชื้อครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2564นั้น
      น่าจะเป็นระยะแรกของการติดเชื้อ จึงมีปริมาณเชื้อที่น้อยทำให้ไวรัสไม่สมบูรณ์ ต้องมีการเก็บตัวอย่างใหม่เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2564 มาทำการตรวจอีกครั้งเพื่อยืนยัน 100 % ว่าเป็นโอมิครอนจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม  ณ วันนี้ ขอให้สรุปเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นโอมิครอน  โดยจะให้เครือข่ายห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์อื่นๆช่วยยืนยันผลด้วย  แต่เบื้องต้นตอนนี้สรุปว่าน่าจะเป็นโอมิครอนและเป็นโอมิครอนรายแรกที่ตรวจพบในประเทศไทย 

        ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. -4 ธ.ค. 2564 ผู้เดินทางเข้ามายังประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเทสต์แอนด์โก ,แซนด์บอกซ์ หรือกักตัว และตรวจพบติดเชื้อนั้นส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตาและสายพันธุ์ย่อยของเดลตา มีเพียงรายนี้รายเดียวที่มีโอกาสเป็นโอมิครอน แต่เมื่อมีรายที่ 1 ก็จะมีรายอื่นๆตามมา แต่ไม่จำเป็นต้องตกใจ เพราะจะเว้นประเทศไทยประเทศเดียวไม่ได้ พวกเราก็จะต้องทำมาตรการต่างๆในการป้องกันการติดเชื้อ ส่วนฝ่ายตรวจจับก็จะทำอย่างเข้มข้นต่อไป ได้สั่งการให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ทางภาคใต้ให้มีการสุ่มตรวจมากขึ้น เพราะมีชายแดนติดกับมาเลเซียที่เจอโอมิครอนแล้ว
     "ขอย้ำว่า ตอนนี้เมื่อเดินออกจากบ้าน ศัตรูของสายพันธุ์โควิดที่จะทำอันตรายของเรา คือ เดลตา ยังไม่ใช่โอมิครอน โดยตอนนี้ 99.87%ในไทยเป็นเดลตา ดังนั้น ต้องฝากให้คิดว่า หากไม่ฉีดวัคซีน ก็จะตัวเปล่าไม่มีอะไรปกป้องเลย จึงขอความกรุณาว่า แม้จะมีผู้หวังดีเตือนว่า ในอนาคตจะต้องมีวัคซีนรุ่น 2 รุ่น 3 เพื่อสู้สายพันธุ์นี้โดยตรง แต่ตอนนี้เราต้องอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับความเป็นจริง ควรมาฉีดวัคซีนกัน ซึ่งมีอีก 30-40% ยังไม่มาฉีด ขอให้มาฉีดวัคซีน เพื่อความปลอดภัยของท่าน และครอบครัว"นพ.ศุภกิจกล่าว

อัพเดต! ไทม์ไลน์ไทยเจอผู้ติดเชื้อ \"โอมิครอน\"รายแรก

รับวัคซีนจอห์นสันฯมาแล้ว

       นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลการสอบสวนเบื้องต้นผู้ที่ติดโควิด-19สายพันธุ์โอมิครอน เป็นชาย อายุ 35 ปี สัญชาติอเมริกัน อาศัยอยู่ที่สเปนเป็นเวลา 1 ปี  อาชีพนักธุรกิจ ไม่มีโรคประจำตัว ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ได้รับวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 1 เข็ม จากประเทศอเมริกาเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2564  โดยเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2564 มีการตรวจRT-PCR ที่สเปน ผลไม่พบเชื้อ หลังจากนั้นไปทานข้าวกับเพื่อน(เพื่อนไม่มีอาการป่วยจนถึงปัจจุบัน) วันที่ 29 พ.ย. บินจากสเปนไปดูไบ พักที่ดูไบ 9 ชั่วโมง ไม่ได้พูดคุยกับใคร สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา  30 พ.ย. บินจากดูไบมากรุงเทพฯ หลังจากลงเครื่องช่วงเที่ยงคืนไปเก็บตัวอย่างแบบDrive thru ที่รพ.คู่สัญญา และกลับเข้าโรงแรม  วันที่ 1 ธ.ค. ได้รับแจ้งจากรพ.ว่าตรวจพบเชื้อ เข้ารับการรักษาในรพ.แห่งหนึ่งอาการน้อยมาก ไม่มีอาการ และวันที่ 3 ธ.ค. ส่งตัวอย่างเชื้อตรวจยืนยันที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  
ไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
      “ผู้ติดเชื้อโอมิครอนรายนี้ ไม่มีอาการแสดงของโรคโควิด-19 ปฏิเสธโรคประจำตัว ไม่มีประวัติตรวจพบเชื้อมาก่อนในอดีต แรกรับอุณหภูมิ36.5 องศาเซลเซียส อัตราการเต้นของหัวใจ 96 ครั้งต่อนาที ภาพถ่ายรังสีทรวงอกปกติ  ไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง มีเพียงผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ตอนนั่งเครื่องบินนั่งคนเดียว ไม่ได้ติดกับคนข้างๆ ตอนอยู่ในโรงแรมในประเทศไทยมีการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ผู้มีประวัติเคยเจอผู้ติดเชื้อรายนี้  ทีมสอบสวนควบคุมโรคจะสอบสวนทุกราย และตรวจสอบหาเชื้อเพิ่มเติม โดยยังปกติดีไม่มีใครติดเชื้อเพิ่มเติม แต่จะต้องมีการติดตามจนครบระยะฟักตัวของโรค”นพ.โอภาสกล่าว

อัพเดต! ไทม์ไลน์ไทยเจอผู้ติดเชื้อ \"โอมิครอน\"รายแรก
  โอมิครอนแพร่เร็วขึ้น 2-5 เท่า

        อัพเดตสายพันธุ์โอมิครอน ดูเหมือนจะแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา 2-5 เท่า  ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย คล้ายโรคไข้หวัด โดยผู้ติดเชื้อที่รายงานในต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่ต้องเข้ารับการรักษาในรพ. ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน มาตรการป้องกัน โดยการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด รวมถึง ใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคลที่เข้มงวด และVUCA ยกระดับการเฝ้าระวัง ณ ช่องทางเข้าออกประเทศและสถานที่ท่องเที่ยว ทำการสุ่มตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยไข้หวัดที่เป็นกลุ่มก้อนสอบสวนละเอียดทุกราย  และส่งตัวอย่างเชื้อที่พบจากผู้เดินทางหรือรายที่น่าสงสัยตรวจหาสายพันธุ์โอมิครอนที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
15 ประเทศพบติดโอมิครอนในประเทศ

        ในการกลายพันธุ์ของไวรัสก่อโรคโควิด-19พบตลอดเวลา โดยการกลายพันธุ์ที่สำคัญมี 3 ประการ คือ  แพร่ระบาดได้เร็วขึ้น ความรุนแรงของโรคมากขึ้น ดื้อต่อการรักษา และประสิทธิภาพวัคซีนปลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  ที่ผ่านมา มีการกลายพันธุ์ที่สำคัญและองค์การอนามัยโลกระบุไว้มี 4 ตัว ได้แก่ อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา และล่าสุด โอมิครอนอ ซึ่งข้อมูลโรคโควิด-19มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น การรับข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียขอให้กลั่นกรอง แต่การรับข้อมูลทางการจากกระทรวงสาธารณสุขจะผ่านการกลั่นกรองจากคณะผู้เชี่ยวชาญที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์และข้อแนะนำจากองค์การอนามัยโลก  
         “ดูเหมือนในขณะนี้ในรูปแบบของการระบาดของโรคโควิด-19 จะใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ที่คุ้นเคยในอดีต เมื่อระบาดมากๆจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ความรุนแรงของโรคดูเหมือนจะลดน้อยลง ยกตัวอย่าง โอมิครอน องค์การอนามัยโลกระบุว่ายังไม่มีการรายงานพบผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์โอมิครอนแม้แต่รายเดียว ตรงกับหลายหน่วยงานที่ให้ข้อมูลมาก ดูเหมือนความรุนแรงของโอมิครอนจะน้อยกว่าเดลตาค่อนข้างมาก โดยพบโอมิครอนแล้วใน 46 ประเทศ แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 15 ประเทศ และพบในผู้เดินทางเท่านั้น 31 ประเทศ”นพ.โอภาสกล่าว   
เปิดประเทศเจออัตราติดเชื้อต่ำ
       ผลการดำเนินงานการรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ 1 พ.ย. – 5 ธ.ค. 2564 ตามมาตรการเปิดประเทศที่มีระบบการคัดกรองที่ค่อนข้างรัดกุม 3 รูปแบบ คือ รูปแบบเทสต์แอนด์โก อัตราการติดเชื้อ 0.02 % เท่ากับเข้ามา 1 หมื่นคนจะเจอผู้คิดเชื้อ 2  ราย เช่นเดียวกับ รูปแบบแซนด์บอกซ์ อัตรการติดเชื้อ 0.02 % และรูปแบบกักตัว 0.18 % ขอให้มั่นใจในแผนการเปิดประเทศว่ารัฐบาลและกระทรวงสาสาธารณสุขสามารถดำเนินการควบคุมการเกิดโรคไม่ให้เกิดระบาด

ไทยติดเชื้อใหม่ 4,000 ราย

นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ทั่วโลกติดเชื้อสะสมแล้ว 266.1 ล้านราย เสียชีวิตสะสม 5.2 ล้านราย สำหรับวันนี้ติดเชื้อใหม่ 4.1 แสนราย แนวโน้มระบาดตัวเลขยังสูงอยู่ โดยทวีปยุโรป อเมริกายังเป็นจุดระบาดใหญ่ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.64 แต่แนวโน้มอัตราเสียชีวิตลดลง จากเดิมอยู่ที่ 2% นิดๆ เหลือ 1.98% ดูเหมือนความรุนแรงโรคน้อยลง จากการดูแลรักษา มียาใหม่ๆ และมีการฉีดวัคซีน

สำหรับประเทศไทยพบรายใหม่ 4,000 ราย สะสม 2.1 ล้านราย เสียชีวิต 22 ราย สะสม 20,823 ราย โดยผู้มีอาการปอดอักเสบลดเหลือ 1,259 ราย ผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ 330 ราย  ทั้งนี้ แนวโน้มการระบาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูเหมือนลดลง แต่บางประเทศยังสูงอยู่ เช่น เวียดนามที่มีการติดเชื้อสูง วันนี้พบถึง 1.4 หมื่นราย เสียชีวิตกว่า 200 ราย รวมถึงเกาหลีใต้ด้วย

วัคซีนยังป้องกันป่วยหนักได้

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า การติดเชื้อโอมิครอน ต่างจากสายพันธุ์อื่นหรือไม่ ต้องบอกว่า เบื้องต้นไม่แตกต่างกัน ยังติดต่อผ่านละอองฝอยเป็นหลัก การติดต่อผ่านลม ผ่านอากาศเจอน้อยมาก จะเจอในบางกรณีคือ ห้องอับ หรือห้องที่มีการแพร่กระจายเชื้อสูง ไม่ได้แพร่ทางอากาศทั่วๆไป

"วัคซีน ไม่ว่าชนิดไหนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขที่นำเรียน ซึ่งผ่านการวิเคราะห์ โดยไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการใช้วัคซีนหลายยี่ห้อ และพบประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันติดเชื้อ 50-80% แต่สามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ค่อนข้างดีมากในระดับ 80-90% ขึ้นไป ดังนั้น หากพูดถึงประสิทธิผลต้องพูด 2 ส่วนคือ ส่วนหนึ่งการป้องกันการติดเชื้อ และอีกส่วนช่วยลดความรุนแรงของการติดเชื้อ" นพ.โอภาส กล่าว