สธ.ยันผู้สัมผัสผู้ติดโอมิครอนรายแรก "ไม่ติดโควิด" หลังตรวจซ้ำรอบ 2
สธ.แถลงผู้สัมผัสชาวอเมริกันติดโอมิครอน ผลตรวจซ้ำ “ไม่พบเชื้อ”หลังตรวจรอบแรกสรุปผลไม่ได้ เป็นไปได้อาจเจอซากเชื้อเคยติดเชื้อไม่รู้ตัว ยันยังไม่มีคนติดเชื้อต่อจากรายแรก รอตรวจซ้ำในวันที่ 13-14
จากกรณีที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.)ให้สัมภาษณ์ว่ามีผู้สัมผัสชายชาวอเมริกันติดโอมิครอนรายแรกที่ไทยตรวจเจอติดโควิด 1 รายนั้น
ล่าสุดเมื่อ 7 ธ.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลง"สถานการณ์โควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน" นพ.จักรรัฐ วงศ์พิทยาอานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า ผลการสอบสวนโรคชายชาวอเมริกัน เดินทางมาจากสเปน ที่ติดเชื้อโอมิครอนเป็นรายแรก อยู่ที่ประเทศสเปนมา 1 ปี เดินทางคนเดียว นั่งริมหน้าต่าง และเว้นที่นั่งจากคนอื่น ทำให้ไม่มีผู้สัมผัสบนเครื่องบิน กรณีเข้าพักที่โรงแรม มีการสัมผัสใกล้ชิดแต่เสี่ยงต่ำ เพราะสวมหน้ากากอนามัยทั้ง 2 ฝ่าย จำนวน 17 ราย ผลตรวจเบื้องต้น 16 ราย เป็นลบ ส่วนอีก 1 ราย วันที่เดินทางไปสอบสวนได้เดินทางไปจ.อุบลราชธานี ทีมสอบสวนโรคที่ จ.อุบลราชธานีได้ติดตามและเก็บตัวอย่าง ส่งตรวจที่สถาบันบำราศนราดูร และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอีก 2 ราย ซึ่งเป็นพนักงานสนามบิน ผลตรวจเป็นลบ ทั้ง 19 รายถือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ
“ล่าสุดชายอเมริกันรายนี้เป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ อยู่ระหว่างการดูแลในสถานพยาบาล ยังสบายใจได้ว่าเป็นเพียงการติดเชื้อเฉยๆ ไม่มีอาการ แต่ต้องกักตัวต่อจนครบ 14 วัน นับตั้งแต่วันที่เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา ส่วนวันที่เหลือจะติดตามสอบถามอาการทุกวัน” นพ.จักรรัฐ กล่าว
กรณีผู้สัมผัสใกล้ชิด 1 ราย ที่เดินทางไปจังหวัดอุบลฯ นั้น เป็นชายไทย อายุ 44 ปี เป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารในโรงแรม ไม่มีโรคประจำตัว วันที่ 1 ธ.ค.ได้เสิร์ฟอาหารให้ชายชาวอเมริกันรายดังกล่าว และมีการนำเอกสารให้เซ็นต์เข้าโรงแรม ใส่หน้ากากอนามัยทั้งคู่ ออกจากห้องพักมีการทำความสะอาด วันที่ 2 ธ.ค. ได้ทำงานด้านเอกสารที่โรงแรม ราวๆ 2-3 ชั่วโมง ทั้งนี้พนักงานรายดังกล่าวเป็นพนักงานตามระบบCOVID free setting m6กอย่าง ตามระบบ SHA+ คือ ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนกา 2 เข็มแล้วตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. และ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา
ช่วง 29-30 พ.ย. หยุดอยู่บ้าน มีออกไปตลาดหน้าปากซอยบ้างเล็กน้อย วันที่ 3 ธ.ค.เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวพร้อมกับครอบครัวรวม 5 คน ไปจังหวัดอุบลฯ แวะรับญาติที่นครราชสีมา 1 ราย กลับถึงบ้านที่อุบลฯ มีการรับประทานอาหารร่วมกัน แวะตลาดแถวบ้าน แต่ยืนยันว่าตอนเดินทางสวมหน้ากากอนามัยตลอด ต่อมาวันที่ 4 ธ.ค. ได้รับแจ้งจากทีมสอบสวนโรคว่ามีผู้ป่วยชาวอเมริกันติดเชื้อ ทั้งนี้วันที่ 5 ธ.ค.เก็บตัวอย่าง และเลือดที่รพ.พิบูลมังสาหาร และส่งตรวจที่สถาบันบำราศฯ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
วันที่ 6 ธ.ค. เดินทางกลับกทม. นอนที่สถาบันบำราศฯ และมีการเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อ เมื่อตรวจแล้วพบต้องสรุปว่าเป็น Inconclusive คือ สรุปไม่ได้ เพราะค่า CT 37 แสดงว่าปริมาณเชื้อน้อยมากๆต้องใช้เครื่องปั่นถึง 37 รอบถึงจะตรวจเชื้อเจอ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นซากเชื้อ เมื่อมีการตรวจซ้ำที่สถาบันบำราศนราดูร ผลออกเมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 7ธ.ค.2564 ด้วยวิธี RT-PCR ยืนยันว่าเป็นลบ คือตรวจไม่พบเชื้อ ทั้งนี้จะมีการตรวจซ้ำอีกครั้งในวันที่ 12-13 เพื่อยืนยันอีกครั้งก่อนครบ 14 วันของการกักตัว” นพ.จักรรัฐ กล่าว
“ชายไทยรายนี้ไม่เคยมีประวัติรายงานการติดโควิด-19มาก่อน แต่อาจจะเป็นไปได้ว่าเคยมีการติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจากข้อมูลประเทศไทยพบว่ามีผู้ติดเชื้อไม่รู้ตัวประมาณ 1.4% และรายนี้เจอชายชาวอเมริกันเพียง 1 ครั้ง ไม่เกิน 5-10 นาที และไม่ได้อยู่ใกล้กันมาก รวมถึงผู้สัมผัสรายอื่นๆด้วย ขณะนี้ยังไม่พบผู้สัมผัสใกล้ชิดติดโควิด-19จากชาวอเมริกัน”นพ.จักรรัฐกล่าว
จากการสอบสวนโรคพบว่ามีผู้สัมผัสใกล้ชิดรายนี้ซึ่งเป็นครอบครัว 4 คน และญาติปีก 1 ราย ที่นครราชสีมา อยู่ระหว่างสอบสวนเพิ่มเติม ปกติ กรณีผู้สัมผัสใกล้ชิดของผู้สัมผัสใกล้ชิด เราจะยังไม่ดำเนินการตรวจมากนัก แต่ก็มีการติดตาม และคุมไว้สังเกตอาการ โดยสรุปสถานการณ์ตอนนี้ ยังไม่พบผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยชาวอเมริกันที่ติดเชื้อโอมิครอน เพิ่มเติมในประเทศไทย อย่างไรก็ตามจะมีการติดตาม ตรวจหาเชื้อทั้ง 17 คน อีกครั้งก่อนครบ 14 วันของการกักตัว รวมถึงอีก 2 รายที่สนามบิน รวมทั้งหมด 19 ราย ซึ่งความเสี่ยงไม่ต่างกันคือเสี่ยงต่ำ
นพ.จักรรัฐ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์แถบยุโรปเมื่อมีการฉีดวัคซีนไปหลายเดือนแล้ว อาจจะมีคนมีภูมิคุ้มกันลดลง ไม่สวมหน้ากากทำให้มีการติดเชื้อสูง ส่วนแอฟริกาที่เริ่มต้นพบโอมิครอน ตอนนี้การติดเชื้ออยู่ในเกณฑ์ไม่สูงขึ้นมาก วันนี้ที่แอฟริกาใต้ติดเชื้อรายใหม่ 6,381 ราย เสียชีวิต 9 ราย ซึ่งประเทศนี้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 40% ของประชากร ป้องกันการติดเชื้อและเสียชีวิตได้พอสมควร ส่วนทางเอเชีย มาเลเซียสถานการณ์ใกล้เคียงไทย ติดเชื้อ 4 พันกว่าราย เสียชีวิต 38 ราย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รายงานการติดเชื้อไม่มาก จะรายงานกรณีที่นอนรพ.และเสียชีวิต เป็นหลัก ส่วนเวียดนามติดเชื้อสูงมาก 26,483 ราย เสียชีวิต 223 ราย นอกจากนี้สิงคโปร์ติดเชื้อรายใหม่ 662 ราย เสียชีวิต 4 ราย โดยสรุปสถานการณ์ทั่วโลก และเอเชียอยู่ในเกณฑ์คล้ายสัปดาห์ที่ผ่านมา
“สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอน วันนี้ติดเชื้อทั้งหมด 54 ประเทศ ในจำนวนนี้เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 19 ประเทศ ส่วน 35 ประเทศเป็นการนำเชื้อมาจากต่างประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีการตรวจเจอ 1 ราย ซึ่งได้แจ้งให้ประชาชนทราบแล้ว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้มีการติดเชื้อไปถึง 54 ประเทศแล้ว แต่อาการหนัก ถึงเสียชีวิตยังไม่มีรายงานออกมา”นพ.จักรรัฐกล่าว