ฝุ่นPM2.5 เพิ่มโอกาสติดโควิด-19 มากยิ่งขึ้น
กรมอนามัยห่วงโควิด-19ปะทะฝุ่นPM2.5 พบฝุ่น PM2.5 จะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจอักเสบ มีโอกาสติดโควิด-19 มากยิ่งขึ้น แนะ 10 วิธีดุแลสุขภาพ
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2564 ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัยแถลงประเด็น "โควิด 19 กับ PM 2.5 สถานการณ์ที่ต้องป้องกัน"ว่า แม้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทยในขณะนี้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่เดือนธันวาคมของทุกปี ฝุ่น PM 2.5 ก็เป็นอีกปัญหาที่เวียนมาตามฤดูกาล ในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะมาเน้นย้ำการป้องกันตนเอง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ทั้งโควิด-19 และ ฝุ่น PM 2.5 ที่มาพร้อมๆกัน
จาก ผลสำรวจอนามัยโพล ประเด็นความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และพฤติกรรมการป้องกันโรคของประชาชน สำรวจตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ของผู้ตอบแบบสำรวจมีความกังวลเล็กน้อยถึงปานกลาง ต่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยเรื่องที่กังวลมากที่สุด คือ การระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ (โอมิครอน) ร้อยละ 47 รองลงมาคือ กังวลการเปิดเมืองและการผ่อนคลายมาตรการอาจทำให้เกิดการระบาด ร้อยละ 10.5 และประชาชนการ์ดตก เช่น สวมหน้ากากไว้ใต้คาง ไม่เว้นระยะห่าง ไม่ล้างมือ เป็นต้น ร้อยละ 9.7
ขณะที่พฤติกรรมป้องกันโรคของประชาชน จากผลการสำรวจทั้งเดือนพฤศจิกายน พบว่า ประชาชนมีพฤติกรรมการสวมหน้ากากตลอดเวลาในที่สาธารณะ ร้อยละ 94.4 รองลงมา คือ ล้างมือหลังสัมผัสสิ่งสกปรก ร้อยละ 91.5 และเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร ร้อยละ 80.3 ต้องขอชื่นชมพี่น้องประชาชนที่ยังคงมีพฤติกรรมป้องกันตนเองที่ดี ขอให้ทุกท่านยังปฏิบัติตนอย่างดีเช่นนี้ต่อไป
“ขอเน้นย้ำให้กลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ปฏิบัติตามหลักการของ Universal Prevention เพราะทุกคนรอบตัวอาจมีเชื้อโควิด-19 ซึ่งเมื่อกลุ่มเสี่ยงได้รับเชื้อโควิด-19 แล้ว อาจมีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้”นพ.สุวรรณชัยกล่าว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในไทย ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ฝุ่น PM2.5 ในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เริ่มสูงขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับวันนี้ มีจำนวน 5 พื้นที่ที่มีปริมาณ PM2.5 เกินมาตรฐาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรปราการ พิจิตร และพิษณุโลก สำหรับการคาดการณ์ฝุ่น PM2.5 พบว่า ฝุ่นจะเริ่มสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายเดือนธันวาคม เนื่องจากสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ ทำให้ฝุ่นสะสมเพิ่มขึ้น
“ภาพแนวโน้มฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือตอนบน ตั้งแต่ 13 ธันวาคม จะมีแรงลมจากฝั่งทะเลจีนใต้ ให้สถานการณ์ฝุ่นดีขึ้น ซึ่งเป็นทำนองเดียวกับภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล”นพ.สุวรรณชัยกล่าว
กรมอนามัย ได้ดำเนินการสำรวจ ประเด็น ความวิตกกังวลหรือกลัวว่าฝุ่น PM2.5 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ พบว่า ผู้ตอบมีความกังวลหรือกลัวว่าฝุ่น PM2.5 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพเกือบร้อยละ 80 โดยเหตุผลที่กังวลมากที่สุด คือ กังวลว่าฝุ่น PM2.5 จะส่งผลกระทบต่อสุขเด็กในระยะยาว รองลงมาคือ ทำให้โรคประจำตัวมีอาการรุนแรงมากขึ้น และกังวลว่าฝุ่น PM2.5 จะทำให้โควิดระบาดมากขึ้น
ช่องทางสื่อสารที่ทำให้ทราบว่าช่วงใดมีปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ พบว่า กว่าร้อยละ 70 ทราบช่องทางในการรับรู้ โดยวิธีจากการสังเกต ติดตาม Facebook หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ข่าวสารทาง TV วิทยุ เสียงตามสาย หอกระจายข่าว ส่วนประเด็นความรู้ถึงสาเหตุของการเกิดฝุ่น พบว่า กว่าร้อยละ 90 ทราบว่าฝุ่น PM 2.5 มีสาเหตุจากที่ใด โดยผู้ที่ตอบว่ารู้ รู้ว่าสาเหตุการเกิดฝุ่น ส่วนใหญ่เกิดจากการจราจร โรงงานอุตสาหกรรม การเผาขยะ และการเผาพื้นที่ทางการเกษตร
“เมื่อมาดูความสัมพันธ์ระหว่างสถานการณ์ PM2.5 และการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ในคนปกติ ฝุ่น PM2.5 จะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจอักเสบ เมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ในกรณีผู้ป่วยโรคโควิด-19 หรือผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 แล้ว เมื่อฝุ่น PM2.5 สูงขึ้น ในบางคน อาจมีอาการระคายคอ ไอมีเสมหะง่าย มีน้ำมูกง่ายขึ้นได้”นพ.สุวรรณชัยกล่าว
กรมอนามัย จึงขอแนะนำประชาชน ถึงวิธีดูแลสุขภาพตนเองในสถานการณ์โควิด-19 และฝุ่น PM2.5 ดังนี้
1. ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้านผ่านแอปพลิเคชัน “Air4Thai”
2. สำรองหน้ากากป้องกันฝุ่น (เช่น หน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95)
3. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ
4. กินอาหารครบ 5 หมู่ และเน้นผัก/ผลไม้ ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ
5. ซ่อมแซมบ้าน/ห้อง ปิดช่องหรือรูตามขอบประตู หน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 จากภายนอกเข้ามา
6. ทำความสะอาดจุดที่สะสมฝุ่นภายในบ้าน เช่น กวาดถูบ้าน/ห้อง ล้างแอร์ ล้างพัดลม
7. วันที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ให้เลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้ง เปลี่ยนมาออกกำลังกายภายในอาการแทน
8. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
9. สังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก ใจสั่น หรือเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์
10. ช่วยกันลดฝุ่น PM2.5 เช่น งดการเผาในที่โล่ง ลดการใช้รถที่ปล่อยควันดำ ร่วมปลูกต้นไม้ เพื่อช่วยดักฝุ่นละออง
ทั้งนี้ พี่น้องประชาชน สามารถติดตามสถานการณ์ PM2.5 และการดูแลป้องกันตนเองผ่าน Line OA ที่ชื่อว่า One4U และ Website 4Health ได้ กรมอนามัย ขอเน้นย้ำให้ทุกคน ให้ความสำคัญกับการสวมหน้ากาก เพื่อป้องกันทั้งโรคโควิด-19 และสถานการณืฝุ่น PM2.5 เพื่อช่วยลดความเสี่ยงหรืออาการป่วยที่รุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว