ภัยเงียบ "โซเดียม" แอบแฝง บ่อเกิดโรค "NCDs" เตือนอ่านฉลากก่อนบริโภค
สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจฉลากโภชนาการ "อาหารกึ่งสำเร็จรูป" และ "เครื่องปรุงรส" ปี 64 อาหาร ประเภท ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น มีปริมาณ "โซเดียม" มากที่สุดตั้งแต่ 220 – 7,200 มิลลิกรัม
นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากความร่วมมือภายใต้โครงการติดตามปริมาณ โซเดียม ในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ ลดเค็ม ลดโรค ได้ดำเนินการสุ่มสำรวจอ่านฉลากค่า "โซเดียม" กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูปจำนวน 300 ตัวอย่างและเครื่องปรุงรส จำนวน 100 ตัวอย่าง เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนภัยใกล้ตัวจากภัยเงียบ โซเดียมแอบแฝงใน อาหารกึ่งสำเร็จรูป และ เครื่องปรุงรส บ่อเกิดของ โรค NCDs โดยมีวัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้บริโภคต้องอ่านฉลากโภชนาการก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ เพื่อลดการเกิดโรค NCDs
2. เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเพื่อนำไปสู่การลดปริมาณโซเดียมและผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย
3.เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการลดปริมาณโซเดียม
ด้วยปัจจุบันอาหารกึ่งสำเร็จรูปเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากสภาพการดำรงชีวิตในปัจจุบันตกอยู่ในภาวะที่ต้องเร่งรีบแข่งกับเวลา ทำให้ไม่มีเวลาในการเตรียมอาหารเพื่อรับประทานและด้วยสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะใช้เวลาในการเตรียมไม่นาน และกรรมวิธีในการปรุงก็ไม่ยุ่งยาก แถมยังมีรสชาติที่อร่อย
แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องระวังมากที่สุด คือ โซเดียมที่แอบแฝงมา ไม่ว่ารสชาติเดิมจากผลิตภัณฑ์จะอร่อยแค่ไหน คนเราก็หนีไม่พ้นกับการปรุงเพิ่ม โดยเฉพาะเครื่องปรุงรสเค็ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซอสถั่วเหลือง ซอสปรุงรส ซึ่งปกติคนเราหากกินโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้มากกว่าที่คิด ทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
นายธนพลธ์ กล่าวว่า ขอเน้นให้ผู้บริโภคหันมาอ่านฉลากกันแบบจริงจังก่อนที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ทุกวันนี้โรค NCDs เกิดขึ้นกับประชาชนคนไทยสูงมากเนื่องจากการบริโภคโซเดียมเกินปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ในข้อมูลจากผลสำรวจ ทั้งสองกลุ่มผลิตภัณฑ์ได้รวบรวมปัญหาหลายๆด้านออกมาเป็นข้อเสนอดังนี้ ข้อเสนอต่อผู้บริโภคเพื่อให้ผู้บริโภคต้องอ่านฉลากโภชนาการก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ เพื่อลดภาวะเลี่ยงเกิดโรค NCDs
ข้อเสนอต่อผู้ประกอบการ
1) เพื่อให้ผู้ประกอบการลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร
2) ให้ผู้ประกอบการจัดทำฉลากให้ผู้บริโภคเห็นชัดเจนและตัดสินใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้ง่าย
ข้อเสนอต่อหน่วยงาน
1) ให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในในผลิตภัณฑ์อาหาร
2) สนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจ
3) ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผลักดันฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องการอ่านฉลาก
4) ผลักดันให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุหลักสูตรเรื่องการอ่านฉลากให้กับเด็กตั้งแต่ระดับปฐมศึกษา (สุขภาพดีแต่วัยเด็ก)
ด้าน นางสาวศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการในกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส ประจำปี 2564 เริ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ในเดือนพฤษภาคม - เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2564 จำแนกออกเป็น กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป จำนวน 300 ตัวอย่าง กลุ่มเครื่องปรุงรส จำนวน 100 ตัวอย่าง ในซองผลิตภัณฑ์ ประกอบไปด้วย ฉลากอาหาร ฉลากโภชนาการ (แบบเต็มและแบบย่อ) และฉลากโภชนาการแบบ GDA ที่มีข้อมูลแตกต่างกันไปตามผลิตภัณฑ์ บางผลิตภัณฑ์ข้อมูลในฉลากโภชนาการกับฉลาก GDAไม่ตรงกัน ผลิตภัณฑ์หมดอายุแล้วแต่ยังวางจำหน่วย เป็นต้น
สิ่งสำคัญที่สุดคือก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต้องอ่านฉลากทุกครั้ง ในส่วนของผลสุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมในฉลากโภชนาการกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป จำนวน 300 ตัวอย่าง จำแนกออกเป็น 3 ประเภท พบว่า มีปริมาณโซเดียม ดังนี้
1) ประเภท ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 220 – 7,200 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
2) ประเภท โจ๊ก ข้าวต้ม มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 0 – 1,420 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
ในส่วนของผลสุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมในฉลากโภชนาการกลุ่มเครื่องปรุงรส จำนวน 100 ตัวอย่าง จำแนกออกเป็น 4 ประเภท พบว่า มีปริมาณโซเดียม ดังนี้
1)ประเภท ซอส ซีอิ้ว น้ำมันหอย น้ำปลา มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 130-2,560 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ)
2) ประเภท น้ำปรุงรส พริกแกง กะปิ มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210-1,490 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 2 ช้อนชา)
3) ประเภท ผงปรุงรส มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 430-1,910 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 1 ช้อนชา)
4) ประเภท เนย ชีส มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 45-280 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ)
ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า คนไทยกินเค็ม เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆในอนาคตได้ ซึ่งในปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือกลุ่มโรค NCDs ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ยังมีการเจริญเติบโตไม่เต็มที่มีขนาดอวัยวะที่เล็กกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะไตและหัวใจที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงหากเด็กได้รับโซเดียมจากอาหารที่มากเกินความต้องการติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
นอกจากนี้ การติดกินเค็มจนเป็นนิสัยตั้งแต่เด็กก็ย่อมมีแนวโน้มที่ลิ้นจะติดเค็มไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ ปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่เด็กรับประทานอยู่ที่ 3,194 มิลลิกรัม/วัน ในขณะที่ผู้ใหญ่ รับประทานโซเดียมเฉลี่ยที่ 3,636 มิลลิกรัม/วัน แต่ในขณะที่ปริมาณโซเดียมที่เด็กวัยเรียนอายุ 6-15 ปี และผู้ใหญ่ ควรได้รับ เท่ากับ 1,500 และ 2,000 มิลลิกรัม ตามลำดับเท่านั้น และโซเดียมสามารถกระตุ้นน้ำลาย ทำให้อยากอาหารมากขึ้น ยิ่งกินก็ยิ่งติดเค็ม
การสำรวจปริมาณโซเดียมในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรสในครั้งนี้ ถือเป็นเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก และหากมีการผลักดันการเก็บภาษีโซเดียมได้สำเร็จทางผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดเกลือโซเดียม และเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางเลือกโซเดียมต่ำออกสู่ตลาดมากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งทางผู้ผลิตและผู้บริโภค
ซึ่งในบางประเทศ เช่น ฮังการี อาหารที่มีเกลือโซเดียมไม่เกินเพดานที่กำหนด จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้อีกด้วย
ด้านนางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่าด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหาร จากผลสรุปการอ่านฉลากโภชนาการและฉลาก GDA ในกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป จำนวน 300 ตัวอย่าง และเครื่องปรุงรส จำนวน 100 ตัวอย่าง ของสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย นั้นพบว่าฉลากมี 2 ประเภท
1. ฉลากข้อมูลโภชนาการ ที่บอกข้อมูลต่อ 1 หน่วยบริโภค
2.ฉลาก GDA บอกข้อมูลต่อ 1 บรรจุภัณฑ์
ซึ่งผู้บริโภคจะเลือกทานอาหารต้องอ่านฉลากทั้ง 2 ประเภทเพื่อตัดสินใจ และอาจเกิดความไม่เข้าใจและสับสนได้ ซึ่งผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือแสดงฉลากตามความจริง และสิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการได้อย่างถูกต้องและพอเพียง ไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่เป็นธรรม
ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องผลักดันนโยบายเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อโดยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภค และสนับสนุนเผยแพร่แอพพลิเคชั่นฟู้ดช้อยส์ (FoodChoice) สแกนก่อนกินเมื่อสแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์ ข้อมูลบนฉลากโภชนาการจะถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดงที่สามารถเข้าใจได้ง่าย
ช่วยผู้บริโภคในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน และเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุหลักสูตรเรื่องการอ่านฉลากให้กับเด็ก จะทำให้เด็กรู้เท่าทันฉลาก เข้าใจฉลาก เพื่อลดภาวะโรคเรื้อรังในเด็ก