เช็คมาตรการ ศบค.อนุญาตทำได้ช่วงปีใหม่ - เคาท์ดาวน์
ศบค.เห็นชอบปรับมาตรการป้องกันโควิด-19 จัดงานช่วงเทศกาลปีใหม่ คืน 31 ธ.ค. - 1 ม.ค. เปิดบริโภคสุราได้ไม่เกินตี 1 พื้นที่ควบคุมดื่มได้ในร้านอาหารเฉพาะที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวกเท่านั้น เข้มมาตรการจัดงานเคาท์ดาวน์
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ศบค.เห็นชอบการปรับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในการจัดงานช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยในพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว การบริโภคสุราในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2564 – 1 มกราคม 2565 สามารถเปิดบริการ และบริโภคสุราได้ไม่เกิน 01.00 น.
สำหรับพื้นที่ควบคุม สามารถบริโภคสุราในร้านอาหารได้เฉพาะวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ถึง 1 มกราคม 2565 ไม่เกิน 01.00 น. และเฉพาะร้านที่เปิดโล่งอากาศถ่ายเทสะดวกเท่านั้น ทั้งนี้ ให้เคร่งครัดตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่สาธารณสุขกำหนด (COVID Free Setting)
ในส่วนมาตรการความปลอดภัย ในการจัดงานช่วงเทศกาลปีใหม่
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการระบาดในช่วงเทศกาลปีใหม่
-การเดินทาง/เคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด
-การรวมตัว/ความหนาแน่น
-การบริโภคสุรา แอลกอฮอล์ การไม่ปฏิบัติตามมาตรการ
-การประมาท ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของผู้ประกอบการ
กิจการ/กิจกรรม/สถานประกอบการที่ต้องควบคุมกำกับมาตรการ
1.การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ
2.กิจกรรมรวมตัวเครือญาติ จัดงานสังสรรค์ปีใหม่ที่บ้าน หรือในชุมชน
3.กิจกรรมรวมตัวในสถานที่สาธารณะ เช่น อีเวนต์ กิจกรรมส่งเสริมการขาย
4.กิจกรรมทางศาสนา เช่น สวดมนต์ข้ามปี ทำบุญ ตักบาตร รับปีใหม่
5.แหล่งท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร
มาตรการกิจกรรม/กิจการที่มีความเสี่ยง
ขนส่งสาธารณะ
-สถานีขนส่ง ท่ารถ ท่าเรือ ให้จัดมีมาตรการเว้นระยะห่าง มีการระบายอากาศเป็นตามเกณฑ์ และทำความสะอาดบ่อยๆ
-ยานพาหนะ เน้นทำความสะอาดหลังจากใช้บริการแต่ละครั้ง กรณีพาหนะที่เป็นแบบปรับอากาศให้เปิดระบายอากาศทุก 2 ชั่วโมง หรือ ขณะพักรถ และหลังจากให้บริการแต่ละเที่ยว
-ผู้โดยสารสวมหน้ากากตลอดเวลา และห้ามไม่ให้รับประทานอาหาร ขณะกำลังโดยสาร
ปั๊มน้ำมัน
-ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมบ่อยๆ โดยเฉพาะห้องน้ำ บริเวณจุดที่พักคอย
-กิจการที่อยู่ในปั๊มน้ำมัน ให้ดำเนินการตามมาตรการ COVID Free Setting ทุกกิจการ
ร้านอาหาร
-จัดให้มีการระบายอากาศ และควบคุมความหนาแน่นในร้านอาหาร
-งดไม่ให้มีกิจกรรมส่งเสริมการขายแอลกอฮอล์ทุกรูปแบบ และบริการที่ต้องมีการสัมผัสใกล้ชิด
-การทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมบ่อยๆ โดยเฉพาะห้องน้ำ
ห้างสรรพสินค้า/คอมมูนิตี้ มอลล์
-ควบคุมการร่วมกลุ่ม/ความหนาแน่น และการเว้นระยะห่างในการใช้บริการ โดยเฉพาะศูนย์อาหาร ร้านอาหาร บริเวณที่จัดให้มีการแสดงสินค้า หรือส่งเสริมการขาย ลานกิจกรรม โรงภาพยนตร์ ฯลฯ
-ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมบ่อยๆ โดยเฉพาะห้องน้ำ บริเวณจุดที่พักคอย
- ทุกกิจกรรมย่อยในห้างสรรพสินค้าให้ดำเนินการตามมาตรการCOVID Free Setting
แหล่งท่องเที่ยว
-ควบคุมการร่วมกลุ่ม/ความหนาแน่น และการเว้นระยะห่าง
-กิจการ/กิจกรรมภายในแหล่งท่องเที่ยวให้ดำเนินการตามมาตรการCOVID Free Setting
กิจกรรมรวมตัวของเครือญาติ/จัดงานสังสรรค์ที่บ้าน
-แนะนำฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือตรวจATK ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม
-แนะนำสวมหน้ากาก โดยเฉพาะเมื่อต้องใกล้ชิดผู้สูงอายุ
-หากจัดกิจกรรมสังสรรค์ควรจัดในที่มีอากาศระบายได้ดีหรือที่โล่ง จัดพื้นที่ไม่ให้หนาแน่น งดกิจกรรมการสัมผัสใกล้ชิดหรือใช้สิ่งของร่วมกัน
-ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีน งดร่วมกิจกรรมสังสรรค์ และสัมผัสใกล้ชิดลูกหลาน
มาตรการกรณีมีผู้ร่วมงานตั้งแต่ 1,000 คนขึ้นไป
1.ยกระดับ COVID Free Personnel
-ผู้จัด พนักงาน นักร้อง นักดนตรี ต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์
-ตรวจคัดกรองผู้จัด พนักงาน นักแสดง นักร้องทุกคนด้วยATK ก่อนจัดงานภายใน 72 ชั่วโมง
-ตรวจคัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้างานด้วยTST หรือแอพพลิเคชั่นอื่นๆ
-ถือปฏิบัติตามมาตรการUP-DMHTA
2.ยกระดับ COVID Free Customer
-ผู้เข้าร่วมงานต้องลงทะเบียนและแสดงหลักฐานการได้รับวัคซีน ครบตามเกณฑ์ และมีผลตรวจATKเป็นลบก่อนเข้างานภายใน 72 ชั่วโมง อาจเป็นการตรวจล่วงหน้า หรือหน้างาน โดยผู้จัดงานสนับสนุนการตรวจATK หรือตรวจมาเอง ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่มากับผู้ปกครอง
-คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้างาน ด้วยTST หรือแอพพลิเคชั่นอื่น
-ถือปฏิบัติตามมาตรการUP-DMHTA
ทั้งนี้ ผู้จัดงาน ต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ต้องลงทะเบียนและทำการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID 2Plus และควบคุมกำกับให้พนักงานประเมินตนเองผ่านThai Save Thai(TST)
3.ยกระดับ COVID Free Environment
-ควรจัดงานในพื้นที่ ที่ควบคุมการเข้าออกได้(พื้นที่ปิด)และในที่โล่งแจ้งเท่านั้น
-ต้องจัดการไม่ให้เกิดความแออัดในการจัดงาน โดยดำเนินการ จัดให้มีการจองตั๋วล่วงหน้า หรือลงทะเบียนล่วงหน้า ก่อนถึงวันจัดงาน กำหนดช่องทางเข้า-ออกจากงาน จุดเดียว และมีระบบคิว ให้สามารถควบคุมได้ จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงาน 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร และติดป้ายแสดงจำนวนผู้ใช้บริการให้เห็นชัดเจน กำหนดโซนของผู้เข้าร่วมงาน ระบุที่นั่ง อาจจัดเป็นกลุ่ม(ไม่เกิน 5 คน) หรือ 2 ที่ เว้น 1 ที่ และเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร และงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความไร้ระเบียบ หรือสัมผัสใกล้ชิดกัน เช่น การจัดพื้นที่เต้นรำส่วนกลาง หรือทำกิจกรรมร่วมกัน
-เน้นการทำความสะอาดพื้นที่ พื้นผิว หรืออุปกรณ์ที่สัมผัสร่วมกันทุก 1-2 ชั่วโมง
-กรณีมีการแสดง ควรจัดระยะห่าง ระหว่างเวที และผู้ชมอย่างน้อย 5 เมตร และเว้นระยะห่างของนักดนตรี นักแสดงบนเวทีอย่างน้อย 1 เมตร
เคาท์ดาวน์-สวดมนต์ข้ามปีจัดได้
“ส่วนการจัดงานช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้มีการนำเสนอการจัดงานพื้นที่หลัก ใน 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ภูเก็ต อยุธยา ระยอง และนครราชสีมา และการจัดงานในพื้นที่อื่นๆ อีก 44 จังหวัด โดยขออนุญาตจัดในช่วงวันที่ 27-30 ธันวาคม 2564 เวลา 16.00-22.00 น. ส่วน 31 ธันวาคม 2564 ในช่วงเวลา 16.00-00.30 น. และในพื้นที่ของการจัดงาน ในร้านอาหารพื้นถิ่นไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจัดงานภายใต้มาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และมาตรการSHA นอกจากนี้ การสวดมนต์ข้ามปี กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)แจ้งว่า มีการจัดในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ในส่วนกลาง วัดพระเชตุพนฯ วัดอรุณฯ และส่วนภูมิภาคจัดขึ้นในหลายพื้นที่” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์