ศูนย์จีโนม รพ.รามา เผย“โอมิครอน”สามารถดึงจีโนมไวรัสตัวอื่นเข้ามาผสมได้
ศูนย์จีโนม รพ.รามา เผย “โอมิครอน”มีความสามารถพิเศษดึงจีโนมไวรัสตัวอื่นเข้ามาผสมตัวเองได้ คาดใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน โอมิครอนจะเป็นไวรัสก่อเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ จับตาพื้นที่ระบาดซ้ำในไทย
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2564 ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ในฐานข้อมูลกลางโควิด-19โลก หรือ GISIAD มีการบันทึกข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ที่ช่วยกันสุ่มตรวจตัวอย่างเชื้อ 6 ล้านตัวอย่าง ระบุไม่มีไวรัสสายพันธุ์ไหนสามารถดึงสายพันธุกรรมหรือจีโนมบางชิ้นส่วนของไวรัสตัวอื่นเข้ามาผสมในจีโนมตัวเอง ยกเว้นโอมิครอน ซึ่งมีความสามารถพิเศษต่างจากไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์อื่น โดยสามารถดึงเอาจีโนมบางส่วนของบรรดาไวรัสโคโรนาที่ติดต่อในมนุษย์ที่ก่อให้เกิดโรคหวัดเข้ามาผนวกไว้ในสายจีโนมของตัวเองได้ และมีการสร้างกรดอะมิโน 3 ตัวที่ต่างไปจากไวรัสโคโรนา 2019
“นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ว่า อาจจะเป็นประเด็นที่ทำให้โอมิครอนต่างจากสายพันธุ์อื่น คือไม่รุนแรงแต่ติดเชื้อได้รวดเร็ว คล้ายกับไวรัสไข้หวัดธรรมดา แต่ที่ต้องดูต่อไปและต้องระวัง เนื่องจากพฤติกรรมที่สามารถดึงสายพันธุกรรมไวรัสตัวอื่นเข้ามาได้ หากไปดึงสายพันธุ์อื่นเข้ามาไม่ว่าจะเป็นเดลตา อัลฟา เบตาเข้ามาได้ จะเกิดอะไรขึ้น อาการจะรุนแรงหรืออ่อนกำลังลงยังไม่มีใครรู้ ยังต้องติดตาม ความจริงโอมิครอนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นไวรัสลูกผสมกลายๆ ก็ได้ เนื่องจากมีสายพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดธรรมดาผนวกอยู่ด้วย มีคุณสมบัติพิเศษ ไม่เหมือนตัวอื่น”ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์กล่าว
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวด้วยว่า ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนจึงจะเห็นชัดว่าโอมิครอนจะเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ทั่วโลกก็กำลังจับตาดูสถานการณ์โดยเฉพาะข้อมูลจากอังกฤษ เนื่องจากขณะนี้มีการระบาดของโอมิครอนอยู่ หากในที่สุดแทนเดลตาได้ และอัตราเสียชีวิตน้อย ก็มีความชัดเจนว่าสายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรง แต่ติดเชื้อได้ไว้ และมีโอกาสที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันเนื่องจากไม่เกิดการเจ็บป่วยรุนแรง ก็อาจจะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดาที่มาตามฤดูกาล ก็จะเข้าสู่โหมดที่เรียกว่าโรคประจำถิ่น ซึ่งก็คาดหวังว่าจะเป็นเช่นนั้น
เมื่อถามว่าประเทศไทยขณะนี้พบผู้ป่วยโอมิครอนซึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศแล้ว 11 ราย มีข้อสังเกตอย่างไรว่าจะมีโอกาสแพร่ระบาดในประเทศหรือไม่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า อย่างในกทม.และปริมณฑล หรือพื้นที่ภาคกลาง สถานการณ์เวลานี้อยู่ในช่วงขาลง จึงไม่ค่อยมีปรากฎจะมีเดลตาระบาดขึ้นมาอีก เพราะมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว ฉะนั้นหากพบว่าจุดไหนมีการติดเชื้อระบาดขึ้นมาอาจจะตั้งข้อสันนิษฐานว่าเป็นโอมิครอนหรือไม่ บริเวณไหนมีการติดเชื้อระบาดขึ้นมากรมควบคุมโรคอาจจะต้องพิจารณาแล้วว่ามีความเป็นไปได้ว่าเป็นโอมิครอนหรือไม่ โดยตรวจด้วย PCR เพื่อดูว่าเป็นสายพันธุ์ใดคร่าวๆ ได้
“ส่วนตัวคิดว่าโอมิครอนมีการติดต่อที่ง่าย จึงมีโอกาสที่จะเข้ามาและมีการติดเชื้อภายในประเทศได้ หากเข้ามาเป็นหย่อมๆ แล้วเราทันหรือไม่ที่จะเข้าไปตัดตอนไม่ให้กระจาย แต่ด้วยที่เรามีภูมคุ้มกันโดยธรรมชาติและที่ฉีดวัคซีนกันก็คิดว่าน่าจะยันอยู่”ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์กล่าว
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ที่อังกฤษน่าสนใจ ขณะนี้มีการระบาดของโอมิครอนจำนวนมากขึ้น ต้องติดตามว่าจะมีผู้เสียชีวิตกี่ราย ที่มีรายงานขณะนี้มีเพียงรายเดียว ต้องเข้าใจด้วยว่า โดยทั่วโปผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ก็มีการเสียชีวิตเช่นกัน ต้องติดตามสักพัก หากจำนวนผู้ติดเชื้อมาก แต่ผู้เสียชีวิตน้อยก็คงพอไหว หากมีผู้เสียชีวิตมากก็ต้องระวัง คำแนะนำสำหรับไทยสิ่งที่ควรจะเร่งดำเนินการคือการฉีดกระตุ้นเข็มสาม