คาดหลังปีใหม่ ไทยพบผู้ป่วยโอมิครอนมากขึ้น ไม่ต้องตื่นอังกฤษเจอตาย1ราย
คาดไทยน่าจะเริ่มพบผู้ป่วยโอมิครอนมากขึ้น หลังปีใหม่ คร.ระบุไม่ต้องตื่น หลังอังกฤษพบผู้เสียชีวิต 1 ราย ย้ำยังไม่ปรับมาตรการเพิ่ม คุมเข้มผู้เดินทางเข้าประเทศ-เฝ้าระวังสายพันธุ์ กำชับกลุ่มยังไม่รับวัคซีน 2 ล้านคนรวมผู้สูงอายุ-มีโรคประจำตัวรีบฉีด
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีพบการระบาดของโอมิครอน และประเทศอังกฤษรายงานเสียชีวิต 1 คนว่า มาตรการในการรักษายังคงเดิม แต่ได้มีการหารือกับภาคีเครือข่ายเตรียมพร้อม ในการดูแลผู้ป่วย หากไทยต้องเผชิญกับโอมิครอน โดยส่วนตัวคาดว่า ไทยน่าจะเริ่มพบผู้ป่วยโอมิครอนมากขึ้น หลังปีใหม่ หรือ ในกลางเดือนมกราคม หากพบมากขึ้น ป่วยน้อยก็ยังใช้การรักษาแบบ HI ทั้งนี้ ความรุนแรงของโอมิครอน ขึ้นอยู่กับจำนวนการติดเชื้อ หากมีการติดเชื้อมาก ย่อมมีโอกาสที่จะพบคนมีอาการรุนแรง โดยอัตราป่วยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น ป่วย 1,000 คน อาจรุนแรง 5% แต่ขณะนี้จากการติดตามสถานการณ์ในประเทศไทย ไม่พบผู้ป่วยอาการหนักจากโอมิครอนในไอซียู
“ต้องยอมรับว่า โอมิครอนติดง่ายและแพร่เร็วกว่าเดลตา แม้ผลการรายงานโอมิครอน อาจหลบภูมิคุ้มกัน วัคซีน แต่การฉีดวัคซีนยังช่วยลดอัตราการติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงได้ ส่วนเรื่องของยาทั้งโมลนูพิราเวียร์ และแพ็กซ์โลวิด ประสิทธิภาพน่าจะใช้ได้ แต่มาตรการระยะห่าง สวมหน้ากาก และล้างมือ ช่วยป้องกันโอมิครอนได้แน่”นพ.สมศักดิ์กล่าว
ด้านนพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ยังไม่มีรายละเอียดข้อมูลของผู้เสียชีวิต 1 รายจากประเทศอังกฤษ ว่ามีปัจจัยอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น โรคประจำตัว หรือ การรับวัคซีนโควิดหรือไม่ ทั้งนี้ สายพันธุ์โอมิครอนคือเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19เหมือนสายพันธุ์เดลตา อัลฟา ที่อาจมีอาการเจ็บป่วยหนัก และเสียชีวิตได้ เพียงแต่ข้อมูลในส่วนของโอมิครอนอาจยังไม่มากพอ เนื่องจากพึ่งเริ่มมีการระบาด ซึ่งจะมีการแพร่ระบาดที่เร็วกว่าหรือเสียชีวิตมากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้หรือไม่ ยังคงต้องติดตามต่อไป
กรณีที่อังกฤษมีการแพร่ระบาดสายพันธุ์โอมิครอนเป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว อาจจะมาจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆในประเทศ และประชาชนอังกฤษเริ่มผ่อนคลาย เมื่อออกนอกบ้าน ไม่ใส่หน้ากากอนามัยมากขึ้น มีการเดินทางมากขึ้น คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนอาจจะติดเชื้อและเสียชีวิตได้ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลอังกฤษได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เนื่องจากส่วนใหญ่รับวัคซีนโควิด-19ครบ 2 เข็มแล้ว ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันอาจจะตกลง จำเป็นต้องฉีดวัคซีน
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบข้อมูลว่าสายพันธุ์โอมิครอน อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงและก่อให้เกิดความรุนแรงของโรค ทางประเทศไทยก็พร้อมที่จะมีการปรับมาตรการเข้ม ซึ่งขณะนี้ไทยยังคงมาตรการเดิมในการเฝ้าระวังสายพันธุ์โอมิครอนที่เข้มงวดอยู่แล้ว ในการป้องกันการแพร่ระบาด คือ ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านระบบทุกคน หากพบว่าติดเชื้อก็จะต้องตรวจหาสายพันธุ์ทันที รวมถึงกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และภาคีเครือข่าย ได้มีการเฝ้าระวังสุ่มการตรวจหาสายพันธุ์ด้วย
“สิ่งสำคัญตอนนี้คือไทย กำลังดำเนินการ ฉีดวัคซีนโควิด-19กระตุ้นเข็ม 3 ให้กับประชาชนที่รับวัคซีน 2 เข็มไปก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ขณะเดียวกันยังพบว่ามีประชาชนที่ยังไม่รับวัคซีนโควิดเข็มที่ 1 ประมาณ 2 ล้านคน ในจำนวนนี้คือกลุ่มที่มีโรคประจำตัวและผู้สูงอายุด้วย และอีกจำนวนหนึ่ง คือ กลุ่มไม่เอาวัคซีน ขอย้ำประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เมื่อติดโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหน โอกาสที่จะมีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งอัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากการติดโควิด-19นั้น 80-90 % ยังคงเป็นกลุ่มผู้สูงอายุกับกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ”นพ.จักรรัฐกล่าว