โรคแพ้ภูมิตัวเอง "SLE" ป้องกันได้หรือไม่ รักษาอย่างไร

โรคแพ้ภูมิตัวเอง "SLE" ป้องกันได้หรือไม่ รักษาอย่างไร

จากอาการป่วยด้วยโรค "SLE" ของ "คุณหญิงแมงมุม" ทำให้หลายคนเริ่มสนใจโรคดังกล่าวมากขึ้น และเนื่องจากเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ เราจึงต้องพยายามเลี่ยงความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด

โรค "SLE" หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง ที่คุ้นหูว่าโรคพุ่มพวง จากอดีตที่คุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ป่วยเป็นโรคนี้ และเสียชีวิต ทำให้หลายคนจำชื่อโรคพุ่มพวงมาจนถึงปัจจุบัน ล่าสุด "คุณหญิงแมงมุม" ม.ร.ว.ศรีคำรุ้ง ยุคล ป่วยเป็นโรคดังกล่าว ทำให้หลายคนต่างให้กำลังใจจำนวนมาก

 

จากบทความ "โรคแพ้ภูมิตัวเอง" (SLE) โดย รศ.พญ.วันรัชดา คัชมาตย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในเวบไซต์ Siriraj Online อธิบายว่า ภาวะแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus ) คือ ภาวะที่เม็ดเลือดขาวทำงานผิดปกติ โดยปกติเม็ดเลือดขาวจะทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรค แต่ในคนไข้ที่เป็นโรคแพ้ภูมิในเม็ดเลือดขาวกลับไปทำลายเซลล์ร่างกายตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะต่างๆ ที่มันไปทำลาย ดังนั้น อาการที่เกิดขึ้นก็เกิดจากเม็ดเลือดขาวไปโจมตีอวัยวะต่างๆ เหล่านั้น

 

  • อาการที่ควรพบแพทย์

 

- มีอาการทางผิวหนัง เช่น  มีผมร่วง มีแผลในปาก จะอยู่ที่เพดานซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บ  

 

- แพ้แสง เวลาถูกแสงแดดจะมีปฏิกิริยามากกว่าปกติ  

 

- มีผื่นรูปผีเสื้อสีแดงขึ้นที่บริเวณโหนกแก้มและจมูก 

 

- มีอาการปวดข้อ บวมแดง ร้อน 

 

นอกจากนี้ ยังมีอาการที่อวัยวะภายในอื่นๆ  เช่น หัวใจ ปอด ไตและระบบประสาท

 

  • การวินิจฉัย

 

การวินิจฉัยโรคแพ้ภูมิตัวเอง ส่วนใหญ่แพทย์จะใช้จากประวัติของผู้ป่วย   การตรวจร่างกายพบรอยโรคร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด  ปัสสาวะ การตรวจเอกซเรย์หัวใจและปอด

  • การรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเอง 

 

สำหรับการรักษามีวิธีรักษาด้วยยา จะมียาลดการอักเสบของข้อ ลดการเจ็บปวด นอกจากนี้ อาจจะมียาช่วยในการปรับการทำงานของเม็ดเลือดขาวให้ทำงานเหมือนปกติมากยิ่งขึ้น  ยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากดภูมิ

 

ส่วนการรักษาอื่นในผู้ที่มีอาการข้อปวดบวม ข้อติดขัด อาจจะมีการแช่ในน้ำอุ่น  ขยับมือและขยับข้อในน้ำอุ่น ซึ่งทำให้ข้อนั้นลดความฝืด ลดความปวดได้ดีขึ้น

 

  • ข้อควรปฏิบัติในผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง 

 

- ผู้ป่วยต้องรับประทานยาให้ครบตามแพทย์รักษา  ไม่หยุด  ไม่เพิ่มหรือลดขนาดยาเอง  

 

- การถูกแสงแดดจะกระตุ้นให้ผื่นผิวหนังเพิ่มมากขึ้น  การพักผ่อนไม่เพียงพอ 

 

- การติดเชื้อในระบบต่างๆ รวมทั้งการตั้งครรภ์ สามารถทำให้โรคกำเริบได้  

 

- ควรตั้งครรภ์ในภาวะโรคสงบ เพราะหากตั้งครรภ์ในระยะโรคกำเริบ อาจมีผลต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้  

 

- ควรวางแผนครอบครัวกับแพทย์ผู้รักษาก่อนจะตั้งครรภ์

 

  • ความเสี่ยงในการเกิดโรคแพ้ภูมิตัวเอง  

 

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลเพชรเวช ระบุถึงความเสี่ยงในการเกิดโรค SLE ไว้ดังนี้ 

 

- เกิดจากการใช้ยา และสารเคมีต่างๆ หรือยาประเภทควบคุมความดันเลือด ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น

 

- เกิดจากฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในบางครั้งจะส่งผลด้วย เช่น ช่วงตั้งครรภ์หรือช่วงที่เติบโตในแต่ละวัยเป็นต้น

 

- การถ่ายทอดพันธุกรรม โรคหรืออาการบางชนิดที่เกิดในวงเครือญาติอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้

 

- ปฏิกิริยาต่อแสงแดด สำหรับคนที่มีผิวหนังไวต่อแสงแดดจะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากอาการแพ้ดังกล่าวได้

  • SLE ป้องกันได้หรือไม่

 

โรคนี้เป็นโรคร้ายที่ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างชัดเจน ทำให้การป้องกันไม่สามารถทำได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคได้อยู่ ถือเป็นการป้องกันที่เราพอจะทำได้เพื่อให้ห่างไกลโรคนี้

 

ด้วยการป้องกันและรักษาอย่างยากลำบาก การดูแลตนเองของผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญ การมีวินัยตลอดการรักษาจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จได้

 

  • SLE ไม่ใช่โรคติดต่อ

 

สำนักงานผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ (DIO)
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข 
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า เนื่องจาก SLE เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่ถือเป็นโรคติดต่อ ดังนั้น สามีมีความสัมพันธ์กับผู้ป่วย จึงไม่มีความเสี่ยงในการติดโรคนี้

 

  • SLE กับวัคซีนโควิด-19 

 

ทั้งนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ป่วยที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ 

 

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม ระบุว่า มีคำแนะนำจากหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาแคนาดา และสิงคโปร์ ว่าสำหรับผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE ควรเข้ารับการฉีด วัคซีนโควิด-19 ทุกราย รวมถึงญาติที่อยู่ในบ้านเดียวกัน  โดยผู้ป่วย สามารถฉีดวัคซีนได้ทุกยี่ห้อ อย่างไรก็ตาม ควรฉีดเมื่อโรคสงบ หรือสามารถควบคุมโรคได้

 

  • วัคซีนโควิด-19 จะมีผลทำให้โรคกำเริบหรือไม่

 

จากการศึกษาข้อมูลของผู้ที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE ที่เข้ารับการฉีดวัคซีน หลังฉีดวัคซีนแล้วพบว่าไม่มีอาการกำเริบแต่อย่างใด ส่วนโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีนก็จะเหมือนกับบุคคลทั่วไป 

อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์ที่รักษาก่อนเข้ารับวัคซีนโควิด-19

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์