อย.เผยผลตรวจล่าสุด “ฟิลเลอร์”-“โบท็อกซ์” คลินิกพิมรี่พาย
อย.เผยสุ่มตรวจ “ฟิลเลอร์”-“โบท็อกซ์” คลินิกอิสคิวท์ของพิมรี่พาย ล่าสุดเป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่ขึ้นทะเบียนจากอย. จึงยังไม่พบความผิดกรณียา
จากกณีที่บริษัท กัลเดอร์มา (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “Restylane” รายเดียวในประเทศไทย ได้ออกหนังสือชี้แจง ระบุว่า บริษัทฯ ขอยืนยันว่าคลินิกชื่อว่า “อิสคิวท์ คลินิก สาขาห้วยขวาง” ไม่ได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านทางบริษัท กัลเดอร์มา (ประเทศไทย) จำกัด ก่อนที่“พิมรี่พาย”จะออกมาชี้แจงว่าคลินิกรับมาจากเอเจนซี่รายย่อย ไม่ได้รับมาจากบริษัทใหญ่โดยตรง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อมูลการสุ่มตรวจสถานประกอบการโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2564 ลงพื้นที่ตรวจสถานบริการ อิสคิวท์ คลินิก แต่ไม่ใช่สาขาห้วยขวาง โดยสบส.จะดูว่าสถานพยาบาลถูกต้องหรือไม่ ผู้ปฏิบัติการได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่ ส่วน อย.เข้าไปดูผลิตภัณฑ์ว่าได้รับการขึ้นทะเบียนและเหมาะกับสถานบริการนั้น ๆ หรือไม่ เช่น ตามที่กำหนดว่าคลินิกที่จะมียารักษาวัณโรคจะต้องเป็นคลินิกที่ขึ้นทะเบียนรักษาวัณโรค แต่หากคลินิกที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแต่มียา ก็ถือว่ามีความผิด
“ในส่วนของคลินิกอิสคิวท์ ตามที่อย.ไปตรวจผลิตภัณฑ์ทั้งฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ เป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่ขึ้นทะเบียนจากอย. จึงยังไม่พบความผิดกรณียาจากคลินิกดังกล่าว หากบริษัทผู้นำเข้ามีความสงสัยในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ก็สามารถแจ้งเรื่องมาให้ตรวจสอบได้ แต่เบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นเช่นนี้ ทาง สบส. และ อย. ก็จะเข้าไปสุ่มตรวจทางสถานบริการอีกครั้ง โดยไม่แจ้งกับคลินิกดังกล่าวล่วงหน้าว่าจะเข้าไป” นพ.สุรโชค กล่าว
เมื่อถามว่าการซื้อจากเอเจนซี่หรือผู้ขายรายอื่นๆ ได้หรือไม่ นพ.สุรโชค กล่าวว่า การซื้อจากเอเจนซี่ จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนการซื้อขายยา โดยตามข้อกำหนด หากเป็นยา เช่น โบท็อกซ์ จะต้องเป็นคลินิกหรือร้านยา หากเป็นเครื่องมือแพทย์ เช่น ฟิลเลอร์ ที่เราไม่ได้กำหนดคนขาย แต่กำหนดสถานที่ที่ควรจะมีเครื่องมือนั้นๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่าประชาชนจะตรวจสอบได้อย่างไรว่า ฟิลเลอร์หรือโบท็อกซ์ที่ขายราคาถูก เป็นของแท้หรือไม่ นพ.สุรโชค กล่าวว่า ในแง่ของการประกอบวิชาชีพ สบส.จะเข้าไปดูว่ามีการโฆษณาตัดราคากันรหือไม่ ซึ่งจะมีระเบียบกำหนดอยู่แล้ว ส่วนในแง่ผลิตภัณฑ์ที่ราคาไม่เหมาะสม ทาง อย.ก็จะสุ่มตรวจของ เช่น ตรวจความถูกต้องของผลิตภัณฑ์ หรือมีสต็อกในคลินิกจำนวนไม่มาก แต่ให้บริการไปจำนวนมาก ก็มีความเสี่ยงว่าจะใช้ของปลอมได้
ส่วนภาคประชาชน ไม่สามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้ จึงเป็นหน้าที่หลักที่หน่วยงานจะเข้าไปดู ส่วนการเข้ารับบริการในคลินิกเสริมความงาม ขอให้ประชาชนตรวจสอบให้มีความมั่นใจว่าสถานบริการนั้นได้รับทะเบียนถูกต้อง ตามป้ายประกาศที่ติดหน้าคลินิก มีแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนกับแพทยสภาถูกต้อง ซึ่งสามารถตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ เพราะในเรื่องผลิตภัณฑ์ถ้าเขาจะโกงจริงๆ ก่อนจะฉีดเขาหยิบกล่องให้ดู แต่พอฉีดจริงก็อาจเอาอย่างอื่นมาฉีดได้
“เชื่อว่าหากเป็นแพทย์จริง สถานบริการที่ขึ้นทะเบียนจริง ความเสี่ยงที่จะทำมันไม่คุ้ม ส่วนใหญ่ที่เอาของไม่จริงไปทำ มักเป็นแพทย์ไม่จริง เพราะแพทย์จริงเขาไม่เอาวิชาชีพมาเสี่ยง ผลที่เขาจะโดนโทษมันไม่คุ้ม แต่หากอย.พบสถานบริการที่มีการโฆษณาส่อไปในความผิดก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปสุ่มตรวจอยู่แล้ว”นพ.สุรโชคกล่าว