ก้าวสู่ "สังคมสุงอายุ" ด้วย "นวัตกรรม" วางแผนชีวิตก่อนเกษียณ
เมื่อประเทศไทยก้าวสู่ "สังคมสูงอายุ" สิ่งที่ต้องคำนึงถึงนอกจากสุขภาพแล้ว สิ่งสำคัญคือการวางแผนการเงิน การอยู่อาศัย และรวมไปถึงการนำ "นวัตกรรม" ต่างๆ มาใช้ เพื่อเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้ดียิ่งขึ้น
ปี 2564 ประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์โดยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนราว 20% ของประชากรทั้งหมด มีผู้สูงอายุ 20% หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากร และอีก 20 ปีผู้สูงวัย จะเพิ่มขึ้นกว่า 1 ใน 3 ของประชากร เมื่อมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น
สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงไม่ใช่แค่เรื่องของสุขภาพของผู้สูงวัยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเศรษฐกิจ และสังคม ดังนั้น “นวัตกรรม” นับเป็นความจำเป็นที่จะเป็นตัวช่วยให้ผู้สูงวัยมีชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้น
ผศ.นพ. ภาริส วงศ์แพทย์ เเพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู กรรมการบริหาร มูลนิธิสำโรงรวมใจ ระบุว่า สถานการณ์ผู้สูงอายุกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ จะส่งผลกระทบรุนแรง จำเป็นต้องมีมาตรการรับมือ เช่น ผู้สูงอายุไม่ได้มีปัญหาสุขภาพแค่เรื่องความจำอย่างเดียว แต่มีเรื่องความทรงตัว อารมณ์ ความโดดเดี่ยว การเงิน
“ปัญหาไม่ได้อยู่แค่ที่ตัวผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เกี่ยวพันกับลูกหลาน ครอบครัว ที่จะต้องดูแล มีความเกี่ยวพันกับระบบสังคมที่จะต้องรองรับผู้สูงอายุที่จะมีสัดส่วนมากขึ้น และสังคมจะแบกรับไหวหรือไม่ ความยากของเรื่องสังคมผู้สูงอายุไม่ใช่แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่มีหลายอย่างที่เกิดขึ้นพร้อมกัน มันจึงเป็นความท้าทายที่ว่า จะรับมือกับทุกอย่างได้อย่างไร”
“นวัตกรรม” ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการเข้าสู่ สังคมสูงวัย เพราะการเปลี่ยนแปลงทั้งเศรษฐกิจสังคม ความเป็นอยู่ที่เกิดขึ้น นับเป็นปัญหาใหม่ ที่ต้องการนวัตกรรมมาเป็นตัวปลดล็อก ไม่ใช่ในรูปแบบเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงระบบทางการเงิน อสังหาริมทรัพย์ ระบบประกัน ระบบสังคม เช่น ธนาคารเวลา ระบบการช่วยเหลือซึ่งกัน และเครือข่ายสังคมที่จะรองรับ เป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้น
ปัจจุบันการดูแลผู้สูงอายุที่เริ่มติดบ้านก็ต้องการคนดูแล คือต้องมีญาติที่ไม่ทำงานดูแล อาจต้องจ้างคน หรือเอาเข้าไปอยู่ในศูนย์ดูแล น่าจะมีนวัตกรรมที่เข้ามาตอบโจทย์ในส่วนนี้ ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ผู้สูงอายุที่ต้องใช้เตียง ไม้เท้า ราวเกาะ รัฐบาลมีการสนับสนุนโดยมีบริษัทที่เข้าไปติดตั้งให้ และเรียกเก็บเงินไม่แพง หากเลิกใช้ก็ถอดเครื่องมือกลับมาเป็นแค่ค่าเช่าไม่ต้องซื้อ บริษัทมีหน้าที่ดูแลซึ่งถือเป็นโมเดลที่ดี
“สถานการณ์ผู้สูงอายุ โซลูชั่นที่เรามีอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ ดังนั้นภาครัฐควรสนับสนุนนวัตกรรมมากขึ้น โดยการมุ่งเป้าที่จะช่วยบรรเทาสภาพปัญหาและทำให้คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุดีขึ้นได้ต้องสนับสนุนในระดับแนวคิดที่เป็นไปได้ และสามารถขยายผลได้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ”
ประชาชนทั่วไปควรเตรียมความพร้อมสร้างเสริมสุขภาพตั้งแต่ยังไม่สูงวัย กินพอดี บริหารความเครียด ร่างกาย จิตใจ เด็กที่ดูแลสุขภาพดีจะโตเป็นผู้สูงวัยที่ไม่ป่วย ผู้ใหญ่ที่ดูแลตัวเองดีไม่เป็น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ไม่ใช้ชีวิตเสี่ยง บาดเจ็บ พิการ ก็มีโอกาสที่จะเป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรง ต้นทุนสูงมวลกระดูกหนา ปอดและหัวใจแข็งแรง พอวันที่สูงอายุ โรคน้อยกว่าจะไปถึงติดบ้านติดเตียงก็จะช้าลง
การบริหารการเงิน หากเลิกทำงานอายุ 60 ปี เพื่อให้มีรายได้อยู่ถึงอายุ 80 ปีดังนั้น การออมเงินเป็นเรื่องสำคัญ รวมไปถึงการลงทุนต่อเนื่อง การออม รวมไปถึง การมีประกัน ไม่ว่าจะประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือหากมีประกันชราภาพ หรือกองทุนที่เปิดให้ซื้อกองทุนชราภาพ
สามารถติดตามเทคโนโลยีนวัตกรรมเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยในวิถีใหม่แบบ Next Normal จัดโดยบริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิชิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) ได้ที่งาน InterCare Asia 2021 ภายใต้แนวคิดThailand Next Normal ระหว่างวันที่ 23 -25 ธันวาคม 2564 ณ ฮอลล์ 103-104 ไบเทค บางนา ลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ www.nccexhibition.com/thailand-next-normal
- “สูงวัยไม่ล้ม”ลดติดบ้านติดเตียง
มูลนิธิสำโรงรวมใจ ซึ่งทำเรื่องผู้สูงอายุมากว่า 10 ปี ใน “โครงการสูงวัยไม่ล้ม” โดยการพัฒนาการป้องกันการหกล้มด้วยวิธีฟื้นฟูการทรงตัวโดยใช้สายพานและเครื่องช่วยพยุง ลดการล้มสูงวัยลงได้กว่า 70-90% โดยเริ่มจากภายใน โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์และขยายสู่ชุมชนในกทม. และปริมณฑล เพื่อลดโอกาสเปลี่ยนจากการติดสังคม มาติดบ้านติดเตียง
ผศ.นพ. ภาริส เผยว่า วิธีทั่วไปที่นิยมใช้ คือ การรำมวยไทเก็ก ฝึกยืนขาเดียว ฝึกกับคอมพิวเตอร์ ลดการหกล้มได้ 30% ทางมูลนิธิฯ จึงดัดแปลงเอาวิธีการฟื้นฟูการทรงตัวของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่อาการไม่หนักมาใช้กับผู้สูงอายุ วิธีการคือ ให้เขาเดินบนสายพานและปรับความเร็ว ให้เดินหลายทิศทาง ชวนคุย รวมถึงมีสิ่งกีดขวาง โดยใส่ชุดพยุงป้องกันการหกล้มระหว่างฝึก ได้รับทุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
หลังจากที่ทำโครงการในโรงพยาบาล ได้มีการขยายไปยังชุมชนโดยทำเครื่องมือให้เล็กไปวางตามชมรมผู้สูงอายุ รพสต. และมีนักกายภาพประจำ ฝึกอาทิตย์ละ 2 ครั้ง 6 สัปดาห์ (คอร์สละ 12 ครั้ง ครั้งละ 20 – 30 นาที) ฝึกผู้สูงอายุไปแล้วหลายร้อยคน หลังจากการการสอบถามผู้สูงอายุที่ผ่านการฝึกหลังจากนั้น 6 เดือน เทียบกับก่อนมาฝึก พบว่า อัตราหกล้มลดลงกว่า 70-90%
ล่าสุด โครงการดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ในการขยายผลในโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 10 แห่ง ตั้งเป้าฟื้นฟู ลดการล้มผู้สูงอายุได้ 1,000 คนในปีนี้