เช็คด่วน! มติให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 4 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน 3 กลุ่ม
คณะอนุกรรมการฯ มีมติฉีดวัคซีนโควิด เข็ม 4 กระตุ้นภูมิคุ้มกันใน 3 กลุ่ม กรณีฉีดเข็ม 3 แล้วนาน 3 เดือนขึ้นไป เริ่มได้ทันที
จากการที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ของ บริษัทไฟเซอร์ โดยขยายกลุ่มอายุการใช้วัคซีนไฟเซอร์ เป็นตั้งแต่ 5 -11 ปี จากเดิมที่อนุญาตตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้เด็กเล็ก ซึ่งมีการประชุมของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค พิจารณาแนวทางการให้วัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี และการฉีดเข็ม 4 กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มที่รับเข็ม 3 แล้ว
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันว่า เบื้องต้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบเดินหน้าเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 4 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และมีการรับวัคซีนเข็ม 3 มาแล้ว 3 เดือนแล้วขึ้นไป โดยผู้ที่เข้าข่ายตามเกณฑ์สามารถเข้ารับการฉีดได้ทันที
ผู้สื่อข่าวถามว่า สูตรวัคซีนในการฉีดเข็ม 4 นพ.โอภาส กล่าวว่า เป็นสูตรตามที่เคยออกไปก่อนหน้านี้ โดยหลักหากรับวัคซีนเชื้อตาย ให้ต่อด้วยไวรัลแวกเตอร์ และตามด้วยชนิด mRNA เช่น หากรับซิโนแวคเข็มที่ 1 ซิโนแวคเข็มที่ 2 และแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 3 ให้ต่อด้วยแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ ส่วนที่รับเข็ม1-2 เป็นซิโนแวค เข็ม 3 เป็น ไฟเซอร์ ให้ต่อเข็ม 4 ด้วยไฟเซอร์
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า คณะอนุกรรมการฯ ยังมีมติให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กอายุระหว่าง 5 - 11 ปี โดยใช้วัคซีนที่ผ่านการอนุมัติจาก อย. แต่จะต้องทำความเข้าใจให้ดีในกลุ่มผู้ปกครอง เนื่องจากเป็นเด็กเล็ก โดยสถานที่ฉีดยังคงใช้สถานศึกษากรณีเด็กที่อยู่ในวัยเรียน ส่วนเด็กโฮมสคูลให้ใช้โรงพยาบาลหรือสถานศึกษาได้เช่นกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)จะต้องเป็นผู้สำรวจจำนวนนักเรียนในกลุ่มอายุดังกล่าวที่ผู้ปกครองสมัครใจและแสดงความประสงค์ที่จะให้เด็กเข้ารับการฉีดวัคซีน แต่เรื่องนี้ไม่ต้องรีบมากนัก ช่วงนี้จะเป็นการเตรียมการ ต้องเน้นสร้างความเข้าใจมากที่สุด
ทั้งนี้ มติดังกล่าวจะมีการจัดทำร่างรายละเอียดและเวียนแจ้งให้กรรมการแต่ละท่านพิจารณา ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการชุดต่างๆ ทั้งกรรมการในศูนย์ปฏิบัติการ การแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคโควิด-19 หรือEOCของกระทรวงสาธารณสุข และเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เป็นประธาน โดยจะมีการประชุมในวันที่ 24 ธ.ค. 2564
พิสูจน์อักษรโดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์