ไทยเจอ "โอมิครอน"คลัสเตอร์แรกในประเทศติดแล้วกว่า 20 ราย
ไทยเจอ “โอมิครอน”คลัสเตอร์แรกในประเทศ จ.กาฬสินธุ์ รวมแล้ว 22 ราย เสี่ยงสูงอีกกว่า 100 ราย เป็นคนไทยกลับจากต่างประเทศปาร์ตี้ร่วมญาติ โอมิครอนสะสมแล้ว 205 ราย เผย 3 ปัจจัยเสี่ยงทำแพร่เชื้อ “อนุทิน” ลั่นปีใหม่พบกิจกรรมทำผิดกฎ ยกเลิกทันที
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 12/2564 ว่า พฤติกรรมช่วงปีใหม่ที่มีความน่ากังวล คือ การรวมกลุ่มกันเป็นอันตรายที่สุด ซึ่งการติดเชื้อโอมิครอนที่เดินทางมากจากต่างประเทศรู้ต้นตอว่ามาจากไหน แต่หากใครที่เดินทางกลับบ้าน ก็ขอให้ตรวจ ATK ก่อนไปพบผู้อื่น ญาติพี่น้อง อย่างกรณี สามี-ภรรยา จ.กาฬสินธุ์ ที่เดินทางมาจากยุโรปตรวจ RT-PCR ผ่านก็กลับกาฬสินธุ์ ต่อจากนั้นไปหาญาติ จ.อุดรธานี แล้วไม่ได้ตรวจซ้ำ ก็ไปแพร่เชื้อต่ออีก 20 ราย ทั้งครอบครัว พนักงานร้านอาหาร และลูกค้าในร้าน รวมติดเชื้อกรณีนี้แล้ว 22 ราย ทั้งหมดเป็นโอมิครอน และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีกร่วมร้อยราย อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นสายพันธุ์โอไมครอน ทำให้ไทยพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสะสมแล้ว 205 ราย
“กรณีนี้เป็นการนำเชื้อโดยผู้ติดเชื้อมาให้คนอื่น ซึ่งมีคำแนะนำชัดเจน DMHTT ไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน โดยเฉพาะถังน้ำแข็ง แก้วเหล้า แก้วเครื่องดื่ม รวมถึงฉีดวัคซีนให้ครบโดส ก็ไม่มีปัญหาแน่นอน” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กำชับทางผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้อยู่ในพื้นที่ ออกตรวจความเรียบร้อย ดังนั้น สธ.ก็กำชับให้นายแพทย์สาธารณาสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) ทำงานคู่กันไป หากพบกิจกรรมที่ทำผิดกฎระเบียบจากที่ขออนุญาตไว้ ก็ต้องดำเนินการยกเลิกทันที โดยไม่ต้องให้ความเกรงอกเกรงใจใครทั้งสิ้น เพราะถือว่าเปิดให้แล้ว ก็ขอให้ร่วมมือตามระเบียบ เพื่อให้ทุกคนฉลองอย่างปลอดภัย และขอความร่วมมือจาก อสม.ในการออกตรวจตราคัดกรองผู้เดินทางเข้าพื้นที่ ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างและล้างมือ ซึ่งที่ผ่านมาทุกท่านปฏิบัติหน้าที่ในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดีก็ขอให้ท่านดำเนินต่อเพื่อความปลอดภัยในชุมชน
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีสามีภรรยาที่เดินทางมาจากประเทศเบลเยี่ยม ที่ จ.กาฬสินธุ์ ติดเชื้อโอมิครอนว่า เป็นอุทาหรณ์ถึงความไม่ประมาท เพราะการเดินทางเข้ามาด้วยระบบ Test&Go แม้จะมีการตรวจ RT-CPR ก่อนเข้าไทย 72 ชม. เมื่อเข้าไทยตรวจซ้ำอีกครั้งในรอบ 24 ชม. ก็ยังไม่การันตีว่าจะไม่ติดเชื้อ อาจอยู่ในระยะฟักตัวของโรค ฉะนั้นสำหรับคนไทยที่เพิ่งกลับเข้าประเทศมาในช่วง อย่าเพิ่งรีบไปพบญาติ หรือรวมตัวกัน เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อจากช่วง วินโดพีเรียล และคนที่มีญาติเพิ่งมาจากต่างประเทศก็อย่าเพิ่งรีบไปเจอหรือรวมตัวกัน
“ข้อมูลของโอมิครอนขณะนี้ ความรุนแรงของโรค ที่ทำให้ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล เป็นครึ่งหนึ่งของเดลตา เช่นเดียวกับอัตราเสียชีวิตลดลงครึ่งหนึ่งของเดลตา แต่อัตราการติดเชื้อเร็วกว่าเดลตาโดยเฉพาะในคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน”นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนสะสม 205 ราย ทั้งหมดยังมีอาการไม่มากแต่มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่ยังเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ส่วนกรณีที่มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนในประเทศต่อจากผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเป็นคลัสเตอร์ราว 20 คนนั้นถือเป็นคลัสเตอร์แรกที่มีการติดเชื้อในประเทศ ซึ่งกรณีเป็นตัวอย่างสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศในระบบTest&Go แม้ว่าจะมีการตรวจเชื้อที่ต้นทางก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง เมื่อถึงไทยตรวจหาเชื้ออีก 1 ครั้ง และตรวจอีกครั้งในวันที่ 5-6 แต่ก็มีโอกาสคนที่จะหลุดได้แม้จะไม่มาก เพราะอาจจะอยู่ในระยะฟักตัวของโรค จึงต้องใช้การเฝ้าระวังในประเทศด้วย
"รายนี้ตรวจที่ต้นทางก่อน 72 ชั่วโมงและตรวจ 1 ครั้งเมื่อถึงไทยไม่พบเชื้อ ต่อมามีอาการจึงไปตรวจหาเชื้อแล้วเจอโอมิครอน จึงมีการตรวจสอบย้อนกลับหรือระบุไทม์ไลน์อย่างละเอียด ซึ่งมีการกลุ่มเสี่ยงอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยง คือ รับประทานอาหารร่วมกัน อยู่ในห้องอากาศถ่ายเทไม่สะดวก และพบปะพูดคุยกันนาน ขณะนี้จังหวัดได้มีการสอบสวนโรคให้ครบและกักตัวผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในวงที่ 1 และ 2 อยู่ในความควบคุม"นพ.โอภาสกล่าว
ทั้งนี้ ในผู้ที่ลงทะเบียนเข้าไทยในรูปแบบ Test&Go ที่ยังมีอยู่อีกราว 2 แสนคนนั้น คาดว่าจะมีการเดินทางเข้ามาจริงราว 70 % และทยอยเข้ามา ในจำนวนนี้คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อราว 1 ในหมื่นหรือรวมแล้วราว 200 คน ดังนั้น ผู้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ควรระมัดระวังตัว ก็จะทำให้ความเสี่ยงน้อยลง เพราะการตรวจไม่เจอเชื้อวันนี้ อาจเป็นเพราะอยู่ในระยะฟักตัวของโรคก็เป็นได้ เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจตรวจเจอเชื้อก็ได้ เพราะฉะนั้น ต้องคิดว่าทุกคนมีความเสี่ยง และในช่วงปีใหม่ขอให้ระมัดระวังหากมีกิจกรรมขอให้จัดในพื้นที่เปิดโล่งโปร่ง ใส่หน้ากาก และอย่ามีกิจกรรมนานเกินไป