เช็คฤทธิ์ ความรุนแรงก่อโรค พร้อมอาการโอมิครอน

เช็คฤทธิ์ ความรุนแรงก่อโรค พร้อมอาการโอมิครอน

1 เดือนเต็มนับแต่ที่องค์การอนามัยโลกหรือWHO ประกาศให้โควิด-19สายพันธุ์โอมิครอนเป็นการกลายพันธืที่น่าห่วงกังวล  ถึงตอนนี้เรารู้อะไรเกี่ยวกับโอมิครอนอะไรแล้วบ้าง โดยเฉพาะฤทธิ์เดชในการแพร่เชื้อและการก่อโรค ขณะที่ไทยเจอแล้ว 205 ราย ติดในประเทศ 25 ราย และ 1 คลัสเตอร์

BA1 ยังเป็นโอมิครอนสายพันธุ์หลัก
       นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์   กล่าวว่า  ข้อมูลเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2564 พบเชื้อโอมิครอนระบาดไปแล้ว 106 ประเทศ แต่ในความเป็นจริงอาจจะมากกว่านี้ เนื่องจาก  บางประเทศไม่ได้มีการตรวจหาสายพันธุ์  ขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบผู้ติดเชื้อเกือบครบทุกรัฐแล้ว  โดยโอมิครอนที่มีอยู่ 3 สายพันธุ์ย่อยนั้น สายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุด คือ BA 1 หรือสายพันธุ์เดิมที่มีการกลายพันธุ์ในช่วงแรก และยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ย่อยตัวไหนทั้ง BA 1, BA2 และ BA3 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังสามารถตรวจจับได้

ในหลอดลมโอมิครอนแพร่เร็วกว่าเดลตา 70 เท่า   

          นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า การติดตามข้อมูลการแพร่ระบาดในต่างประเทศ เช่น กรณีฮ่องกง มีการทำแล็ปด้วยการเอาเชื้อโอมิครอนใส่เข้าไปในทางเดินหายใจ หรือหลอดลมพบว่าเชื้อโอมิครอนมีการแพร่ขยายเร็วมาก และเร็วกว่าเชื้อเดลตา ประมาณ 70 เท่า
     แตเมื่อลงไปถึงปอด ที่จะเป็นจุดที่อันตรายแก่ชีวิตนั้น กลับพบว่าไม่ค่อยทำลายเนื้อปอดมากเท่ากับเชื้อเดลตา จึงอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่าทำไมเชื้อโอมิครอนถึงแพร่เร็ว เพราะมีปริมาณเชื้อชุกชุมในทางเดินหายใจส่วนบน แต่กลับไม่ค่อยมีอันตรายอะไรมาก แต่นี่เป็นเพียงการศึกษาหนึ่งเท่านั้น

     ข้อมูลจากอังกฤษ ซึ่งมีการติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พบว่าหากเป็นการติดเชื้อในครัวเรือนเชื้อเดลตามีอัตราการแพร่เชื้ออยู่ที่ 10.3% ขณะที่โอมิครอนขึ้นเป็น 15.8% แต่ถ้าเป็นการแพร่ระบาดในชุมชนเชื้อเดลตาสามารถแพร่กระจายได้ 3% ส่วนโอมิครอนจะติดเชื้อได้  8.7%         
          ในสหรัฐอเมริกาเดิมเป็นเชื้อเดลตาทั้งหมด แต่ล่าสุดพบว่าเป็นเชื้อโอมิครอนมากกว่า 70% สัดส่วนเปลี่ยนค่อนข้างเร็ว

โอมิครอนนอนรพ.น้อยกว่าเดลตาครึ่งหนึ่ง

         ความรุนแรง กรณีที่อังกฤษ หากติดเชื้อเดลตา  50%จะเข้ารพ. และนอนโรงพยาบาลมากกว่า 1 วันขึ้นไปประมาณ 61% แต่หากเป็นโอมิครอนจะเข้ารพ. 20-25% และนอนรพ.มากกว่า 1 วัน 40-45%
       ขณะที่แอฟริกาใต้ พบว่าโอมิครอนทำให้เกิดการนอนรพ.ที่ 2.5% ส่วนเชื้อตัวอื่นขึ้นไปถึง 12.8% นับว่าเป็นนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนเรื่องอาการหนักเชื้อโอมิครอนทำให้อาการหนัก 21% ส่วนเชื้ออื่นอาการหนัก 40%

           อย่างไรก็ตามเนื่องจากตัวเลขการศึกษายังไม่มากพอที่จะทำให้การพิสูจน์ทางการศึกษายังไม่มีนัยสำคัญมากพอ

วัคซีนโควิด-19ยังป้องกันความรุนแรงโรคได้

        ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐหรือ CDC พูดชัดเจนว่าคนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ซึ่งเท่ากับเป็นการฉีดวัคซีนโดยธรรมชาติ หรือมีการติดเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ หรือได้รับวัคซีนรุ่นที่ 1 จะป้องกันเชื้อโอมิครอนได้ไม่มาก แต่อาการรุนแรงลดลง เทียบกับคนที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่เคยติดเชื้อมาก่อน

         “หมายความว่าวัคซีนยังสามารถช่วยป้องกันความรุนแรงของโรคได้ และมีหลายการศึกษาบอกว่า หากมีการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส จะทำให้ยกระดับภูมิคุ้มกันสูงมากพอ จะช่วยลดการติดเชื้อ ลดอาการป่วยหนักรุนแรง ซึ่งในประเทศไทยก็มีนโยบายเร่งรัดให้คนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม แล้วไม่ว่าจะเป็นสูตรไหนก็ตาม หากได้รับเข็มที่ 2 นาน 3 เดือนขึ้นไป ควรบูสเตอร์เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น”นพ.ศุภกิจกล่าว  
เช็คฤทธิ์ ความรุนแรงก่อโรค พร้อมอาการโอมิครอน

อาการโอมิครอน
    ในระบบหมอพร้อม มีการระบุข้อมูลเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2564  ว่า ถ้ามีอาการเหล่านี้ อย่าเพิ่งไปฉลอง เพราะมีความเสี่ยงติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน  

      แรกเริ่มมักมีน้ำมูก จาม ปวดหัว ต่อมาอ่อนเพลียปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ  บางคนมีเหงื่อออกตอนกลางคืน 

     สำหรับผูผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังควรรีบพบแพทย์ ถ้าเคยไปพื้นที่เสี่ยงควรตรวจATK  แม้ฉีดวัคซีนครบก็ไม่ควรประมาท ให้สังเกตอาการ หากไม่ดีขึ้น ให้รีบพบแพทย์ 



อาการโอมิครอนของคนที่ไทยเจอ
     ข้อมูลวันที่ 24 ธ.ค. 2564  ประเทศไทยตรวจพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้ว 205 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ  180 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศไทย 25 รายแต่ยังเป็นผู้ที่ผูกโยงการติดเชื้อกับผู้เดินทางจากต่างประเทศ ยังไม่มีจุดเริ่มต้นของการติดเชื้อในประเทศ

      พบคลัสเตอร์แรกแพร่โอมิครอนในประเทศ ที่จ.กาฬสินธุ์เป็น 2 สามีภรรยาเดินทางกลับมาจากประเทศเบลเยี่อม ก่อนมีการไปกินเลี้ยงกับญาติ และมีการตรวจพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูงติดเชื้อแล้ว 20 ราย รวมคลัสเตอร์นี้มีผู้ติดเชื้อ 22 รายแล้ว และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีกร่วมร้อยคน

   นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  ในจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนสะสม 205 ราย ทั้งหมดยังมีอาการไม่มากแต่มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง