สปสช.ปรับอัตราค่าบริการผู้ติดโควิด-19
บอร์ด สปสช. มีมติปรับอัตราจ่ายชดเชยค่าบริการกรณีรับดูแลผู้ติดโควิด-19 ใหม่ พร้อมปรับการจ่ายชดเชยการดูแลผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลสนาม Hospitel และ Hotel Isolation
ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 13/2564 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีมติรับทราบการปรับอัตราจ่ายชดเชยค่าบริการกรณีรับดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นการปรับใหม่โดยอ้างอิงราคาจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และราคาที่หน่วยบริการหาซื้อได้ตามราคาตลาดปัจจุบัน รวมทั้งปรับการจ่ายชดเชยการดูแลผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลสนาม Hospitel และ Hotel Isolation สำหรับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเขียว ในอัตราที่เท่ากับการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Isolation: HI) และในระบบชุมชน (Community Isolation : CI)
สำหรับรายการที่มีการปรับอัตราจ่ายชดเชยค่าบริการ ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564 ประกอบด้วย
1. รายการค่าบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 เช่น ค่าตรวจ Antigen จ่ายตามจริงไม่เกิน 300 บาท จากเดิม 450 บาท ค่าตรวจ RT-PCR แบบ 2 ยีน จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,300 บาท จากเดิม 1,500 บาท
2. ค่าชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) สำหรับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง ชุดละ 600 บาท จากเดิม 740 บาท
3. บริการรับส่งต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 สำหรับค่า PPE รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,400 บาทต่อครั้ง จากเดิม 3,700 บาท เป็นต้น
นอกจากนี้ในส่วนของการปรับอัตราจ่ายชดเชยค่าบริการผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเขียว ที่ดูแลในโรงพยาบาลสนาม Hospitel, Hotel Isolation ในราคาเดียวกับ HI-CI ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เช่น การปรับค่าบริการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยใน HI-CI ลดลงเหลือ 10 วัน จากเดิม 14 วัน โดยค่าชุด PPE สำหรับเจ้าหน้าที่ให้บริการ จ่ายตามจริงไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน จากเดิมไม่เกิน 740 บาทต่อวัน เป็นต้น
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า ตามที่ประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 ได้มีการให้ สปสช.พิจารณาทบทวนอัตราจ่ายชดเชยค่าบริการให้กับหน่วยบริการที่รับดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระบบ Hospitel ให้เหมาะสม เนื่องจากได้รับเสียงสะท้อนว่าการจ่ายชดเชยสูงกว่า HI-CI ทำให้เกิดช่องว่าง และมีการนำผู้ติดเชื้อที่อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถดูแลด้วย HI-CI ได้ไปเข้ารับการรักษาใน Hospitel เพราะได้รับการจ่ายชดเชยในอัตราที่สูงกว่า
“บอร์ด สปสช. ได้กำชับในการเฝ้าระวังมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากมีหน่วยงานตรวจสอบติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และเพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาที่เหมาะสมและตรงตามศักยภาพของหน่วยบริการ” นพ.จเด็จ ระบุ
ด้าน พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สายงานบริหารกองทุน สปสช. กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่ดำเนินการ 3 กองทุนรักษาพยาบาล ประกอบด้วย ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนสำนักงานประกันสังคม และผู้แทน สปสช. โดยประชุมร่วมกับผู้แทนจากกรมการแพทย์เพื่อปรับรายการและอัตราจ่ายชดเชยค่าบริการกรณีดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของทั้ง 3 กองทุนให้เป็นไปตามแนวทางเวชปฏิบัติฯ จากสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไป และเป็นมาตรฐานทิศทางเดียวกันเพื่อลดภาระด้านการจัดการของหน่วยบริการ ทั้งนี้เมื่อคำนวณจากการใช้บริการปี 2564 คาดว่าในภาพรวมจะช่วยลดการใช้งบประมาณของประเทศ สำหรับค่าใช้จ่ายโรคโควิด-19 ในปี 2565 ได้เป็นจำนวนกว่า 9,600 ล้านบาท
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso