เจาะลึก อาการโอมิครอน ผู้ติดเชื้อรักษาในไทย

เจาะลึก อาการโอมิครอน ผู้ติดเชื้อรักษาในไทย

สธ.เผยอาการโอมิครอนผู้ติดเชื้อในไทย 90% อาการน้อย - ไม่มีอาการ อาการมาก 3-4 % ผู้ป่วย 100 รายแรก ปอดอักเสบแต่ไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ  7 ราย รับวัคซีนครบโดส อัตราครองเตียงปัจจุบันอยู่ราว 13%  เตรียมเตียงแดงรองรับอาการหนักได้ราว 780 รายต่อวัน กทม. ปริมณฑลได้ 120 รายต่อวัน

  เมื่อวันที่ 27  ธันวาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การระบาดของโอมิครอนในภาพรวมของโลกอัตราการติดเชื้อมากขึ้น แต่อัตราเสียชีวิตไม่ได้กระดกขึ้นตามอัตราผู้ติดเชื้อ หมายถึงการระบาดของโอมิครอนไม่ได้ทำให้ผู้เสียชีวิตมากขึ้น แสดงว่า อาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรง โดยขณะนี้มี 106 ประเทศที่พบโอมิครอนแล้ว  

      “ประเทศไทย อาการของผู้ป่วยประมาณ 90% เป็นอาการน้อยหรือไม่มีอาการ อาการเล็กน้อยอยู่ประมาณ 10 กว่า% และอาการมาก 3-4% ทั้งนี้  ที่ประเทศอังกฤษมีการศึกษาและรายงานว่า โอมิครอนเมื่อเทียบกับเดลตา จะน้อยกว่าประมาณครึ่งหนึ่งที่จะต้องไปอยู่ รพ. เมื่อติดเชื้อแล้ว ขณะที่แอฟริกาใต้ก็เช่นเดียวกัน และมักพบว่าเชื้อไม่ได้ลงปอด แต่จะอยู่ที่แถวๆ คอ และหลอดลม”นพ.เกียรติภูมิ กล่าว   

 สำหรับประเทศไทยมีการศึกษาอาการของคนไข้สายพันธุ์โอมิครอน 41 รายที่ดูแลในรพ. พบว่า  มีอาการไอ มากที่สุด 54% รองมาได้แก่ เจ็บคอ และไข้ อาการได้กลิ่นลดลงพบเพียง 1 ราย หรือ 2%  ซึ่งทุกรายได้รับการรักษาแต่เบื้องต้น และให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเมื่อให้ยาตั้งแต่ต้น อาการจะดีขึ้นใน 24-72 ชั่วโมง หลังรับยา และให้จนครบ 5 วัน ขณะที่ผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ ตั้งแต่เปิดประเทศมาพบเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน  ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากโควิดวันที่ 27 ธ.ค. 2564 มี 18 ราย เมื่อพิจารณาจะพบว่า ผู้เสียชีวิต 70-80% ไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้น การรับวัคซีนจะลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต จึงจำเป็นต้องเร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง

     นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า อัตราการใช้เตียงของประเทศ ขอให้ประชาชนมั่นใจ ขณะนี้มีเตียงทุกระดับรวมราว 1.7 แสนเตียง อัตราการครองเตียงปัจจุบันอยู่ที่ 13.7 % ว่างอีก 153,767 เตียง แยกเป็น เตียงระดับ 3 สีแดง ทั้งหมดราว 5,000 เตียง อัตราครองเตียงปัจจุบัน 31.6 % เตียงระดับ 2 สีเหลือง ทั้งหมดราว 60,000 เตียง อัตราครองเตียงปัจจุบัน 25.6 % และเตียงระดับ 1 สีเขียว ทั้งหมดราว 1.12 แสนเตียง อัตราครองเตียงปัจจุบัน 6.4% ซึ่งเตียงสีเขียวสามารถเพิ่มได้ในระยะอันสั้น 

    ส่วนการสำรองยา ณ วันที่ 25 ธ.ค.2564 มียาฟาวิพิราเวียร์สำรองประมาณกว่า 15 ล้านเม็ด อัตราใช้ปัจจุบันอยู่ที่ราว 1.8 แสนเม็ดต่อสัปดาห์ ซึ่งประมาณการใช้ได้อย่างน้อย 2 เดือน แต่หากมีสถานการณ์ที่ต้องการยา  องค์การเภสัชกรรม(อภ.)มีการสำรองวัตถุดิบและสามารถผลิตยาได้อีก 60 ล้านเม็ด นอกจากนี้ มียาเรมเดซิเวียร์สำรองไว้อีกกว่า 44,000 ไวอัล 

   ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูล ณ วันที่ 27 ธ.ค.64 ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากอาการโควิด-19 มักเป็นการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไอ เจ็บคอ ไอแห้ง บางรายพบอาการปอดอักเสบแต่ไม่มาก ซึ่งเกือบทุกประเทศรายงานตรงกันว่า โอมิครอนไม่รุนแรงกว่าเดลตาแน่ๆ หลายประเทศบอกว่าน้อยกว่าพอสมควร โดยในไทยยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนยาตัวอื่น เพราะบางยาเพิ่งผ่าน อย.สหรัฐอเมริกา จึงใช้ฟาวิพิราเวียร์เป็นหลัก หากให้ใน 3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติ ส่วนยาโมนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิดคาดว่าจะเข้ามาในประเทศราวเดือนก.พ.2565

      ข้อมูลเบื้องต้นของผู้ติดเชื้อโอมิครอน 100 รายแรกที่พบในประเทศไทย เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ 99 รายและติดเชื้อในประเทศ 1 ราย เพศชาย 54 ราย หญิง 45 ราย อายุน้อยที่สุด 8 ปี สูงสุด 77 ปี ค่ามัธยฐาน 34 ปี สัดส่วนผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ 48% มีอาการ 41% และอีก 11% กำลังรวบรวมข้อมูล
       ในจำนวน 100 รายแรกนี้ ไม่มีใครใส่ท่อช่วยหายใจและไม่มีเสียชีวิต แต่มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 7 รายทุกรายได้วัคซีนแล้วอย่างน้อย 2 โดส ในจำนวนนี้ 5 รายที่ออกซิเจนไม่แย่ลงคือ ปอดอักเสบน้อย ซึ่งไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ จึงอยากย้ำประชาชนที่รับวัคซีนเข็ม 2 เกิน 3 เดือนแล้ว การฉีดกระตุ้นจะมีผลการป้องกันโอมิครอนได้ดีขึ้น" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
     นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า  การเตรียมความพร้อมเตียงรองรับผู้ป่วย แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ  ระดับ 0 เป็นการรักษาที่บ้าน(Home Isolation :HI) หรือรักษาในชุมชน(Community Isolation:CI)ระดับ 1 ไม่ใช่ออกซิเจน ระดับ 2 เตียงระดับ 2.1 ใช้ออกซิเจนปริมาณน้อย 2.2ใช้ออกซิเจนปริมาณมาก และเตียงระดับ 3  ใส่ท่อและเครื่องช่วยหายใจ
        ทั้งนี้ ความพร้อมเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโอมิครอนทั่วประเทศ   ในส่วนของประมาณการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อที่มีความรุนแรง ราว 11,000 เตียง  เป็นเตียงระดับ 2.2 จำนวน 6,000 เตียง ระดับ 3 จำนวน 5,000 เตียง  คาดว่ารองรับผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่มีอาการรุนแรงได้ 785 คนต่อวัน หากมีผู้ติดเชื้อจำนวน 52,300 คนต่อวัน ไม่รวมผู้ที่รักษาในระบบHI/CI ขณะที่ฉากทัศน์ที่แย่สุดจะมีผู้ติดเชื้อประมาณ  30,000 รายต่อวัน 

      สำหรับพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ประมาณการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อที่มีความรุนแรง ราว 1,760 เตียง  เป็นเตียงระดับ 2.2 จำนวน 1,264 เตียง ระดับ 3 จำนวน 496 เตียง  คาดว่ารองรับผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่มีอาการรุนแรงได้ 125 คนต่อวัน หากมีผู้ติดเชื้อจำนวน 8,300 คนต่อวัน ขณะที่ก่อนหน้านี้ผู้ติดเชื้อใน กทม.และปริมณฑลเคยมากที่สุดที่ราว 5,000 รายเมื่อกลางเดือนส.ค.2564  
            “ ในส่วนของผู้ป่วยที่ดูแลด้วยระบบ HI คุณภาพ จะติดต่อกลับผู้ป่วยให้เร็วที่สุดภายใน 6 ชั่วโมง หลังทราบผลการติดเชื้อ เตรียมความพร้อมของอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทั้งอาหาร ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจน และยา ส่วนระบบดูแลในชุมชนหรือ CI ทุกจังหวัดมีการเตรียมพร้อมไว้แล้ว ส่วน กทม.มีการจัดตั้งในทุกเขต และมีการเตรียมการในการดูแลผู้ป่วยเด็กที่คาดว่าอาจจะมีมากขึ้น เพราะเด็กอายุ 5-11 ปียังไม่ได้รับวัคซีน โดยเตรียมยาฟาร์วิพิราเวียร์ชนิดน้ำ ให้ความรู้การดูแลผู้ป่วยเด็กกับเครือข่าย HI/CI  ประสานจัดเตรียมหน้ากากสำหรับเด็ก ระบบ CI สำหรับผู้ป่วยเด็กที่ต้องมีผู้ปกครอง

ดูแลอย่างน้อยโซนละ 1 แห่งและจัดระบบส่งต่อ รพ.เมื่อมีอาการรุนแรง และจัดเตรียมเตียงระดับ 3 สำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีอาการรุนแรง”นพ.สมศักดิ์ กล่าว 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์