สธ.จับ 3 สัญญาณโควิด-19หลังปีใหม่ ก่อนยกระดับเตือนภัย
สธ.จับ 3 สัญญาณหลังปีใหม่ ก่อนถกยกระดับเตือนภัยโควิดจากระดับ 3หรือไม่ ขอความร่วมมือเอกชนWFH คัดกรองพนักงานด้วยATKก่อนกลับเข้าทำงาน
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ให้สัมภาษณ์ประเด็นโควิด-19 และคำแนะนำช่วงเทศกาลปีใหม่ พร้อมตอบคำถามถึงข้อสังเกตว่าเป็นการระบาดระลอกโอมิครอน ว่า ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดโควิด-19 ในไทยแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่วนการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ยังอยู่ในหลักร้อยราย ถือเป็นสายพันธุ์หนึ่งของโควิด เพียงแต่เป็นสิ่งใหม่ ที่ทำให้เราตื่นเต้น แต่ทุกคนเห็นตรงกันว่า โอมิครอนระบาดง่ายจริง แต่ความรุนแรงน้อย รวมถึงคนไทยฉีดวัคซีนป้องกันโควิดไปเงมากแล้ว ทั่วโลกก็พบผู้เสียชีวิตจากโอมิครอนน้อยมากหากเทียบกับเดลตา และไทยอยู่ในช่วงขาลงมาเดือนกว่าแล้ว
“ หากดูตัวเลขตอนนีถือว่าเป็นช่วงขาอยู่ลฝ หากจะระบาด ก็จะพบผู้ติดเชื้อวันหนึ่งเป็นหมื่น จะเรียกว่าระบาด เป็นเรื่องปกติของโรคติดต่อ ส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าจะรุนแรงไปกว่านี้ หลังปีใหม่ ปลายเดือน ม.ค.2565 วัคซีนรุ่นใหม่ ยาใหม่ สถานการณ์ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ” นพ.โอภาส กล่าว
เมื่อถามว่าในช่วงปีใหม่นี้ คนมีการตรวจด้วย ATK มากขึ้น ตัวเลขก็อาจจะเพิ่มขึ้น จะสะท้อนนัยสำคัญอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ตามที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงฯ ได้นำเสนอฉากทัศน์การระบาดโควิดหลังปีใหม่ เนื่องจากมีคนร่วมกิจกรรม เช่น งานเลี้ยง งานบุญ งานศพ งานบวช แต่งงาน ที่มีกิจกรรมรับประทานอาหารร่วมกัน เปิดหน้ากากอนามัย ก็เป็นความเสี่ยง โดยเฉพาะที่อับอากาศ ฉะนั้น ตอนนี้อยู่ในช่วงที่สื่อสารเตือนว่า อะไรที่เป็นความเสี่ยง หากเลี่ยงได้ให้เลี่ยง แต่หากเลี่ยงไม่ได้ ก็ขอให้ระวังสูงสุด
ตัวอย่าง จ.กาฬสินธุ์ ที่เกิดขึ้นพบการติดเชื้อหลักร้อยราย ตัวอย่างที่ดีเช่น จ.สุรินทร์ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เห็นว่างานที่เกิดขึ้น คนมากเกิน ก็ระงับไป ซึ่งหากไม่ระงับก็คงเกิดเรื่อง ดังนั้น ตรงไหนที่มีความเสี่ยง ควบคุมไม่ได้ ก็ไม่ควรจัด แต่หากความเสี่ยงน้อย ควบคุมได้ ก็จัดได้
"การเฝ้าระวังหลังปีใหม่จะประเมินเป็นระยะ โดยพิจารณาจาก 1.ตัวเลขเพิ่มมากแค่ไหน 2.ผู้ติดเชื้อที่อาการหนักจนเข้า รพ.หรือไม่ 3.ถ้าอาการไม่หนัก ไม่เสียชีวิตเพิ่ม ก็จะคงระดับการประกาศเตือนภัยสาธารณสุขระดับ 3 ต่อไป แต่เมื่อไหร่มีสัญญาณระบาดมากขึ้น ติดเชื้อมากขึ้นจะประเมินอีกครั้ง นพ.โอภาส กล่าว
เมื่อถามถึงการประกาศเตือนภัยระดับ 3 ที่ระบุว่าขอให้ทำงานจากที่บ้าน(Work From Home) จะมีคำแนะนำหรือบังคับในภาคเอกชนหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็ไม่ได้เป็นการบังคับ ศบค.สั่งการเฉพาะสถานที่ราชการ โดยจะต้องเป็นการทำงานจากที่บ้านโดยไม่กระทบต่อประชาชน แต่เอกชนหลายแห่งก็ให้ความร่วมมือดีมาก หลายแห่งก็พิสูจน์แล้วว่า 1.ลดค่าใช้จ่าย 2.ทำงานได้เยอะขึ้น จึงมีนโยบายการทำงานจากบ้านแม้ไม่มีโควิดแล้ว ดังนั้น หากอะไรทำจากที่บ้านได้ ก็ขอความร่วมมือ แต่หากทำไม่ได้ ก็ดำเนินการต่อไปได้ แต่ต้องมีการตรวจหาเชื้อพนักงานด้วย ATK ตามความเสี่ยง และทำมาตรการ Covid-19 Free setting โดยเฉพาะหลังปีใหม่ ก็ขอให้ตรวจ ATK ก่อนกลับเข้าทำงาน ที่เห็นได้ชัดตัวอย่างร้านอาหารที่พบผู้ติดเชื้อ จะเห็นว่าพนักงานที่ไม่สวมหน้ากอนามัยติดเชื้อ ส่วนที่สวมก็ไม่ติดเชื้อ จึงเป็นตัวอย่างให้เห็น
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ในเทศกาลปีใหม่ ต้องสมดุลการใช้ชีวิตระวังโควิด แต่หากระวังมากเกินไปชีวิตก็ไม่ปกติ เศรษฐกิจก็ไม่เคลื่อนที่ ซึ่งตนมองว่า ความสมดุลนี่แหล่ะยากที่สุด เพราะ หากทำแบบหนึ่งอีกคนก็จะขัดข้อง จึงต้องดูให้เหมาะสมกับแต่ละคน แต่ตามที่ สธ.เตรียมไว้เพื่อความมั่นใจว่า เตียงมีเพียงพอ ยามีพอ และส่วนใหญ่ช่วงหลังที่รับวัคซีนกันมากแล้ว ป่วยก็อาการไม่รุนแรง โดยข้อมูลผู้เสียชีวิตในไทยตอนนี้พบว่าส่วนใหญ่รับวัคซีนไม่ครบ
“ขอให้ทุกคนเที่ยวปีใหม่ด้วยความปลอดภัย ระวังในการสวมหน้ากากอนามัย และขอให้ทุกคนมารับวัคซีนให้ครบอย่างน้อย 2 เข็ม ฉะนั้น ใครที่ลังเล ก็ขอให้มั่นใจว่าปลอดภัย เราฉีดกันไปกว่า 100 ล้านโดสแล้ว มีผู้เสียชีวิตจากวัคซีนจริงๆ น้อยมากไม่เกิน 5 คน ตามที่เป็นข่าวส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากวัคซีนโดยตรง ทั้งนี้ ปีใหม่แล้ว ขอให้ลูกหลานพามาฉีด ขอให้มั่นใจ อย่ากลัววัคซีน” นพ.โอภาส กล่าว